“มะเขือมื่น” ผักข้างรั้ว มีประโยชน์ แต่คนไม่สนใจ

“มะเขื่อมื่น” หรือว่ากระเจี๊ยบเขียว ผักมีประโยชน์ที่คนไม่ค่อยสนใจ อาจเพราะรูปร่างที่ไม่เหมือนใคร และรสชาติที่มีความลื่นอยู่ในปาก ในภาคเหนือก็นิยมนำกระเจี๊ยบเขียว มาประกอบอาหารด้วยเช่นกัน กระเจี๊ยบเขียวที่คนภาคเหนือนำไปประกอบอาหาร จะเป็นอาหารหน้าตาแบบไหน และประโยชน์ของกระเจี๊ยบเขียวมีอะไรบ้าง

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาเล่า เรื่องราวที่คนไม่สนใจของมะเขื่อมื่น ให้ฟัง

กระเจี๊ยบเขียว คืออะไร

กระเจี๊ยบเขียว หรือที่บ้านเราเรียกว่า “มะเขื่อมื่น” สันนิษฐานว่าเข้ามาในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2416 กระเจี๊ยบเขียวเป็นพืชล้มลุก เมื่อก่อนนิยมปลูกไว้ตามริมรั้วบ้าน เพื่อนำฝักมาทำอาหาร กระเจี๊ยบเขียวมีลักษณะรูปร่างทรงยาว หัวโต หางลีบ เมื่อเราหั่นกลางฝักในแนวนอน จะมีลักษณะเป็นรูปห้าเหลี่ยม ฝักมีสีเขียว และผิวมีขนละเอียด

ทำไมเราถึงเรียกว่า มะเขือมื่น

เหตุผลที่กระเจี๊ยบเขียว ชื่อว่า “มะเขื่อมื่น” เพราะเมื่อเรานำไปต้ม หรือแกง จะเกิดเมือกหรือเส้นใยที่ละลายน้ำได้ ทำให้รอบ ๆ กระเจี๊ยบเขียวลื่น และมีเมือกเกาะอยู่ ซึ่งในทางภาคเหรือเราเรียกคำว่าลื่น เป็นคำว่า “มื่น” นั่นเอง

กระเจี๊ยบเขียว กับกระเจี๊ยบแดงต่างกันอย่างไร

• กระเจี๊ยบแดง มีลักษณะค่อนข้างกลม มีกลีบเลี้ยงหนาสีแดง มักจะนำผลแห้งใช้มาต้มทำน้ำ


• กระเจี๊ยบเขียว มีลักษณะรี ยาว นิยมนำมาลวกกินกับน้ำพริก เมื่อเคี้ยวฝักกระเจี๊ยบเขียวแล้ว จะรู้สึกลื่น ๆ ในปาก นิยมทานฝักหนุ่ม

กระเจี๊ยบเขียว มีประโยชน์อะไรบ้าง

  1. มีคุณสมบัติช่วยการขับถ่ายได้เป็นอย่างดี เพราะมีเส้นใยที่ช่วยในการดูดซับสารพิษ จึงไม่มีสารพิษตกค้างในลำไส้
  2. สำหรับผู้ที่ป่วยโรคเบาหวาน และคอเลสเตอรอลสูง เส้นใยที่ละลายน้ำในกระเจี๊ยบเขียว จะช่วยลดการดูดซึมของคอเลสเตอรอล และน้ำตาลเข้าสู่ร่างกาย
  3. ใช้เป็นยารักษาโรคกระเพาะ และลำไส้อักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการท้องผูก และท้องเสียสลับกัน
  4. ช่วยรักษาอาการปวดท้อง จากแผลในกระเพาะอาหาร และแผลจากลำไส้เล็กส่วนต้น
  5. กระเจี๊ยบเขียว มีสารสกัดที่สามารถลดจำนวนพยาธิตัวจี๊ด ควรติดต่อกันประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ทางที่ดีควรไปพบแพทย์จะดีกว่า

กระเจี๊ยบเขียว กับคนเหนือ

ส่วนมากทางภาคเหนือ เราจะนิยมนำกระเจี๊ยบเขียว หรือมะเขือมื่นมาทำแกง ซึ่งมีชื่อเรียกตรงว่า “แก๋งมะเขือมื่น” วิธีการทำจะคล้ายการจอผักกาด คือใส่มะขามดิบ หรือใส่ยอดมะขาม เพื่อเพิ่มความเปรี้ยวลงไป บางที่จะใส่ปลาลงไปด้วย การหั่นจะหั่นตามแนวนอน ให้ฝักหนึ่งได้ประมาณ 3-4 ท่อน ซึ่งเมื่อมะเขื่อมื่นโดนน้ำ จะทำให้เกิดเมือก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ และอีกแกงคือแกงแค แกงที่รวบรวมพืชผักทั้งหลายมาไว้ในเมนูเดียว ไม่ว่าจะเป็นกระเจี๊ยบเขียว ชะอม ดอกแค ใบพลู หัวปลี เห็ดต่าง ๆ เป็นต้น

นอกจากนำมาแกงแล้ว มะเขือมื่นยังนิยมมาทำเป็นผักแกล้มกับน้ำพริก ไม่ว่าจะนำมานึ่ง ลวก หรือจะกินแบบดิบ ๆ ก็ได้ เช่นกินกับน้ำพริกปลาต้ม น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกตาแดง น้ำพริกปลาร้า เป็นต้น อีกวิธีหนึ่งที่ทำกันคือการมาย่าง หรือปิ้ง เพื่อเพิ่มความหอมให้แก่มะเขื่อมื่นมากขึ้น

กระเจี๊ยบเขียว หาซื้อที่ไหนได้บ้าง

  1. ตลาดเมืองใหม่ ขายถุงละ 20 บาท ขีดละ 5 บาท กิโลกรัมประมาณ 40 บาท สามารถจอดรถได้บริเวณข้างทางได้เลย
  2. ตลาดศิริวัฒนา หรือกาดธานินทร์ ขายมัดละ 5-10 บาท ภายในตลาดได้อำนวยความสะดวก ทั้งที่จอดรถ และห้องน้ำ โดยไม่เก็บค่าบริการ

สรุป
เห็นไหมคะ “มะเขื่อมื่น” มีประโยชน์มากกว่าที่เราคิดแต่เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ไม่กิน อาจเพราะยังไม่เป็นที่รู้จักมากพอ หาซื้อยาก รูปร่างแปลก หรือบางคนกังวลว่าจะมีรสชาติเหม็นเขียว เหมือนผักสีเขียวชนิดอื่น ๆ หากใครที่ไม่กล้ากินสด แนะนำให้นำไปย่าง ผัด หรือนำไปแกง เพราะมันทั้งกินง่าย อร่อยด้วย รับรองว่าหากลองกินแล้ว จะติดใจรสชาติของกระเจี๊ยบเขียวแน่นอน

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

อ้างอิงข้อมูลจาก
www.thaihealth.or.th
www.rakbankerd.com
www.winnews.tv

ขอบคุณภาพจาก
อาหารเหนือครัวยายนอม

บทความที่เกี่ยวข้อง

คิดว่าเป็นกรดไหลย้อน ที่ไหนได้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

แพ้อาหารทะเล โรคภูมิแพ้ที่ไม่หายขาด

น้ำเปล่า ดื่มน้อย เสี่ยงติดเชื้อในท่อปัสสาวะ

ควรรู้ เคี้ยวช้า ส่งผลดีต่อร่างกายมากกว่าที่คิด

ร่วมแสดงความคิดเห็น