บริจาคโลหิต ปันน้ำใจ สู่ผู้ป่วย

คุณรู้หรือไม่? ว่าในแต่ละวันศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ต้องจัดหาเลือดให้ได้วันละ 1,800-2,000 ยูนิต จึงจะเพียงพอในการจ่ายให้กับผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ นับว่าเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งหมู่เลือดที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยต้องการมากที่สุดคือ หมู่ o เพราะสามารถใช้กับผู้ป่วยได้ทุกหมู่เลือด

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาคุณไปรู้จักกับการบริจาคโลหิต ว่ามีวิธีการอย่างไรบ้าง และที่จังหวัดเชียงใหม่ของเรา สามารถไปบริจาคโลหิตได้ที่ไหนบ้าง จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลยค่ะ

ผู้ป่วยกรณีไหนบ้างที่ต้องการใช้เลือด?

ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้เลือด ได้แก่ ผู้ป่วยที่ร่างกายเสียโลหิตจากอุบัติเหตุ ผ่าตัด การคลอดบุตร ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร ผู้ที่ป่วยเป็นโรคที่จำเป็นต้องรักษาด้วยโลหิต หรือผู้ป่วยโรคเลือด อาทิ โรคเลือดจาง ธาลัสซีเมีย เกล็ดเลือดต่ำ ฮีโมฟีเลีย

การบริจาคโลหิต อันตรายต่อผู้บริจาคไหม?

การบริจาคโลหิต คือการสละเลือดส่วนเกินที่ร่างกายยังไม่จำเป็นต้องใช้เพื่อให้กับผู้ป่วย ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาค เพราะร่างกายของคนเราจะมีปริมาณโลหิตประมาณ 17-18 แก้วน้ำ ซึ่งร่างกายจะใช้เพียง 15-16 แก้วเท่านั้น ส่วนที่เหลือนั้นสามารถบริจาคให้ผู้อื่นได้ สามารถบริจาคเลือดได้ทุก 3 เดือน เพราะเมื่อบริจาคโลหิตออกไปไขกระดูกจะสร้างเม็ดเลือดขึ้นมาทดแทนให้มีปริมาณโลหิตในร่างกายเท่าเดิม หากไม่ได้บริจาค ร่างกายจะขับเม็ดเลือดที่สลายตัวเพราะหมดอายุ ออกมาทางปัสสาวะ และอุจจาระ

ปัจจุบันมีเลือดอยู่ในธนาคารเลือดเท่าไหร่?

ปัจจุบันเลือดที่มีอยู่ในคลังของธนาคารเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีดังนี้

1.เม็ดเลือดแดง

-หมู่ B และ O มีเพียงพอต่อการให้บริการผู้ป่วย

-หมู่ A และ AB ขาดแคลนอย่างหนัก เลือดไม่เพียงพอต่อการให้บริการผู้ป่วย
2.เกล็ดเลือด

-หมู่ A, B และ O มีเพียงพอต่อการให้บริการผู้ป่วย

-หมู่ AB ขาดแคลนอย่างหนัก เลือดไม่เพียงพอต่อการให้บริการผู้ป่วย
3.พลาสมา

-หมู่ O มีเพียงพอต่อการให้บริการผู้ป่วย

-หมู่ A, B และ AB เริ่มขาดแคลน สามารถให้บริการได้สำหรับการผ่าตัดเท่านั้น
ส่วนเลือดที่มีอยู่ในคลังของธนาคารเลือด สภากาชาดไทย มีดังนี้

1.หมู่ A เหลืออยู่ 1,780 ยูนิต ยังต้องการอีก 8,820 ยูนิต จึงจะเพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย

2.หมู่ B เหลืออยู่ 2,676 ยูนิต ยังต้องการอีก 13,224 ยูนิต จึงจะเพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย

3.หมู่ O เหลืออยู่ 3,307 ยูนิต ยังต้องการอีก 17,893 ยูนิต จึงจะเพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย

4.หมู่ AB เหลืออยู่ 638 ยูนิต ยังต้องการอีก 4,662 ยูนิต จึงจะเพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย

(ข้อมูลทั้งหมด ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562)

คุณสมบัติของผู้บริจาคโลหิต

1.อายุระหว่าง 18 ปี ถึง 70 ปีบริบูรณ์ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครอง

2.ต้องมีน้ำหนักตั้งแต่ 45 กิโลกรัม ขึ้นไป

3.สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงพร้อมที่จะบริจาคโลหิต

4.ไม่มีอาการท้องเสีย ท้องร่วง ใน 7 วันที่ผ่านมา ก่อนการมาบริจาคโลหิต

5.ต้องไม่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และไม่มีการคลอดบุตรหรือแท้งบุตรภายใน
6 เดือน ที่ผ่านมา

6.น้ำหนักต้องไม่ลด อย่างผิดปกติในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา โดยไม่ทราบสาเหตุ

7.ไม่เป็นโรคหอบหืด, ผิวหนังเรื้อรัง, วัณโรค หรือภูมิแพ้อื่น ๆ

8.ไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, หัวใจ, ตับ, ไต, มะเร็ง, ไทรอยด์, เลือดออกง่าย-หยุดยาก หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ

9.หากเคยได้รับการผ่าตัดใหญ่ต้องทิ้งช่วงเกิน 6 เดือน, ผ่าตัดเล็ก ต้องทิ้งช่วงเกิน 7 วัน

10.ท่านหรือคู่ครองของท่านต้องไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์

11.ต้องไม่มีประวัติยาเสพติด หรือเพิ่งพ้นโทษ ต้องเกิน 3 ปี

12.หากเจาะหู, สัก, ลบรอยสัก หรือฝังเข็มในการ ควรงดบริจาคอย่างน้อย 1 ปี

13.หากมีประวัติเจ็บป่วยและได้รับโลหิตของผู้อื่น ต้องเกิน 1 ปี

14.หากมีประวัติเป็นมาลาเรีย ถ้าเคยเป็นต้องหายมาแล้วเกิน 3 ปี หากเคยเข้าไปในพื้นที่ ที่มีเชื้อมาเลเรียชุกชุม ต้องทิ้งระยะอย่างน้อยเกิน 1 ปี จึงบริจาคโลหิตได้

15.หากเคยเจ็บป่วยต้องรับโลหิตของผู้อื่นที่ประเทศอังกฤษในระหว่างปีพ.ศ.2523- 2539 งดรับบริจาคโลหิตถาวร

16.หากเคยพำนักอยู่ในประเทศอังกฤษรวมระยะเวลา 3 เดือน ในระหว่างปี พ.ศ.2523-2539 หรือเคยพำนักในยุโรปรวมระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523-ปัจจุบัน งดรับบริจาคโลหิตถาวร

17.สตรีอยู่ระหว่างมีรอบเดือน งดรับบริจาคโลหิต

18.หากเคยได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรค หรือเคยรับเซรุ่มมาก่อน ควรแจ้งแพทย์ประจำหน่วยรับบริจาคโลหิต

19.ผู้บริจาคโลหิตเป็นครั้งแรก ถ้าอายุเกิน 55 ปี – 60 ปี และให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์

20.ผู้บริจาคโลหิตอายุมากกว่า 60 ปี – 70 ปี แบ่งเกณฑ์การคัดเลือกตามอายุ 2 ช่วง ดังนี้

ผู้บริจาคโลหิตที่มีอายุ 60-65 ปี

-ไม่รับบริจาคในหน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่

-ต้องเป็นผู้บริจาคโลหิตประจำมาโดยตลอดจนกระทั่งอายุ 60 ปี

-บริจาคโลหิตได้ไม่เกินปีละ 3 ครั้ง หรือทุก 4 เดือน

-ต้องมีการตรวจ Complete Blood Count (CBC),Serum Ferritin (SF) ปีละ 1 ครั้ง จากโรงพยาบาลผู้บริจาคโลหิตที่มีอายุ 65-70 ปี

-ไม่รับบริจาคในหน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่

-ต้องเป็นผู้บริจาคโลหิตต่อเนื่องสม่ำเสมอในช่วงอายุ มากกว่า 60 ปี จนถึง 65 ปี

-บริจาคโลหิตได้ไม่เกินปีละ 2 ครั้ง หรือทุก 6 เดือน

-ต้องได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพโดยแพทย์ประจำหน่วยรับบริจาคโลหิต

-ต้องมีการตรวจ Complete Blood Count (CBC),Serum Ferritin (SF) ปีละ 1 ครั้ง จากโรงพยาบาล

การเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต

1.นอนหลับพักผ่อนเพียงพอในเวลาปกติของตนเอง ในคืนก่อนวันที่มาบริจาคโลหิต

2.หากรับประทานยาแอสไพริน, ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาแก้ปวดอื่นๆ ต้องหยุดยามาแล้ว 3 วันก่อนมาบริจาคเลือด แต่ถ้าเป็นยาแก้อักเสบ หรือยาอื่นๆ ต้องหยุดยามาแล้ว 7 วันก่อนมาบริจาคโลหิต

3.หากถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูนหรือรักษารากฟัน ต้องทิ้งระยะอย่างน้อย 3 วัน กรณีผ่าฟันคุด ให้เว้นอย่างน้อย 7 วัน หรือจนกว่าแผลจะหายสนิทไม่มีอาการอักเสบ

4.ควรดื่มน้ำก่อนบริจาคโลหิต 30 นาที ประมาณ 3-4 แก้ว ซึ่งเท่ากับปริมาณเลือดที่เสียไปในการบริจาค จะทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น และช่วยลดภาวการณ์เป็นลมจากการบริจาคโลหิตได้

5.ก่อนบริจาคโลหิต ควรงดอาหารไขมันสูง เช่น ข้าวมันไก่ ข้าวข้าวหมู ของทอด ของหวาน หรือแกงกะทิต่างๆ

6.งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ก่อนมาบริจาคโลหิตอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

7.งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังบริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้ดี

การปฏิบัติตัวหลังจากบริจาคโลหิต

1.พักรับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่มที่เจ้าหน้าที่จัดไว้บริการ และนั่งพักอย่างน้อย 15 นาที ให้ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เป็นเวลา 1 วัน

2.ไม่ควรรีบร้อนกลับ ควรนั่งพักจนแน่ใจว่าเป็นปกติ หากมีอาการเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หรือรู้สึกผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที

3.ไม่ใช้กำลังแขนที่เจาะบริจาค เช่น ยกของหนัก เป็นเวลา 24 ชั่วโมง หลังการบริจาคโลหิต

4.รับประทานธาตุเหล็กที่ทางหน่วยรับบริจาคโลหิตมอบให้ วันละ 1 เม็ด จนหมด เพื่อชดเชยเหล็กที่เสียไปจากการบริจาคโลหิต และป้องกันการขาดธาตุเหล็ก เพื่อให้สามารถบริจาคโลหิตได้อย่างสม่ำเสมอ

จังหวัดเชียงใหม่ สามารถบริจาคโลหิตได้ที่ไหนบ้าง?

ที่อยู่ 196 ถ.ราชภาคินัย ต.ศรีภูมิ อ.เมือง เทศบาลนครเชียงใหม่ (ค้นหาใน Google Map พิมพ์ว่า ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 10 จังหวัดเชียงใหม่)

เวลาทำการ

  • วันจันทร์ /พุธ / ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น.
  • อังคาร / พฤหัสบดี เวลา 08.30 – 19.00 น.
  • วันเสาร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00 – 15.30น.
  • ปิดทุกวันอาทิตย์

โทร 053-418389 ต่อ 17 (นอกเวลาราชการต่อ 11)

ห้องรับบริจาคโลหิต งานธนาคารเลือด Blood Bank โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

ที่อยู่ ชั้น 1 ตึกศรีพัฒน์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ตำบล สุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ (ค้นหาใน Google Map พิมพ์ว่า ห้องรับบริจาคโลหิต งานธนาคารเลือด Blood Bank)

เวลาทำการ

ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ เวลา 08.30 – 16.00 น.

•โทร 053 93 5624

สรุป
ธนาคารเลือดไม่เพียงต่อการแค่เม็ดเลือดแดงเท่านั้น แต่ยังรับบริจาค พลาสมา เกล็ดเลือด และ Stem cell อีกด้วย ซึ่งหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้บริจาคก็แตกต่างกันไป ดังนั้นก่อนไปบริจาคโลหิต ควรศึกษาหาข้อมูลให้ดีก่อน และเตรียมร่างกายให้พร้อมต่อการบริจาค ทุกครั้งนะคะ

เรียบเรียงโดย: “เชียงใหม่นิวส์”
อ้างอิงข้อมูลจาก: med.cmu และ blood.redcross
ขอบคุณภาพจาก: MThai และ ShopBack

ร่วมแสดงความคิดเห็น