“บทเพลงพื้นเมืองล้านนา” ลีลาขับขาน จากบุญศรี รัตนัง สู่จรัญ มโนเพ็ชร ถึงวิฑูรย์ ใจพรหม

การแสดงพื้นเมืองของชาวล้านนานั้นมีอยู่มากมายหลายชนิด ทั้งการฟ้อนรำที่ต้องอาศัยความงดงามอ่อนช้อยของร่างกาย รวมถึงการเล่นดนตรีพื้นเมืองที่แฝงไว้ด้วยความนุ่มนวลไพเราะ

ดนตรีพื้นเมืองของชาวล้านนาที่ได้รับความนิยมในอดีตเมื่อราว 100 กว่าปี เห็นจะหนีไม่พ้นศิลปะการแสดงที่ต้องอาศัยไหวพริบปฎิภาณของผู้ร้อง พูดจาโต้ตอบกันในลักษณะคล้องจอง ผสมกับเสียงดนตรีประเภทสะล้อ ซอ ซึง นั่นก็คือ “ซอพื้นเมือง” ซึ่งถือได้ว่าเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในขณะนั้น

เริ่มแรกนั้น การซอพื้นเมืองมีมาตั้งแต่ยุคใดสมัยใด ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด แต่เท่าที่ได้สอบถามจากคนรุ่นเก่า ก็ปรากฏพบว่ามีการแสดงซอขึ้นในสมัยพญาอโศก ซึ่งมีหลักฐานอักษรธรรมโบราณได้กล่าวถึงการซอพื้นเมืองในงานเฉลิมฉลองพระวิหารในสมัยของพญาอโศก

จนกระทั่งในปัจจุบันมีช่างซอ หรือ นักซอพื้นเมืองเชียงใหม่เหลืออยู่ไม่กี่คน เนื่องจากการซอนั้นต้องใช้เวลาในการฝึกฝนยาวนานบวกกับพรสวรรค์และความตั้งใจจริง ช่างซอชื่อดังที่เหลืออยู่และเป็นที่รู้จักได้แก่ แม่จันทร์สม สายธารา ศิลปินแห่งชาติสาขาการแสดงพื้นบ้านล้านนา แม่บัวซอน บุญถนอม และบุญศรี รัตนัง หลายปีที่ผ่านมาเรามักได้ยินได้เห็นเรื่องราวการถ่ายทอดบทเพลงซอ ผ่านทางจอโทรทัศน์และหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ หลายคนที่เคยคุ้นชื่อของ บุญศรี รัตนัง ศิลปินเพลงซอที่เคยมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วภาคเหนือ

บุญศรี รัตนัง ศิลปินซอและศิลปินเพลงคำเมืองของเชียงใหม่เติบโตมาจากครอบครัวชาวนาที่มีความรักในเสียงเพลง เส้นทางในอาชีพศิลปินของบุญศรี รัตนัง ไม่ได้โรยด้วยกลีบดอกไม้เหมือนกับศิลปินเพลงคนอื่น ๆ ปี 2520 บุญศรี รัตนังได้ตั้งวงดนตรีคู่กับบัวตองเมืองพร้าว ออกตระเวนร้องเพลงตามที่ต่าง ๆ เป็นเวลาถึง 4 ปีจนชื่อเสียงเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ปี 2525 บุญศรี รัตนังได้มาอยู่กับวงดนตรีศรีสมเพชร ชุดใหญ่ ในเวลานั้นเองมีโอกาสบันทึกเทปมีอัลบั้มเป็นของตัวเองครั้งแรกในชุด “บ่าวเขิ้น” ซึ่งถือได้ว่าเป็นชุดที่สร้างชื่อเสียงให้กับบุญศรี รัตนัง เป็นอย่างมาก ผลงานเพลงตลกคำเมืองที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับบุญศรี ในเวลาต่อมาก็คือเพลง ลุงอ้ายขี้ไก่ ,คุณนายป่ามป้าม ,นักเลงไก่ชน ,ว.2 ว.8 เป็นต้น

โดยเพลงเหล่านี้มีแรงบันดาลใจมาจากการได้เห็น วิถีชีวิตของชาวบ้านนั่นเองนอกจากที่มีความสามารถในการซอและร้องเพลงแล้ว บุญศรี รัตนังยังเล่นเครื่องดนตรีได้เกือบทุกชนิด นักนิยมเพลงซอและเพลงคำเมืองพื้นบ้านของเชียงใหม่หลายคนคงจำเพลงคำเมืองอมตะที่ชื่อบ่าวเขิ้น, ลุงอดผ่องบ่ได้ และอีกหลายเพลงซึ่งเคยโด่งดังเมื่อ 40 ปีก่อนได้ สมัยที่ผมยังเป็นเด็กจำได้ว่าเคยร้องเพลงนี้อยู่เสมอ เพลง “บ่าวเขิ้น” ในยุคนั้นถือได้ว่าโด่งดังสุดขีดในทั่วภาคเหนือในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองที่เพลงพื้นเมืองเพื่อชีวิตกำลังได้รับความนิยม ศิลปินเพลงโฟล์คซองคำเมืองในยุคนั้นคงไม่มีใครทาบรัศมีจรัล มโนเพ็ชร บทเพลงที่นำมาร้องเรียกได้ว่า “โดน” ใจของวัยรุ่นสมัยนั้นก็ว่าได้ นับตั้งแต่เพลง อุ้ยคำ, สาวมอเตอร์ไซด์, ปี้สาวครับ, ของกิ๋นคนเมือง, น้อยใจยา กระทั่งถึงเพลง รางวัลแด่คนช่างฝัน, บ้านบนดอย, มิดะ ฯลฯ ซึ่งบทเพลงเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือการแต่งและร้องของจรัล มโนเพ็ชรในการสะท้อนภาพของวัฒนธรรมล้านนาออกมาเป็นท่วงทำนองเพลง นับเป็นหนึ่งในกระบวนการสืบทอดวัฒนธรรมล้านนาให้เป็นที่รู้จักและยอมรับของคนทั่วไป รวมทั้งผลงานในเชิงวัฒนธรรมอีกมากมายของจรัล มโนเพ็ชร จน “จรัล” ได้รับการยกย่องให้เป็น “ขุนพลวัฒนธรรมแห่งล้านนา” ซึ่งเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาผลงานรวมทั้งคุณงามความดีในการสืบทอดวัฒนธรรมล้านนา

แม้ว่าเวลาที่ล่วงเลยผ่านมาในระยะหลังจรัลจะหันไปเอาดีทางด้านการแสดงหนัง แสดงละคร ทว่าภาพของจรัลในสายตาของคนทั่วไป เขาก็ยังเป็นศิลปินลูกข้าวนึ่งคนเชียงใหม่ผู้อยู่ในหัวใจของนักฟังเพลงโฟล์คซองคำเมืองอยู่เสมอ เพลงพื้นเมืองล้านนาได้มีวัฒนาการเปลี่ยนไปตามยุคสมัย กระทั่งชื่อของ วิฑูรย์ ใจพรหม ศิลปินพื้นบ้านล้านนาที่นำเสนอบทเพลงประเภทตลกคำเมือง กลับได้รับความนิยมขึ้นมา เนื่องด้วยบทเพลงของวิฑูรย์ มีความโดดเด่นและสะท้อนภาพวิถีชีวิตของคนเมืองได้ใกล้ชิดและเห็นภาพมากที่สุด ผนวกกับลีลาขับขานบทเพลงที่แผงไว้ด้วยแง่คิดและชวนหัว จึงทำให้วิฑูรย์ ใจพรหม ได้ก้าวเข้ามาสู่แนวหน้าในเวทีเพลงคำเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างไรก็ตาม การอนุรักษ์บทเพลงพื้นเมืองล้านนาในปัจจุบันถูกกระแสของดนตรีสมัยใหม่และละครโทรทัศน์เข้ามาบดบังจนทำให้เพลงพื้นเมืองอันเป็นศิลปะทรงคุณค่าเก่าแก่ กำลังจะถูกลบเลือนไปจากความทรงจำของคนในปัจจุบัน คุณค่าและความสำคัญของบทเพลงพื้นเมืองล้านนาที่เคยมีมาในอดีต หากไม่ได้รับการอนุรักษ์รักษาและถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นใหม่แล้ว บางทีเพลงพื้นเมืองอาจจะหลงเหลืออยู่เพียงแค่ความทรงจำก็เป็นได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น