ตำนานพิศวงดงช้างเผือกที่ผาดอยง้ม

ดอยง้ม เป็นชื่อของภูเขาที่อยู่ในผืนป่าอันอุดมไพศาล อยู่ด้านทิศตะวันออกของอำเภอสันกำแพง ดอยง้มประกอบไปด้วยโขดเขาหน้าผาตระหง่านสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 820 ฟุต ป่าดังกล่าวมียอดเขาซับซ้อนสลับกันหลายลูก ในอดีตมีฝูงสัตว์ป่ามากมาย นับตั้งแต่

ช้าง เสือ เก้ง กวาง ฝูงลิง ฝูงเหยี่ยว ซึ่งคนพื้นเมืองเรียกว่า “หมู่ฮุ้ง” พากันมาสร้างรังบนยอดเขา ชาวบ้านพากันเรียกยอดเขานั้นว่า จิ้กฮุ้ง หมายถึงยอดรุ้งหรือเหยี่ยวนั่นเอง

ด้วยผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ บริเวณด้านล่างเชิงดอยจิ้งฮุ้ง เป็นเวิ้งเขาขนาดใหญ่ที่มีน้ำซึมซับตลอดปี มีอากาศค่อนข้างหนาวเย็นผู้คนเรียกบริเวณนี้ว่า “ปงนาน่าม” คำว่า ปง หมายถึงบริเวณน้ำชื้นแฉะ จึงเกิดเป็นตาน้ำมากมายส่งผลให้สายน้ำไหลมารวมกันเป็นต้นน้ำ ลำธารน้อยใหญ่ สถานที่แห่งนี้จึงเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ชาวบ้านจะประกอบพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ เกิดการวมกลุ่มหวงแหนรักษาต้นน้ำลำธารเพื่อให้มีสายน้ำหล่อเลี้ยงพืชในสวน ไร่นาอย่างต่อเนื่องถาวร

จากความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าเทือกเขาดอยง้ม ดอยโตน ดอยจิ้งฮุ้ง ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้นมาอยู่คู่กับโลก เกิดมีประวัติศาสตร์ตำนานเกี่ยวกับช้างเผือกที่น่าพิศวง ในตำนานพระนางจามเทวีกล่าวถึงการมาคล้องช้างเผือกคู่บารมีว่า

ราวปีพุทธศักราช 1211 ได้มีช้างเผือกสีกายหม่น งาสีเขียวได้หนีจากป่าดอยอ่างสลุง เชียวดาวลงมาหากินในป่าแม่มาลัย ของอำเภอแม่แตงในปัจจุบัน ชาวบ้านได้ไล่จับแต่ช้างได้หนีข้ามแม่น้ำปิงมาพักหากินในป่าเทือกเขาดอยง้ม ข่าวช้างป่าได้แพร่ไปถึงพระนางจามเทวี
ผู้ครองเมืองหริภุญชัยหรือเมืองลำพูน พระนางจึงได้พาข้าราชบริพารพร้อมด้วยพญาลิงเผือกชื่อ กากะวานร และบริวารจำนวนหนึ่งมาด้วย

เมื่อขบวนมาถึงหมู่บ้านริมน้ำแม่ออน จึงให้พักพลและตั้งพลับพลาคอยจับตาดูช้าง ต่อมาสถานที่แห่งนี้ได้ชื่อว่า “ป๋างแยงช้าง” ปัจจุบันคือหมู่บ้านแช่ช้าง อำเภอสันกำแพง เมื่อตั้งพลับพลาแล้วจึงให้นายคชบาล หรือควาญช้างติดตาม เฝ้าดูการออกหากินของช้าง จนพบและได้ให้พญาลิงเผือกพร้อมบริวารเข้าไปทำความคุ้นเคยกับช้างเผือก จึงทำให้ช้างเผือกเชื่องและลดความดุร้ายลง หมอควาญช้างจึงนำอาหารให้ช้างกินทำการตกปลอกแล้วให้พญาลิงเผือกนำช้างเข้ามาถวายตัวแด่พระนางจามเทวีนำช้างเข้าพระนครหริภุญชัย

ข่าวการได้ช้างเผือกเป็นที่ปิติยินดีแก่ชาวเมือง จึงมีการโห่ร้องต้อนรับ ต่อมาพระนางจามเทวีจึงได้ให้มีการฉลองสมโภชเป็นเวลาสามวันสามคืน เริ่มต้นในวันขึ้น 4 ค่ำเดือนยี่ ปีวอก พุทธศักราช 1211 ช้างเผือกดังกล่าวได้รับการขนานนามว่า “จ๊างปู้หม่นงาเขียว”

ต่อมาเมื่อสิ้นอายุขัยชาวเมืองหริภุญชัยจึงได้ทำการสร้างกู่เก็บซากช้างเผือกนี้ด้วยความสูงประมาณสามสิบเมตรจากพื้นธรณีมีชื่อว่า “เจดีย์กู่ช้าง” ไว้เป็นอนุสรณ์แห่งคุณความดีของช้าง

จากปีพุทธศักราช 1211 ช้างเผือกได้อาศัยป่าดอยง้มสร้างประวัติศาสตร์ให้แก่บ้านเมือง ตลอดเวลาล่วงเลยมาช้านานนับพันกว่าปี จนถึงปีพุทธศักราช 2508 ได้มีชาวบ้านแม่ผาแหนได้ซื้อช้างพังเชือกหนึ่งชื่อ “แม่คำป้อ” เดิมเป็นช้างของนายบุญชู จอมแจ้ง ชาวบ้านเมืองงาย อำเภอเชียงดาว จนมาถึงมือนายแก้ว ปัญญาคง ชาวบ้านแม่ผาแหนนำมาเลี้ยงชักลากไม้ในป่าบริเวณดอยง้ม ดอยโตน ดอยจิ้งฮุ้ง เลี้ยงอยู่ได้ไม่นาน ช้างแม่คำป้อตกลูกเป็นช้างเผือก เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2508 ตรงกับวันเสาร์แรม 13 ค่ำ เดือน 4 เหนือ ปีมะเส็ง เวลา 2 ยามตรง เจ้าอาวาสวัดป่าตึงจึงได้ตั้งชื่อลูกช้างว่า “พลายภูบาลรัตน์”

เมื่ออายุได้ประมาณ 1 ปีจึงได้ทำพิธีถวายช้างเผือกที่บริเวณเตาบ่มแม่ผาแหน อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และได้ประกอบพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ ณ พลับพลาคณะแพทยศาสตร์ ในโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ เมื่อเวลา 14.30 น. ของวันที่ 24 มกราคม 2509 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้นามว่า “พระเสวตรัตนกวีฯ” ให้อยู่ในสวนสัตว์เชียงใหม่ ต่อมาด้วยเหตุสถานที่คับแคบ ช้างมีสถานที่อยู่ผิดธรรมชาติ จึงได้ล้มสิ้นชีวิตไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง

ข้อน่าสังเกตการกำเนิดช้างเผือกทั้งสอง ล้วนมาจากถิ่นกำเนิดจากดอยเชียงดาว ซึ่งมีอ่างสลุง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ให้น้ำบริสุทธิ์เลี้ยงผู้คน สัตว์ป่ามีคุณลักษณะพิเศษล้ำค่า และช้างเผือกทั้งสองก็อาศัยอยู่กินในบริเวณดอยง้มด้วยเช่นกัน

นอกจากความพิศวงเกี่ยวกับช้างเผือกที่มาอยู่อาศัยแล้ว ดินแดนแห่งนี้ยังมีแท่งหินสูงชะลูดโดดเด่นมีโคนเสาแท่งหินขนาดผู้ใหญ่ห้าคนโอบ ยืนแท่งตระหง่านริมหน้าเงื้อมโขดผา ผู้คนพื้นเมืองเรียกว่า “เสาหินหลักช้าง” ธรรมชาติได้ปักเสาหินหลักนี้ใกล้ปากถ้ำมหาสมบัติ ซึ่งเป็นความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่มั่งคั่งด้วยไม้มีค่าในป่าทึบ ช้างเผือกและความมหัศจรรย์ของสมบัติที่มีอยู่ในถ้ำเชียงดาวจึงเป็นเรื่องลี้ลับที่ยังไม่มีคำตอบแน่ชัด

จากคำเล่าปากต่อปากของผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า ในถ้ำมีเครื่องแต่งกายของพระมหากษัตริย์ เช่น ขะโจ๋ม(ชฏา) เครื่องประดับ แพรพรรณ ตลอดจนเครื่องใช้เช่น ถ้วย โถ โอ ชาม มีมากมายในถ้ำ ต่อมาเมื่อมีการทำป่าไม้ ฝรั่งชาวต่างชาติได้เข้าไปพักทำไม้ในป่า ทำการล่าสัตว์

โดยเฉพาะยิงฝูงเหยี่ยวหรือหมู่ฮุ้งที่อาศัยอยู่บนยอดดอยจิ้งฮุ้งจนสูญพันธุ์ พร้อมกับผู้คนเข้าไปทำลายป่ากันมากขึ้น ทำให้เกิดอาเพศหินถล่มลงมาปิดปากถ้ำสนิทแน่นหนา เป็นอภินิหารป้องกันผู้คนเข้าไปค้นหาสมบัติ ปัจจุบันคงเหลือฝูงลิงราวสองสามร้อยตัว หากินตามบริเวณหน้าปากถ้ำและผืนป่าเท่านั้น

ประวัติศาสตร์ผืนป่าแดนไพรดอยง้ม ลักษณะภูเขาก้มหน้านับได้ว่าเป็นดินแดนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ด้วยบารมีแห่งช้างเผือก การสร้างประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ ตำนานถ้ำมหาสมบัติ เหล่านี้ยังคงเป็นปริศนาลี้ลับที่ยังไม่มีคำตอบ

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น