บนเส้นทางอนุรักษ์ของนักต่อสู้ “ชรวย ณ สุนทร” แห่ง “บ้านร้อยอันพันอย่าง”

แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ชีวิตของคนเรามีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ดวงชะตาชีวิตที่ถูกกำหนดให้เดินบนเส้นทางที่ใจปรารถนา แม้ว่าบางครั้งบางตอนของชีวิตอาจต้องพบเจอกับอุปสรรค์ปัญหามากมาย หากแต่มีความแน่วแน่ตั้งใจจริง อุปสรรค์ทั้งหลายก็ไม่อาจจะขวางกั้นได้

เฉกเช่นกับชีวิตของนักต่อสู้คนหนึ่งที่ผ่านโลกผ่านร้อนมายาวนาน เคยมีช่วงชีวิตที่เขาต้องอดมื้อกินมื้อ บางครั้งต้องหาของป่ามาขายเพื่อแลกเงินประทังชีวิต

คุณชรวย ณ สุนทร ผันตนเองจากครูดอยมาสู่นักอนุรักษ์อย่างเต็มตัว เมื่อค้นพบว่า ตนเองไม่เหมาะกับอาชีพครู ด้วยอุปนิสัยที่ตรงไปตรงมา สิ่งไหนที่ไม่ชอบมาพากลก็จะต่อสู้เพื่อรักษาความถูกต้องอย่างถึงที่สุด ด้วยเหตุนี้เองกระมั่งที่ทำให้เขาเข้ากับระบบราชการไทยที่ต้องใช้ลิ้นทำงานมากกว่ามันสมองไม่ได้ !

ย้อนหลังไปเมื่อ 40 ปีก่อนชื่อของครูชรวย ณ สุนทร เป็นที่รู้จักมักคุ้นในหมู่เด็กน้อยชาวเขาในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ครูชรวยเป็นเหมือนผู้จุดประกายการศึกษาให้กับเด็กน้อยเหล่านี้ เพราะโรงเรียนที่ครูชรวยขึ้นไปสอนนั้นอยู่ห่างไกลจากความเจริญ การเดินทางเข้าไปก็ยากลำบาก จึงทำให้ไม่ค่อยมีครูคนไหนขึ้นมาสอนเด็กนักเรียนที่โรงเรียนป่าซางงามแห่งนี้นอกจากครูชรวย หลังจากที่ต่อสู้กับปัญหาอยุติธรรมกับผู้บริหารของสถานศึกษาที่ตนเองสอนอยู่ จึงทำให้ครูชรวยตัดสินใจลาออกจากราชการ และตั้งปณิธานขึ้นในใจว่า ตลอดชั่วชีวิตนี้จะอุทิศตนทำงานเพื่อสังคม จะสร้างประโยชน์ให้กับผืนแผ่นดินถิ่นเกิดสักครั้งก่อนที่ตนเองจะสิ้นลมหายใจ นี่คือคำกล่าวที่ย้ำเตือนอยู่ในความคิดของอดีตผู้เป็นครูเรื่อยมา

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนในชีวิตของคุณชรวย ณ สุนทร อยู่ที่วันหนึ่งเมื่อเขาได้เก็บกะลามะพร้าวและนำมาแกะสลักเป็นตัวหนังสือว่า “บ้านเฮา” เพราะขณะนั้นยังเช่าบ้านอยู่และยังไม่มีบ้านเป็นของตนเอง เขานำกะลามะพร้าวใบนั้นมาแขวนไว้ที่หน้าบ้าน พอดีมีคนมาเห็นเข้าและบอกว่าขอยืมกะลาใบนี้จะนำไปประกวดสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้

จนกระทั่งผลงานของคุณชรวย ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากนั้นความคิดในสมองก็พลันคิดว่า จะมีวิธีใดที่จะสามารถนำของเหลือใช้มาแปรสภาพให้เป็นเงินได้ เขาจึงตัดสินใจหันเอาเศษไม้เศษธรรมชาติมาแต่ง เป็นรากไม้บ้าง เป็นเห็ดป่าบ้าง จนเริ่มมีรายได้เข้ามาพอที่จะเก็บเงินซื้อรถกระบะเก่าๆ เขาเริ่มหาของป่า เช่น รังนกกระจาบ กาบมะพร้าว บวบ ออกมาขาย จนบางครั้งถูกเพื่อนดูถูกเหยียดหยาม แต่ด้วยความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ จึงทำให้กิจการค้าขายเจริญขึ้น คุณชรวย เปลี่ยนจากงานเล็กๆ มาเป็นงานชิ้นใหญ่ด้วยการหาช่างแกะสลักไม้ตามหมู่บ้านต่างๆมาแกะสลักไม้ แล้วนำผลงานเหล่านั้นมาขายให้กับผู้สนใจ จนมีอยู่วันหนึ่งเกิดความคิดที่จะอนุรักษ์งานแกะสลักของช่างเหล่านี้เอาไว้ เพราะช่างแกะสลักแต่ละคนก็อายุมากแล้ว

ถ้าหากว่าหมดช่างแกะสลักรุ่นนี้แล้วผลงานต่างๆก็จะสูญหายตามไปด้วย ดังนั้นเขาจึงเริ่มเก็บงานฝีมือเหล่านี้ไว้บางส่วนที่เหลือก็นำออกจำหน่าย..

ครั้งหนึ่งที่ยังความปลึ้มปีติมายังครอบครัวของคุณชรวย ณ สุนทร เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จเยี่ยมชมผลงานต่างๆภายในบ้านร้อยอันพันอย่างเมื่อปี พ.ศ.2540 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ครอบครัว ณ สุนทร มีโอกาสได้เข้าเฝ้าและนับเป็นพระมหา
กรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น คุณชรวยเล่าย้อนถึงความทรงจำในวันนั้นว่า “สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงเสด็จมาที่นี่เป็นการส่วนพระองค์เป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมง และก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นรถพระที่นั่ง สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ ทรงมีพระกระแสรับสั่งว่า “สวยไปหมดทุกชิ้น นึกไม่ถึงว่าชาวบ้านจะทำได้สวยขนาดนี้ อาจารย์นี่ดีนะ ที่มีส่วนช่วยเหลือให้ชาวบ้านที่ไม่มีงานทำให้ได้งานทำ แล้วชาวบ้านก็ยังมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเอาไว้ นับว่าอาจารย์ได้ทำให้ช่างฝีมือยุคนี้ได้มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าให้กับประเทศ ขอให้อาจารย์รักษาผลงานเหล่านี้ไว้ ซึ่งเป็นผลงานที่หาดูได้ยากมาก”

ผลงานการแกะสลักไม้ของช่างฝีมือชาวล้านนาสมัยใหม่ที่จัดแสดงอยู่ที่บ้านร้อยอันพันอย่าง ไม่ใช่เพียงแค่ต้องการจะ “อวด” ในหมู่เพื่อนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น หากแต่ผลงานทุกชิ้นของที่นี่มีความหมายที่แฝงไว้ด้วยนัยยะแห่งพุทธศาสนาที่ต้องการสื่อให้ถึงแก่นพุทธธรรม
อย่างแท้จริง

วันนี้ของคุณชรวย ณ สุนทรจึงไม่ใช่เป็นแค่การอนุรักษ์ตามกระแสของสายลมพัดเท่านั้น ทว่าเหล่านี้ล้วนแล้วมาจาก “ใจ” ที่ยากแก่ผู้ไม่เข้าใจศิลปะบางคนจะรับรู้และมองเห็นได้

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น