จาก “วัดเกตุ” ถึง “ท่าแพ” อดีตย่านการค้าของเชียงใหม่

การค้าขายของคนเชียงใหม่สมัยก่อนที่จะมีทางรถไฟ พ่อค้านักเดินทางนิยมใช้เรือล่องไปมาตามลำน้ำแม่ปิง นอกเหนือจากท่าแพบริเวณหน้าโรงพักแม่ปิงที่เป็นจุดใหญ่ในการขนถ่ายสินค้าแล้ว บริเวณหน้าวัดเกตุก็เป็นจุดสำคัญของพ่อค้าที่มักจะมาแวะขึ้นท่ากันที่นี่

บริเวณริมฝั่งน้ำปิงด้านตะวันออก ถือได้ว่าเป็นแหล่งสำคัญของการค้า โดยเฉพาะมีพ่อค้าชาวจีนอาศัยอยู่ในแถบนี้เป็นจำนวนมาก วัดเกตุ หรือวัดเกตุการาม เป็นวัดเก่าที่มีพุทธศาสนิกชนชาวจีนเป็นผู้อุปถัมภ์กันมาหลายชั่วอายุคน เพราะเป็นจุดพำนักของชาวจีนที่ล่องเรือขึ้นมาค้าขายยังเชียงใหม่ ก่อนจะขยายตัวออกไปยังฝั่งตรงข้ามที่เรียกว่า “ตรอกเหล่าโจ้ว” หรือตรอกข่วงเมรุในปัจจุบัน

ระหว่างชุมชนสองฝั่งแม่น้ำปิงจะมีสะพานคอนกรีตเชื่อมระหว่างหลังวัดเกตุกับตลาดต้นลำไย เป็นสะพานคนเดินเล็ก ๆ ชื่อสะพานจันทร์สมอนุสรณ์ แต่ชาวเชียงใหม่นิยมเรียกว่า “ขัวแขก” เพราะคหบดีชาวปากีสถานชื่อโมตีราม หรือ มนตรี โกสลาภิรมย์ เจ้าของร้านของ
ผ้าเชียงใหม่สโตร์เป็นผู้สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับภรรยาชื่อ จันทร์สม บริเวณเดียวกันนี้เคยมีสะพานอยู่อีก 2 สะพาน สะพานแรกคือสะพานไม้สักขนาดใหญ่

ซึ่งถือกันว่าเป็นสะพานข้ามแม่น้ำปิงแห่งแรก สร้างโดย ดร.มาเรียน เอ็ม ซีก มิชชั่นนารีชาวอเมริกัน ชาวเชียงใหม่เรียกสะพานนี้ว่า ขัวกุลา คำว่า “กุลา” เป็นคำที่ชาวเชียงใหม่ใช้เรียกชาวอินเดีย ซึ่งหมายถึงแขกบังกะลา หรือบังกลาเทศ ต่อมาสะพานดังกล่าวถูกแพซุงชนเสียหายพังไป ชาวบ้านแถบวัดเกตุและตลาดต้นลำไยจึงต้องนั่งเรือถ่อที่มีบริการส่งข้ามฟากอยู่นานหลายปี จนเมื่อสะพานนวรัฐ สร้างขึ้นแล้ว ชาวบ้านแถบนี้ยังไม่ยอมเสียเวลาอ้อมไปขึ้นสะพานนวรัฐ จึงได้สร้างสะพานแบบคนเดิน ทำด้วยไม้ไผ่ขัดแตะอย่างง่าย ๆ ขึ้น เรียกกันว่า “ขัวแตะ” แต่พอฤดูน้ำหลากน้ำก็พังสะพานพังไป จนกระทั่งนายโมตีรามชาวปากีสถานมาสร้างสะพานขึ้นถาวรในปัจจุบัน

บริเวณวัดเกตุได้ชื่อว่าเป็นย่านที่อยู่ของชาวต่างชาติทั้งฝรั่ง จีน แขก ดังนั้นในบริเวณจึงมีสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ตั้งเรียงรายหลายแห่ง เช่น บ้านของตระกูลเลียวสวัสดิ์ อดีตพ่อค้าทางเรือขึ้นล่องระหว่างเชียงใหม่ – กรุงเทพฯขายเสื้อผ้า ด้าย ครั่งและพืชผลทางการเกษตร ตัวอาคารสร้างเป็นเรือนแถวแบบจีน ด้านหน้าตึกมีลายปูนปั้นเขียนอย่างศิลปะจีนสวยงาม ตึกเก่าหลังนี้เคยได้รับรางวัลจากโครงการอนุรักษ์บ้านโบราณ รุ่นที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2534

จากบริเวณหน้าวัดเกตุล่องลงใต้ไปจนถึงสะพานนวรัฐเลี้ยวขวาไปตามสะพานเข้าสู่ถนนท่าแพ ย่านการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ ย่านถนนท่าแพเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อมาจากสะพานนวรัฐ ย่านนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าและไทใหญ่ รองลงไปเป็นชาวจีนที่ขยายตัวมาจากย่านวัดเกตุ บริเวณถนนเจริญประเทศใกล้กับท่าแพยังเป็นชุมชนของชาวจีนฮ่อมุสลิมเชื้อสายยูนนาน

สมัยก่อนถนนสายท่าแพนี้มีชาวพม่าเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก บ้างมาค้าขายยาสมุนไพร อย่างร้านสล่ามอง บ้างก็มาขายเครื่องเทศ ของป่า รวมไปถึงเสื้อผ้าเครื่องใช้ บางพวกก็เข้ามาทำไม้ บุคคลสำคัญที่เป็นที่รู้จักกันดีของชาวเชียงใหม่ก็คือ หม่องปันโหย่ ต้นตระกูลอุปโยคิน ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เป็นหลวงโยนการพิจิตร

หม่องปันโหย่ เข้ามาทำป่าไม้ในเชียงใหม่จนมีฐานะมั่งคั่งขั้นมหาเศรษฐี ได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างวัดใหม่บำรุงวัดเก่าในเชียงใหม่นับไม่ถ้วน ชาวพม่าที่เข้ามาอาศัยในเชียงใหม่ต่างให้สมญานามว่า “จองอุปะก่า” หรือ “ตะก่า” ซึ่งเป็นภาษาพม่าหมายถึงผู้มีบุญบารมีสร้างวัดมาก

บริเวณถนนท่าแพนอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นถนนแห่งการค้าแล้วที่นี่ยังมีวัดวาอารามจำนวนมากตั้งเรียงรายอยู่ริมถนน เช่น วัดแสนฝาง วัดอุปคุต วัดมหาวัน วัดบุพพาราม วัดเชตวัน เป็นต้น วัดเหล่านี้เดิมไม่ได้เป็นวัดของชาวพม่า หากแต่เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่มาแต่โบราณ กษัตริย์เชียงใหม่หลายพระองค์เป็นผู้สร้างบำรุง ศิลปกรรมเดิมสร้างขึ้นแบบล้านนา แต่เมื่อชาวพม่าเข้ามาอยู่ในย่านดังกล่าวแล้วก็ได้ปรับเปลี่ยนซ่อมแซม นำศิลปกรรมพม่าเข้ามาผสม เจดีย์ด้านหลังวิหารซึ่งเป็นประธานของวัดก็กลายเป็นเจดีย์แบบพม่าที่ได้รับอิทธิพลศิลปะแบบมอญ

ความเจริญรุ่งเรืองของเมืองเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้นในช่วงระยะเวลา 10 กว่าที่ผ่านมา ความสำคัญของการค้าย่านท่าแพในอดีตก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันมีย่านการค้าของเชียงใหม่เกิดขึ้นมากมายกระจายออกไปหลายที่ เริ่มตั้งแต่บนถนนลอยเคราะห์ย่านไนท์บาร์ซ่า บริเวณริมถนนรอบคูเมือง รวมถึงย่านศูนย์การค้าของเมืองเชียงใหม่ อาทิ กาดสวนแก้ว แอร์พอร์ทพลาซ่าและคาร์ฟูร์ก็ได้กลายเป็นแหล่งชอปปิ้งที่ขึ้นชื่อของเชียงใหม่

ความงดงามของอดีตเมืองเชียงใหม่ที่เคยเป็นแหล่งชุมนุมของศิลปวัฒนธรรมหลากหลายกลุ่มชน โดยเฉพาะตั้งแต่บริเวณหน้าวัดเกตุเรื่อยไปจนถึงย่านการค้าท่าแพ ยังคงปรากฏเงาอดีตอันรุ่งเรืองของเชียงใหม่ แม้ว่าปัจจุบันความเจริญของบ้านเมืองได้เข้ามามีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในเชียงใหม่เป็นอย่างมาก แต่ภาพของย่านการค้าตั้งแต่บริเวณวัดเกตุจนถึงถนนท่าแพก็ยังเป็นเงาอดีตของเชียงใหม่ที่ยากจะลืมเลือน

บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น