สดร. ​เผยภาพ “ดาวเคราะห์ชุมนุม” รุ่งเช้า 19 ก.พ. 62

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยภาพ “ดาวเคราะห์ชุมนุม” รุ่งเช้าวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ดาวศุกร์สว่างเคียงดาวเสาร์ ห่างเพียง 1.3 องศา มีดาวพฤหัสบดี และดาวแอนทาเรส ซึ่งเป็นดาวฤกษ์สว่างในกลุ่มดาวแมงป่อง ปรากฏเหนือขึ้นไปอีกด้วย

ดาวเคราะห์ชุมนุม หมายถึง ดาวเคราะห์ตั้งแต่ 2 ดวงขึ้นไปปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้าที่ระยะห่างเชิงมุม 1-5 องศา หากมองด้วยตาจะเห็นดาวทั้งสอง ห่างกันประมาณหนึ่งนิ้วก้อย (การวัดระยะเชิงมุมบนท้องฟ้า ชูนิ้วก้อยเหยียดแขนให้สุดขึ้นบนท้องฟ้า ระยะ 1 องศา จะห่างกันประมาณ 1 นิ้วก้อย)

สำหรับผู้สนใจสามารถชมดาวเคราะห์ชุมนุม ได้อีกรุ่งเช้า 20 กุมภาพันธ์ 2562 ตั้งแต่เวลา 04.30 น. เป็นต้นไป ดูได้ด้วยตาเปล่าเห็นชัดเจนทั่วประเทศ

นอกจากนี้ คืนวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 มีปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” สดร. จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ เชิญชวนประชาชนร่วมส่องจันทร์ดวงโตชัดเต็มตาด้วยกล้องโทรทรรศน์หลายรูปแบบ และร่วมบันทึกภาพหลุมอุกกาบาต และภูเขาบนดวงจันทร์ผ่านโทรศัพท์มือถือ พบกันได้ที่ 4 จุดสังเกตการณ์หลัก เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา และโรงเรียนเครือข่ายในโครงการกระจายโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์ฯ อีกกว่า 360 แห่งทั่วประเทศ ตรวจสอบรายชื่อได้ที่ www.NARIT.or.th

อธิบายภาพ :
02 – ภาพดาวศุกร์และดาวเสาร์ ถ่ายผ่านช่องมองภาพกล้องโทรทรรศน์
ณ หอดูดาว อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ มองเห็นวงแหวนของดาวเสาร์ได้ชัดเจน

ร่วมแสดงความคิดเห็น