สร้างเครือข่ายผู้นำการออกกำลังกาย ด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 โรงพยาบาลนครพิงค์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)จัดโครงการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ นำโดย รศ.เจริญ กระบวนรัตน์ หัวหน้าคณะวิทยากร เพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำการออกกำลังกาย ด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อเป็นการเผยแพร่ในวงกว้างต่อไป

การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Stretching) เป็นสิ่งสําคัญมากในการที่จะทําให้สามารถเล่นกีฬาหรือออกกําลังกาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่ดีจะช่วยเอ็นข้อต่อและเส้นใยกล้ามเนื้อ ที่ได้รับการยืดเหยียดมีความยาว และมุมกว้างกว่าปกติ ทําให้สามารถช่วยป้องกันการฉีกขาดของเส้นใยกล้ามเนื้อ ซึ่งจะช่วยลดทอนการบาดเจ็บลง โดยปกติแล้วเราจะทําการยืดเหยียดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ในช่วงการอบอุ่นร่างกาย(Warm up) และของการผ่อนคลาย(Cool down) ดังนั้นในการเล่นกีฬาหรือออกกําลังกายทุกครั้ง เราจึงควรทําการยืดเหยียดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การเล่นกีฬาหรือออกกําลังกาย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีนโยบายในการสนับสนุนการออกกำลังกายอย่างง่ายๆ เพื่อให้ประชาชนผู้สนใจ ได้นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการออกกำลังกายได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะบุคคลในวัยทำงาน ที่มักมีปัญหาอาการปวดคอ หลัง ไหล่ อันเนื่องมาจากการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน ที่เรียกว่า “ออฟฟิศ ซินโดรม” รวมถึงสังคมไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เมื่อผู้สูงอายุมีมากขึ้น หมายถึงสังคมต้องเตรียมการดูแลมากขึ้น

เพราะผู้สูงอายุเป็นวัยถดถอย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ความแข็งแรงลดลง ความยืดหยุ่น กล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อต่างๆ เริ่มเสื่อม ความสามารถในการเคลื่อนไหวลดลง การทรงตัวไม่ดี ผู้สูงอายุจึงควรได้มีกิจกรรมออกกำลังกายที่เหมาะสม และช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุได้ อย่างไรก็ตาม โครงการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ยังคาดหวังให้เกิดผลในระยะยาวและเป็นการต่อยอด เกิดการกระตุ้นให้มีความคิดริเริ่มใหม่ๆ เพื่อพัฒนานวัตกรรมการออกกำลังกาย ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน ภายใต้บริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นต่อไป

ดังนั้นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสุขภาพประชาชน ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นวิธีการหนึ่ง ในการช่วยให้ผู้นำมีส่วนเกี่ยว ข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ โดยการเผยแพร่ไปสู่ประชาชนทั่วไป ตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละองค์กรได้ ซึ่งประชาชนทั่วไป สามารถเลือกกิจกรรมยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ไปใช้ในการส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีด้วย

นอกจากนั้น การสร้างสมรรถภาพให้เป็นผู้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ จะทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยความสุข ทำสิ่งใดก็มีโอกาสประสบความสำเร็จ พัฒนางานอาชีพของตนได้อย่างก้าวหน้า และเต็มกำลังความสามารถ ทั้งนี้เนื่องจากมนุษย์เรามีขีดความสามารถไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับการพัฒนาศักยภาพในแต่ละด้าน บุคคลที่มีสุขภาพดีก็มักจะมองโลกในแง่ดี สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสังคมได้ดี สามารถนำพาให้สังคมและโลกก้าวหน้าได้ต่อไป

จะเห็นได้ว่าวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย กับการใช้เวลาในกิจกรรมทางกาย หรือการออกกำลังกายที่ลดน้อยลง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วนในวัยเด็ก โรคออฟฟิศซินโดรมในกลุ่มวัยทำงาน หรือโรคปวดเมื่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบความรู้เกี่ยวกับสุขภาพของคนไทย กับค่าเฉลี่ยทั่วโลกพบกว่า คนไทยมีค่าเฉลี่ยด้านความรู้เกี่ยวกับสุขภาพอยู่ที่ 37% ส่วนค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 51% ซึ่งถือว่าน้อยมาก

จากข้อมูลข้างต้น จึงเล็งเห็นโอกาสในการจัดทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพ ที่มุ่งเน้นการเพิ่มกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน ควบคู่กับการให้ความรู้ด้านสุขภาพทางกาย ในรูปแบบที่ให้ความรู้ความเข้าใจควบคู่กับการฝึกปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการยืดเหยียดกล้ามเนื้อและสามารถนำไปเผยแพร่แก่บุคคลอื่นๆ ต่อไปได้ จึงเป็นที่มาของโครงการ “โครงการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย”
 
สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และการออกกำลังกายด้วยยางยืด และศึกษาผล ที่มีต่อการสร้างเสริมสมรรถภาพทางกาย ด้านความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความสัมพันธ์ของระบบประสาท และกล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่นของระบบข้อต่อ เพื่อออกแบบและประเมินผลแบบฝึก เพื่อแก้ปัญหาอาการผิดปกติของการทำงานของกล้ามเนื้อ และข้อต่อเฉพาะที่ และเป็นการพัฒนาระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เพื่อฝึกอบรมและสร้างเครือข่ายผู้นำการออกกำลังกายด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อเป็นการเผยแพร่ในวงกว้างต่อไป
 
การดำเนินงานจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายกลุ่มเป้าหมายหลัก กลุ่มคนในวัยเด็ก-วัยรุ่น อายุ 9-20 ปี กลุ่มคนวัยทำงาน อายุ 21-59 ปี กลุ่มคนผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 10 เดือน โดยแบ่งการจัดกิจกรรมไปในแต่ละภูมิภาค โดยเลือกกิจ กรรมตามกลุ่มเป้าหมายอย่างเหมาะสม ได้แก่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง / กรุงเทพฯและเขตปริมณฑล

ภาคเหนือ จัดที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2562 ณ.โรงแรมเมอร์เคียวเชียงใหม่ คาดหวังว่า จะเกิดหลักสูตรถ่ายทอดความรู้สู่ภาคประชาชนในการดูแลสุขภาพร่างกาย กล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ รองรับกลุ่มเป้าหมายทั้งในส่วนของประชาชนทั่วไป ที่ต้องการความรู้ คำปรึกษาในการดูแลสุขภาพ กล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ ทั้งกลุ่มวัยเด็ก วัยทำงาน และผู้สูงอายุ ตัวแทนองค์กร ที่ต้องการนำความรู้ วิธีการ ไปใช้ในการดูแลสุขภาพพนักงานในองค์กร บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ที่ต้องการเสริม/แลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพประชาชน เกิดช่องทางการติดต่อสื่อสาร การเรียนรู้ การให้คำปรึกษา ผ่านศูนย์ส่งเสริมการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อสุขภาพ เกิดช่องทางสนับสนุนองค์ความรู้ ตลอดจนวิธีการ เครื่องมือ สื่อความรู้ แก่ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งขับเคลื่อนโครงการเพื่อสุขภาพประชาชนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น