ผู้ว่าฯลำพูน สั่ง “ปิดป่า” เร่งรัดการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน

วันจันทร์ที่ 18 ก.พ.62 ภายหลังการประชุมเพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผวจ.ลำพูน ออกประกาศ จ.ลำพูน เรื่องห้ามเข้าพื้นที่ป่าฯ(ปิดป่า)

ด้วยสถานการณ์ไฟป่าและการเผาในที่โล่งแจ้ง ในพื้นที่ป่าไม้มีสถิติสูงขึ้น ประกอบกับสภาพ อากาศเข้าสู่ฤดูร้อน จึงอาจทําให้สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น และยังมีประชาชนบางกลุ่มเข้าไปหาของป่า ล่าสัตว์ เพื่อดํารงชีพหรือเพื่อการค้า และมีการจุดไฟเผาป่า หรือปล่อยให้ไฟลุกลาม เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตป่าไม้ ซึ่งถือเป็นความผิด มีโทษตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 หมวด 5 การแผ้วถางป่า มาตรา 54(30) พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 หมวด 2 การควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติ มาตรา 14 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 หมวด 3 การคุ้มครองและดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติ มาตรา 16 และ 18

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 15 21 และ 22 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย พ.ศ.2550 จึงออกประกาศห้ามเข้าพื้นที่ป่า เพื่อหาของป่าและล่าสัตว์ (ปิดป่า) โดยมีแนวทางดําเนินการ ให้ศูนย์อํานวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าระดับอําเภอ ดังนี้

1. ห้ามบุคคลใดๆ เข้าไปในพื้นที่ป่า จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากกํานัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือพนักงาน เจ้าหน้าที่ โดยให้ลงทะเบียน ณ ที่ทําการกํานัน ผู้ใหญ่บ้าน

2. จัดชุดปฏิบัติการร่วม ประกอบด้วย กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน อาสาสมัคร ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัครอื่น หรือราษฎรจิตอาสา จัดตั้งด่าน จุดสกัด ตรวจตราเส้นทางที่จะเข้าสู่พื้นที่ป่า ประชาสัมพันธ์ ห้ามเข้าพื้นที่ป่าเพื่อหาของป่าและล่าสัตว์ และก่อให้เกิดไฟป่า หากฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 2 ปี-20 ปี และปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาท ถึง 2 ล้านบาท

3. จัดชุดปฏิบัติการร่วมฯ ปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวน และดับไฟป่า และหากพบเห็นไฟไหม้ป่า บริเวณใด ให้ช่วยกันดับเสียแต่ต้น เพื่อไม่ให้ไฟป่าขยายออกเป็นวงกว้าง หากไฟป่ารุนแรงไม่สามารถดับได้ ให้รีบแจ้งหน่วยควบคุมไฟป่า ในท้องที่ จ.ลําพูน ที่อยู่ใกล้ที่สุด เพื่อสั่งเจ้าหน้าที่ระงับดับไฟป่าทันที ทั้งนี้ หากศูนย์อํานวยการฯ ระดับอําเภอ ไม่สามารถควบคุมได้ให้แจ้งศูนย์อํานวยการฯ จ.ลําพูน เพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองบัญชาการควบคุมสถาน การณ์หมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า ต่อไป

4. หากพบการบุกรุกเข้าไปแผ้วถางป่า หรือเผาป่า ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดําเนินคดีตามความผิดที่เกิดขึ้น

5. จัดทําแนวกันไฟ ตามแนวทางประชารัฐ โดยให้ อปท.เป็นเจ้าภาพ สนับสนุนให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม โดยพิจารณาดําเนินการในพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าทุกพื้นที่

6. นายก ทม.ลําพูน ,นายก ทต., นายก อบต. ,กํานัน-ผญบ., ผช.ผญบ., สารวัตรกํานัน สมาชิกสภา และ ส.อบต.ให้ถือเป็นหน้าที่ต้องสอดส่องดูแลให้ประชาชนในท้องที่ปฏิบัติตามประกาศ อย่างเข้มงวด

ร่วมแสดงความคิดเห็น