ทนายความเชียงรายมอบผ้าห่มและเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายแก่ผู้ต้องขัง เนื่องใน วันทนายความ

20 ก.พ.62 นายเกรียงศักดิ์ เกียรติเวชช์ ประธานสภาทนายความจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยทนายความ มอบผ้าห่มจำนวน 200 ผืนแก่ผู้ต้องขังหญิงเรือนจำกลางเชียงราย โดยมีนายสมคิด ปิรมิตร ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงรายเป็นผู้แทนรับมอบ พร้อมกันนี้สภาทนายความจังหวัดเชียงรายยังได้เป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายและตอบข้อซักถามให้แก่ผู้ต้องขังหญิง ในเรือนจำกลางจังหวัดเชียงราย เนื่องในวันทนายความ 20 ก.พ.62 ณ แดน 5 เรือนจำกลางจังหวัดเชียงราย ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย โดยในช่วงเช้าได้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับทนายความที่ล่วงลับไปแล้ว ที่ วัดดอยงำเมือง อ.เมือง จ.เชียงราย

สืบเนื่องมาจากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2508 ที่ได้มีการจำกัดสิทธิของทนายความ และเกิดผลกระทบต่อทนายความชั้นสอง รวมไปถึงประชาชนต่าง ๆ ที่มีความต้องการความรู้ความสามารถของทนายความชั้นสอง จึงทำให้เกิดประกายแห่งแนวความคิดในการก่อตั้งสถาบันของทนายความเพื่อทำหน้าที่ในการควบคุมการประกอบวิชาชีพของทนายความเอง เช่นเดียวกันกับนานาประเทศ

ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2517 นายมารุต บุนนาค นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในขณะนั้น จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติทนายความเพื่อก่อตั้ง “สภาทนายความ” เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทนายความการเคลื่อนไหวและต่อสู้ที่เป็นระยะเวลายาวนานต่อเนื่องกัน เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 15 ปี จึงได้ประสบความสำเร็จ โดยวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 ที่ประชุมวุฒิสภาในการประชุมครั้งที่ 11/2528 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติทนายความ และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2528 โดยประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษเล่มที่ 102 ตอน 129 วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2528 พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2528 เป็นต้นมาจนปัจจุบัน

และได้กำหนดวันที่ 20 กุมภาพันธ์ของทุกปี ถือเป็น ” วันทนายความ “ อันเป็นวันสำคัญของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น