“ผีเสื้อบ้าน” วิญญาณผู้ปกปักษ์หมู่บ้านชาวล้านนา

การขยายแพร่กระจายเป็นหมู่บ้าน ผู้คนต่างพากันอพยพไปตั้งถิ่นฐานบริเวณแห่งใหม่ และจะใช้ต้นไม้เป็นจุดสังเกตุหรือเป็นสัญลักษณ์ประจำหมู่บ้าน อย่างเช่น หากตั้งถิ่นฐานใกล้ต้นไม้สักก็จะเรียกกันว่า หมู่บ้านต้นสัก, หมู่บ้านต้นเปา หรือหากไปอยู่ใกล้แม่น้ำ ก็จะใช้ชื่อแม่น้ำเป็นชื่อหมู่บ้าน เช่น บ้านแม่ขาน แสดงว่าบ้านตั้งอยู่ใกล้ลำน้ำแม่ขาน เป็นต้น

ซึ่งในวันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับ “ผีเสื้อบ้าน” ที่คนโบราณเชื่อกันว่าได้ปกป้องคุ้มครองชาวบ้านชาวเมืองให้อยู่เป็นสุขจนถึงทุกวันนี้

ศาลหอผีเสื้อบ้าน

แรกเริ่มการตั้งหมู่บ้าน ผู้คนจะพากันมาตั้งบ้านเรือนใหม่ ก็จะทำการตั้งศาลประจำหมู่บ้านในด้านทิศเหนือของหมู่บ้าน และสถานที่ไกลออกไปอีกจะกำหนดให้เป็นป่าช้า สถานที่เผาศพ หรือฌาปนกิจศพของผู้คนในหมู่บ้านที่ล่วงลับ ศาลนี้เองจะเรียกกันว่า “ศาลหอผีเสื้อบ้าน”

ผู้คนล้านนามีความเชื่อกันว่า สถานที่ทุกแห่งย่อมมีผี หรือวิญญาณรักษาเมื่อพากันมาตั้งหมู่บ้านใหม่ต้องตั้งหอผีเพื่อให้เสื้อบ้าน หรือผีรักษาหมู่บ้านมาอยู่อาศัยตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งหมู่บ้าน

ผู้รู้บางท่านอธิบายว่า “เสื้อ” มาจากคำว่า “เซื้อ” แปลว่าบรรพบุรุษ หมายถึงดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่มีความดีหรือมีบุญคุณกับชาวบ้าน อาจจะเป็นผู้นำในการตั้งหมู่บ้าน หรือคนที่มีความดีเป็นที่เคารพนับถือของหมู่บ้าน หรือดวงวิญญาณดวงใดดวงหนึ่งที่สถิตอยู่บริเวณนั้นก่อนสร้างหมู่บ้าน ฯลฯ บางทีก็เรียกว่า อารักษ์

ซึ่งเสื้อบ้านนี้ มีหน้าที่และบทบาทสำคัญคือ เป็นผู้ปกปักรักษา คุ้มครองสมาชิกในหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านจะมีหอเสื้อบ้าน ชาวล้านนาเชื่อว่า มีเทวดาอารักษ์รักษาชาวบ้านในหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข

ศาลหอผีเสื้อบ้านที่มีลักษณะคล้ายศาลพระภูมิ

เมื่อถึงคราวขึ้นปีใหม่ หรือวันปากปี๋คือวันถัดจากวันมหาสงกรานต์ ชาวบ้านต่างพากันจัดแจงแต่งดาเครื่องสังเวยผีเสื้อบ้าน และในวันนี้เองบรรดาชาวบ้านที่ไปอยู่ต่างแดนไกลจะพากันมาร่วมกันทำขนม ทำอาหาร ทำสะตวงใส่เครื่องสังเวย หลังจากนั้นจึงนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีส่งเคราะห์ประจำปีและเลี้ยงอาหารให้แก่ผีเสื้อบ้าน เป็นการรวมกลุ่มชาวบ้านทุกคนได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์พัฒนาหมู่บ้านให้เจริญต่อไป

คำว่า “เสื้อ” ในที่นี้จึงจึงมีความหมายว่าเป็นสิ่งที่ปกคลุมหุ้มห่อ ให้ความอบอุ่นเกิดกำลังใจแก่ผู้คนทั้งหลายในหมู่บ้าน แต่หากเมื่อหมู่บ้านเจริญขึ้นเป็นเมืองก็จะมีเสื้อเมืองรักษาดูแลผู้คนในเมืองเมื่อถึงเทศกาลเลี้ยงผีเสื้อเมืองผู้คนในเมืองต่างพากันมาร่วมพิธีเลี้ยงผีเสื้อเมืองทุกๆรอบปีแต่อาจมีชื่อเรียกขานแตกต่างกันไป เช่น พิธีบูชาเสาอินทขีล ของเมืองเชียงใหม่เป็นต้น

สรุป
“เสื้อบ้าน” หมายถึงสิ่งที่ปกป้องคุ้มครองให้ผู้คนอยู่เป็นสุข กว่าจะเป็นบ้านเมืองต้องมีการพัฒนาจากผู้คนพากันไปหาแหล่งถิ่นที่อยู่อาศัย ทว่าทุกวันนี้ความเชื่อในเรื่องถือผีไหว้เจ้า อาจเริ่มเลือนไปตามกระแสสังคม เพราะผู้คนเริ่มยึดวัตถุเป็นที่ตั้ง เมื่อไหว้วอนร้องขอต้องตอบแทนต้องได้ หากไม่ให้ก็เลิกที่จะเชื่อไป เพราะสังคมในยุคปัจจุบันนั้นเชื่อในวิถีแห่งความสุขที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้เท่านั้น สิ่งเหล่านี้จึงเริ่มที่จะจางหายไปเรื่อย ๆ ในที่สุด

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
อ้างอิงข้อมูลจาก : นิคม พรหมมาเทพย์, www.prapayneethai.com
ภาพจาก : www.sac.or.th, maechaem.rmutl.ac.th

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น