วัดเก่าร้อยปี “ศรีหลวงแจ้ซ้อน”

ผมเคยเดินทางมาเยือนอำเภอแจ้ห่มจังหวัดลำปางอยู่หลายครั้งหลายครา ส่วนใหญ่แล้วจะมุ่งเข้าสู่อุทยานแห่งแจ้ซ้อน ที่ปัจจุบันได้กลายเป็น “โลโก้” ของอำเภอแจ้ห่มไปเสียแล้ว ชาวบ้านบางคนเล่าให้ฟังอย่างน้อยอกน้อยใจว่า ครั้งหนึ่งเคยเดินทางไปกรุงเทพฯ แล้วเพื่อน มาถามว่าบ้านอยู่อำเภออะไร ชาวบ้านตอบกลับไปว่าอยู่อำเภอแจ้ห่ม เพื่อนทำหน้างงและถามกลับมาว่า แจ้ห่มอยู่ที่ไหน ? แต่เมื่ออธิบายว่า แจ้ห่มเป็นอำเภอหนึ่งที่มีน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน เพื่อนคนนั้นถึงกลับร้องอ้อ เพราะเคยเดินทางไปเที่ยวน้ำพุร้อนแจ้ซ้อนมาแล้ว

อำเภอแจ้ห่มเป็นอำเภอเล็ก ๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองลำปาง ที่นี่ยังมีวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ดำรงอยู่อย่างเรียบง่ายอิงแอบกับธรรมชาติ ที่หมู่บ้านศรีหลวงแจ้ซ้อน อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เป็นหมู่บ้านเก่าแก่มีศิลปวัตถุและโบราณสถานที่สำคัญมากมาย โดยเฉพาะการได้รับเป็นหนึ่งในหกหมู่บ้านที่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนได้ส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้าน “โลคอลสเตย์” (Local stay) ซึ่งก็นับเป็นครั้งแรกที่ผมเดินทางมาเยือนหมู่บ้านแห่งนี้

บ้านศรีหลวงแจ้ซ้อน มีบ้านพักในแบบโลคอลสเตย์ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่ชอบธรรมชาติและวิถีชีวิตของคนชนบท นอกจากนั้นไม่ไกลจากหมู่บ้านยังมีการพบต้นจิเดียม หรือต้นดิ๊กเดียม เหมือนกับที่อำเภอท่าวังผา เมื่อลองไปลูบสัมผัสตามลำต้นแล้วกิ่งไม้ก็จะสั่น แปลกประหลาดมหัศจรรย์ ซึ่งพบในป่าเป็นจำนวนมาก อาจจะเรียกได้ว่ามากที่สุดของประเทศไทยก็ว่าได้ นอกจากนั้นที่บ้านศรีหลวงฯยังมีวัดเก่าอายุหลายร้อยปี มียุ้งข้าวอายุร้อยกว่าปีสมัยพระยาปิงเจ้าเมืองแจ้ซ้อน

เมื่อได้ยินได้ฟังเช่นนี้ทำให้ผมเกิดความรู้สึกตื่นเต้นดีใจ โดยเฉพาะวัดศรีหลวงแจ้ซ้อนวัดเก่าอายุหลายร้อยปีที่ครั้งหนึ่งเคยลงพิมพ์ในนิตยสารกินรี เมื่อหลายปีก่อน ที่สำคัญจะได้พบกับสิ่งที่ชาวบ้านได้อนุรักษ์รักษาให้เป็นมรดกของชุมชน ยังคงปราศจากการรบกวนจากสิ่งต่าง ๆ ภายนอก อาการดีใจเช่นนี้ก็เกิดขึ้นเหมือนกับที่ธีรภาพ โลหิตกุลกล่าวไว้ว่า “ดีใจราวเด็กน้อยได้ขนมหวาน”

บ้านศรีหลวงแจ้ซ้อนเป็นชุมชนเล็ก ๆ ใกล้เนินเขาในเขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ชาวบ้านส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้นเมื่อเดินเข้าไปยังหลังหมู่บ้านจะเห็นท้องนาผืนกว้างสำหรับเพาะปลูกพืชพันธุ์ ซึ่งก่อนที่เข้าไปยังทุ่งนาจะต้องผ่านวัดศรีหลวงฯ ซึ่งเป็นวัดสำคัญเก่าแก่ ประมาณอายุได้หลายร้อยปี พระครูพิพัฒน์วรเดช เจ้าอาวาสวัดศรีหลวงกล่าวว่า ตามประวัติวัดไม่ปรากฏหลักฐานให้ทราบว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่จากคนบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ก็บอกว่าวัดนี้สร้างมาหลายร้อยปีแล้ว คนเฒ่าบางคนยังบอกให้ข้อมูลอีกว่าสร้างขึ้นมาเป็นพัน ๆ ปีแล้วก็มี แต่จากการศึกษาตำนานที่หนานยศตะนาได้บันทึกไว้ในใบลาน ซึ่งแปลโดยพระครูพิพัฒน์วรเดชทำให้เราทราบว่า วัดนี้ครูบาเจ้าวะจิระปัญญาร่วมกับแสนเมืองลือโลกและศรัทธาชาวบ้านได้เดินทางไปขออนุญาตจากเจ้าเมืองละกอนในการสร้างวิหาร

จากนั้นจึงได้ไปนิมนต์ครูบายาวิชัยวัดบ้านถ้ำให้มาเป็นช่าง ครูบายาวิชัยจึงบอกว่าให้ไปขอให้ครูบาเจ้าอสิงวิตั๊ก วัดพระยืน จังหวัดลำพูนช่วยเขียนแปลนให้ เมื่อได้แบบแปลนมาแล้วก็กลับมานิมนต์ให้ครูบายาวิชัยเป็นช่างก่อสร้าง โดยได้ลงมือก่อสร้างในวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 เหนือ สะขาดได้ 1219 ตัว ถ้าคิดเป็นปี พ.ศ. ตรงกับปี พ.ศ.2400 ในสมัยนั้นได้ตั้งชื่อวัดนี้ว่า “วัดป่าไผ่” มีเพียงวิหารและเจดีย์ทรงระฆังคว่ำย่อมุม 12 ศิลปกรรมล้านนาผสมพม่า ปัจจุบันวัดศรีหลวงแจ้ซ้อนได้รัลการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุกเมื่อปี พ.ศ.2509 กระทั่งกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ห้ามให้มีการบูรณะโดยไม่ได้รับอนุญาต

วิหารวัดศรีหลวงสร้างขึ้นแบบก่ออิฐถือปูนในอดีตเป็นเพียงศาลาโล่ง ๆ ปัจจุบันได้ก่อผนังอิฐและใส่ปล่องหน้าต่างขึ้น บริเวณบันไดทางขึ้นวิหารมีประติมากรรมปูนปั้นรูปสัตว์ในนิยาย ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประธานศิลปะเชียงแสนและธรรมาสไม้สักเก่าแก่อายุร้อยกว่าปี ด้านหลังวิหารประดิษฐานเจดีย์ทรงระฆังคว่ำหุ้มด้วยทองจังโกฐ สันนิษฐานว่าวัดนี้น่าจะอยู่ในยุคสมัยเดียวกับวัดหนองบัวอำเภอท่าวังผาและวัดภูมินทร์จังหวัดน่าน เพราะรูปทรงอาคารมีลักษณะคล้ายคลึงกัน

สำหรับนักท่องเที่ยวผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติและวิถีชีวิตของชาวบ้านแบบชนบท ลองแวะมาเที่ยวที่บ้านศรีหลวงแจ้ซ้อน อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง นอกจากจะสัมผัสความสวยงามของธรรมชาติป่าเขา ชาวบ้านแล้วศิลปกรรมอันทรงคุณค่าภายในวัดศรีหลวงแจ้ซ้อนก็นับเป็นสิ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนหมู่บ้านแห่งนี้ได้ดีไม่น้อย

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น