วัดเก่าบนถนนท่าแพ

ย่านท่าแพเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาตั้งแต่อดีต เดิมเมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว บริเวณสองฟากของถนนท่าแพนี้เป็นย่านร้านค้าและที่อยู่อาศัยของชาวพม่าและชาวต่องสู้ ในสมัยต่อมาย่านนี้ได้กลายเป็นย่านพ่อค้าชาวจีนตลอดสาย ปัจจุบันเป็นถนนสายสำคัญในด้านการท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ มีสถาปัตยกรรมเพื่อการพาณิชยกรรมที่สวยงามหลายหลัง เช่น ร้านทิพเสถียรพาณิชย์ ห้างกิติพันธ์พาณิชย์ (เดิม) บ้านท่าแพและร้านชาระมิงค์ ข้างคลองแม่ข่า เป็นกลุ่มอาคารเก่าแก่ประมาณ 60- 80 ปี เป็นอาคารไม้ฉลุลวดลายขนมปังขิง ร้านรัตนผล อาคารสถาปัตยกรรมแบบยุโรป มีลวดลายปูนปั้น รวมทั้งร้านค้าแบบไม้สองชั้นเก่าแก่สองข้างถนนท่าแพที่ยังเปิดทำการแก่นักท่องเที่ยว

นอกจากนั้นบริเวณถนนท่าแพยังมีวัดสำคัญของเมืองเชียงใหม่ที่สร้างขึ้นมาเมื่อหลายร้อยปีจำนวนหลายวัด ซึ่งวัดเหล่านี้มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจและมีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เริ่มตั้งแต่ พุทธสถาน เดิมเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของวัดอุปคุต (พม่า) ต่อมาได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิพุทธสถาน เชียงใหม่ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2501 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่หลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนาโดยวิธีปาฐกถา ธรรมเทศนา ธรรมสากัจฉา ปุจฉาวิสัชนาและอื่น ๆ ที่เหมาะสม เผยแพร่วิทยาการอื่น ๆ เป็นสถานที่ในการทำกิจกรรมทางพุทธศาสนาและกิจกรรมอื่น ๆ ของเมือง

วัดอุปคุต หลวงอนุสารสุนทร (ซุ่นฮี้) และแม่นายคำเที่ยง ชุติมา เป็นผู้สร้าง สถาปัตยกรรมประกอบด้วย วิหารแบบล้านนา ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ กุฏิสงฆ์ ศาลาเอนกประสงค์ หอไตรแบบยกพื้นขนาดย่อม มีการตกแต่งลวดลายประดับประดาอย่างสวยงาม ซุ้ม
ประตูโขงขนาดใหญ่ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ วัดนี้มีประเพณีการใส่บาตรพระอุปคุตทุกวันขึ้นสิบห้าค่ำที่ตรงกับวันพุธเรียกว่า “เป็งพุธ” เชื่อว่าหากได้ใส่บาตรกับพระอุปคุตจะได้บุญมาก

มัสยิดเฮดายาตูลอิสลาม (บ้านฮ้อ) ผู้นำชุมชนบ้านฮ้อ “ท่านเจิ๋งชงหลิ่ง” ได้เดินทางร่วมกับกลุ่มพ่อค้าที่มาจากมณฑลยูนนาน เพื่อทำการค้าขายบริเวณรัฐฉาน ประเทศพม่าและเข้าสู่ประเทศไทยทางเขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในบริเวณภาคเหนือของไทยและในที่สุดย้ายมาอยู่ในเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2458 ตั้งถิ่นฐานบริเวณย่านไนท์บาซาร์ในปัจจุบัน เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้มอบที่ดินแห่งหนึ่งทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงให้เป็นที่ตั้งบ้านเรือนของท่าน จึงกลายเป็นศูนย์กลางการรวมตัวของพ่อค้าชาวจีนยูนนานมุสลิม เป็นจุดพักของกองคาราวานสินค้าที่ใช้ม้าและล่อเป็นพาหนะ

ต่อมาท่านได้รับความไว้วางใจจากทางราชการไทยให้รับสัมปทานในการทำธุรกรรมทางไปรษณีย์ มีหน้าที่ส่งจดหมายโดยใช้ขบวนม้าและล่อเป็นพาหนะ เพื่อจัดส่งในพื้นที่ในส่วนต่าง ๆ ของภาคเหนือ ในปี พ.ศ. 2463 ทางราชการเริ่มมีนโยบายก่อสร้างทางรถไฟเส้นทางจากลำปางสู่เชียงใหม่ ท่านเป็นผู้นำขบวนม้าและล่อในการลำเลียงวัสดุอุปกรณ์การก่อ
สร้างต่าง ๆ จากเชียงใหม่ไปถ้ำขุนตาน และเมื่อการก่อสร้างทางรถไฟสู่เชียงใหม่ได้สำเร็จลง ท่านได้บริจาคที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของท่านและพ่อค้าชาวจีนยูนนานมุสลิมจำนวนพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ในการก่อสร้างสถานีรถไฟ และการก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่ ท่านจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “ขุนชวงเลียง” และพระราชทานนามสกุล “วงศ์ลือเกียรติ” ชาวยูนนานมุสลิมที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในเชียงใหม่ได้ใช้บริเวณ “บ้านลือเกียรติ” เป็นที่ประกอบศาสนกิจ มีการสร้างมัสยิดขึ้นใหม่

ในปี พ.ศ.2458 ได้ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อซื้อที่ดิน การก่อสร้างอาคารมัสยิดหลังแรกของชาวยูนนานมุสลิม ในปี พ.ศ.2509 สัตบุรุษของมัสยิดอิสลามบ้านฮ่อ ได้รื้อถอนอาคารมัสยิดเดิมที่ไม่สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของชาวมุสลิมที่มาประกอบศาสนกิจ ก่อสร้างอาคารมัสยิดอิสลามบ้านฮ้อเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น

วัดแสนฝาง ตำนานกล่าวว่าสร้างในสมัยพญาแสนภู กษัตริย์ราชวงศ์มังราย เดิมชื่อ วัดแสนฝัง คำว่าแสนฝัง สันนิษฐานว่าอาจมาจาก การที่พญาแสนภูทรงมีพระประสงค์จะฝากฝังขุมพระราชทรัพย์ของพระองค์ไว้ในพระพุทธศาสนาตามเยี่ยงพระเจ้าปู่และพระราชบิดา จึงดำริให้กำหนดสถานที่แห่งหนึ่งทางฝั่งทิศตะวันออกใกล้แม่น้ำข่าและแม่ระมิงค์พอประมาณ และโปรดให้สร้างวัดแห่งหนึ่งโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์บริจาคในพระพุทธศาสนา สถาปัตยกรรมประกอบด้วย หอไตรกลางน้ำหลังเก่า สร้าง พ.ศ.2412 ซุ้มประตู มงคลแสนมหาไชยสร้างเมื่อ พ.ศ.2418 เดิมเป็นไม้ ที่มุมกำแพงด้านตะวันออกมีหอคอยสูงเด่นทั้ง 2 มุมคือ มุมด้านเหนือและใต้สำหรับเป็นที่อยู่เวรยามของทหารในสมัยโบราณ วิหาร

จากหลักฐานปรากฏว่าเมื่อ พ.ศ.2420 พระเจ้าอินทวิชยานนท์และเจ้าทิพเกสรราชเทวี ได้โปรดให้รื้อพระตำหนักที่ประทับของพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์มาปรับปรุงดัดแปลงสร้างเป็นวิหารลายคำ วิหารนี้เป็นทรงล้านนาไทยหลังคาเตี้ยและลาดต่ำ ประดับด้วยลวดลายไม้แกะสลักและปูนปั้นปิดทองสำหรับเจดีย์ทรงพม่านั้นหลักฐานกล่าวว่า พระครูบาโสภาโณเถระ ได้บูรณะสร้างเสริมเจดีย์ทำเป็นแบบพม่า กุฏิเจ้าอาวาส สร้างสมัยพระครูบาโสภาเถิ้ม และรองอำมาตย์เอกหลวงโยนการพิจิตร สร้างปี พ.ศ.2431 พระอุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ.2453 ลักษณะรูปทรงเป็นสองชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูนชั้นบนเป็นโครงสร้างไม้ หอไตรหลังใหม่ อยู่ด้านทางทิศตะวันตกของพระเจดีย์ ท่านอธิการศรีหมื่น นุนทวโร เจ้าอาวาสขณะนั้นไว้ริเริ่มสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2488

วัดบุพพาราม เป็นวัดคู่เมืองเชียงใหม่ พระเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังราย โปรดการสร้างราวปี พ.ศ.2039 ในบริเวณที่เป็นราชอุทยานของพระเจ้าติโลกราช เมื่อนครเชียงใหม่ฟื้นฟูบ้านเมือง เจ้าหลวงเชียงใหม่และอาณาประชาราษฎร์ได้บูรณะวัดให้เจริญรุ่งเรืองสืบมาราวปี พ.ศ.2362 เจ้าหลวงธรรมลังกา โปรดให้สร้างวิหารหลังเล็ก เครื่องไม้ศิลปล้านนา ส่วนวิหารหลังใหญ่พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์โปรดให้สร้าง ใน พ.ศ.2539 มีการสร้างหอมณเฑียรธรรม เพื่อถวายเป็นราชกุศลในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ด้านหลังวิหารยังมีเจดีย์ทรงพม่าอีกหลังหนึ่งที่ควรค่าแก่การชมอย่างยิ่ง

วัดเชตวัน สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ.2446 สร้างขึ้นสมัยราชวงศ์มังราย มีนามเหมือนกับวัดเชตวันที่มีในประเทศอินเดีย สถาปัตยกรรมประกอบด้วย อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ วิหาร เจดีย์ 3 องค์ และพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะพม่า พระพุทธรูปเชียงแสนทอง
เหลืองประทับนั่งขัดสมาธิเพชร

วัดมหาวัน ตามความหมายของชื่อแปลว่า ป่าไม้ใหญ่ สถาปัตยกรรมประกอบด้วย เจดีย์แบบพม่า องค์ระฆังประดับลวดลายปูนปั้น ฐานสี่เหลี่ยมย่อมมุมประดับลวดลาย มีซุ้มประจำทิศทั้งสี่ทิศ วิหารทรงพื้นเมืองสร้างราว พ.ศ.2410 และได้ทำการบูรณะซ่อมแซมในปี พ.ศ. 2526 วิหารแบบพม่า อุโบสถทรงพื้นเมืองล้านนา หอไตรสองชั้นเครื่องบนไม้มีหลังคาซ้อนชั้นมีการแกะสลักและลวดลายฉลุสวยงาม

วัดอู่ทรายคำ สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ.2384 เดิมชื่อ วัดอุปคำ ซึ่งเป็นชื่อของมหาอุบาสิกาผู้มั่งคั่งและมีความเสื่อมใสในพระพุทธศาสนามากได้อพยพมาจากเชียงแสนในสมัยพญากาวิละเป็นผู้สร้างวัดนี้ สถาปัตยกรรมประกอบด้วย อุโบสถมีภาพเล่าเรื่องปูนปั้นติดฝาผนังด้านนอกเรื่องสังข์ทอง มีพระประธานปูนปั้นปางมารวิชัย กุฏิสงฆ์ วิหาร ศาลาเอนกประสงค์ ชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน หอไตรผสมศิลปะพื้นเมืองและเจดีย์พม่า

สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่ชื่นชอบการเที่ยววัด หากมีโอกาสลองแวะเข้าไปชมศิลปกรรมล้านนาผสมพม่าได้ที่วัดเก่าสำคัญ ๆ บนถนนท่าแพ เพื่อย้อนอดีตแห่งถนนสายการค้าของเมืองเชียงใหม่

บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น