“ม้างฮีต” คำเมืองล้านนาโบราณที่คุณอาจเคยได้ยิน

คนล้านนาใช้วิถีชีวิตครรลองการประพฤติปฏิบัติที่ดีงามตามประเพณี ฮีตกอง (จารีต) ตามที่บรรพบุรุษได้สรรค์สร้างไว้ หล่อหลอมฝังในสายเลือดกลายเป็นแบบเบ้าสืบทอดสืบต่อกันมา จนเป็นที่ยอมรับในสังคมของชาวล้านนาว่านี่คือมรดกทางสังคมที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้ให้

ซึ่งในวันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” ขอนำเสนอคำว่า “ม้างฮีต” คำล้านนาที่หลายคนอาจเคยได้ยิน มาขยายความให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น!

อย่างเช่นประเพณีสงกรานต์หรือปี๋ใหม่เมืองล้านนา แต่ก่อนจะถือเอาการเคลื่อนของดวงอาทิตย์เป็นเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่มีหลักการตามคติความเชื่อโดยถือเอาการเคลื่อนของพระอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษ ณ วันใด วันนั้นคือวันพญาวัน หรือวันเถลิงศกของคนภาคกลาง แปลกันง่าย ๆ คือ วันขึ้นปีใหม่แท้จริง ตามลำดับดังนี้ “วันสังขานต์ล่อง” “วันเนาว์” “วันพญาวัน”

“ฮีตกอง” หรือจารีตประเพณีที่ดีงามเหล่านี้ชาวล้านนานับถือ เป็นวิถีที่ทำให้สังคมสงบสุขสืบกันมาตราบนานเท่านาน แต่ปัจจุบัน เมื่อทางการได้รับการนับเวลาแบบ ฝรั่งเป็นวันที่สากลมาใช้ ทางการกลับได้นำเอาวันที่ มากำหนดเวลาเป็นประเพณีสงกรานต์ซึ่งไร้เงื่อนไข แปลกแยกจากประเพณีเหง้าเดิมอย่างสิ้นเชิง จึงเกิดคำถาม และทำให้การปฏิบัติไม่เป็นไปตามฮีตกองเดิม คือ “วันสังขานต์ล่อง” “วันเนาว์” และ “วันพญาวัน” จะเลื่อนไหลไปตามความจริงที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีอย่างแท้จริง

แต่ปัจจุบันทางการกลับประกาศใช้วันที่ 13 – 14 – 15 เมษายน ที่เดิมนั้นเคยเป็นวันสังขานต์ล่อง, วันเนาว์ และวันพญาวันตามลำดับ แต่ตอนนี้ถูกกำหนดให้เวลาทั้งสามวันดังกล่าวเป็นวันปีใหม่สงกรานต์คงที่หรือกระด้างมั่นคงอยู่อย่างนี้ตามวันที่กำหนดไว้แล้ว ซึ่งความจริงของเวลาสงกรานต์ตามปฏิทิน วันสังขานต์ล่องคือวันที่ 14 เมษายน วันเนาว์ คือ วันที่ 15 เมษายน วันพญาวัน หรือ วันเถลิงศก คือ วันที่ 16 เมษายน ซึ่งเป็นการกำหนดไว้ตามการเคลื่อนของดวงอาทิตย์ ดังแบบเบ้าดั้งเดิมที่มีการสืบทอดต่อ ๆ กันมาจากบรรพบุรุษ

แต่เมื่อมีการเปลี่ยนหรือเอาเวลาตามสากล จึงเกิดความสับสนว่าวันใดกันแน่เป็นวันสังขานต์ล่อง วันเนาว์ และวันพญาวัน จะถือตามแบบเบ้าดั้งเดิมหรือจะต้องปฏิบัติตามทางการกำหนด เพราะมีผลต่อการไปทำบุญที่วัดเพื่อทานตุง ทานเจดีย์ทราย สรงน้ำพระ เป็นต้น บ้างก็ถือเอาทางการประกาศคือเอาวันที่เป็นเกณฑ์ บ้างยังคงถือแบบเบ้าเดิมคือเอาวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอย่างแท้จริง ส่งผลให้เกิดความสับสน เกิดความไม่ตรงกันปันในทางปฏิบัติ

กล่าวโดยสรุปแล้วเหตุการณ์อย่างนี้ผู้เป็นปราชญ์ล้านนาถือว่าเป็น “ม้างฮีต” นั่นคือการเอาสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา หรือสิ่งที่แปลกใหม่ต่างวัฒนธรรมต่างเงื่อนไขมาขัดกับประเพณีดั้งเดิมของล้านนา ที่ทำให้ชาวบ้านสับสนในการใช้ชีวิตแบบขนบธรรมเนียมโบราณ ที่อาจจะส่งผลให้จารีตโบราณเกิดความเสียหายหรือถูกลืมไปตามกาลเวลานั่นเอง

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : นิคม พรหมมาเทพย์
ภาพจาก : oknation.nationtv.tv, rabbitfinance.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น