ประเพณีเลี้ยงพระเสื้อเมือง ของชาวไทลื้อแห่งอำเภอเชียงคำ

ชาวไทลื้อเป็นกลุ่มชนที่มีต้นกำเนิดอยู่ในเขตสิบสองปันนาซึ่งเป็นแว่นแคว้นหนึ่งที่อยู่ประเทศจีน ครั้งหนึ่งสิบสองปันนาเคยเป็นหัวเมืองที่รุ่งเรืองมาก่อนจะถูกกวาดต้อนผู้คนให้มาอยู่ในแถบดินแดนทางภาคเหนือของไทย

จากการสำรวจประชากรชาวไทลื้อที่มีอยู่ในเขตทางภาคเหนือพบว่า ชาวไทลื้อแห่งอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยามีจำนวนประชากรมากที่สุด จากประวัติศาสตร์ของการอพยพชาวไทลื้อมาจากสิบสองปันนาเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2331 ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีรับสั่งให้เจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน ไปตีเมืองเชียงตุงและกวาดต้อนชาวไตหรือไทใหญ่จากรัฐฉาน ประเทศพม่ากับชาวไทลื้อจากแคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีนให้ไปอยู่ที่เมืองเชียงม่วน ในการตั้งบ้านเรือนของชาวไทลื้อนั้นมีเจ้าพญาคำและพญาธนะเป็นผู้ปกครอง ชาวไทลื้ออาศัยอยู่ที่เมืองเชียงม่วนไม่นานนักก็ต้องอพยพไปอยู่ที่เมืองเชียงคำ เหตุเพราะว่าเมืองเชียงม่วนไม่เหมาะกับการทำเกษตร

ชาวไทลื้อได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เชียงคำและได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านมาง โดยเอาชื่อเมืองมางที่เคยอยู่ในอดีตมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน ต่อมาในปี พ.ศ.2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีรับสั่งให้เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่านไปตีเมืองสิบสองปันนาและเมืองเชียงรุ้งอีก ปรากฏว่าพอไปถึงเจ้าเมืองเชียงรุ้งยองสวามิภักดิ์และยังพบว่ามีชาวไทลื้อกลุ่มหนึ่งตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพวกจีนฮ่อ ซึ่งปกครองด้วยระบบทารุณโหดร้าย จึงได้ทรงช่วยเหลือชาวไทลื้อเหล่านั้นให้พ้นจากอิทธิพลนั้น และได้กวาดต้อนให้เข้ามาอยู่ที่บ้านเหงา อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ต่อมาในปี พ.ศ.2416 พรเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ทรงวิตกและเกรงว่าชาวไทลื้อเหล่านี้อาจจะอพยพกลับไปอยู่ที่เมืองเดิม พระองค์จึงได้อพยพชาวไทลื้อให้มาอยู่ที่เมืองเชียงคำ

โดยพื้นเพของชาวไทลื้อจะยึดอาชีพการเกษตร มีการปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู เป็ดและไก่ไว้ใช้งานและประกอบอาหารภายในครังเรือน โดยชาวไทลื้อมีคติว่า “ไม่ซื้อ ไม่ขาย เก็บไว้กินและแบ่งปันพี่น้อง” ชาวไทลื้อต่างนับถือศาสนาพุทธ ดังจะเห็นได้จากการสร้างวัดที่มีศิลปะแบบของไทลื้อและผสมศิลปกรรมแบบพม่าเข้าไปด้วย ซึ่งสามารถพบเห็นได้ที่อำเภอเชียงคำ เช่นที่วัดหย่วน วัดมางและวัดนันตาราม เป็นต้น

ในสมัยก่อนชาวไทลื้อไม่นิยมนำพระพุทธรูปไว้สักการบูชาในบ้าน โดยให้เหตุผลว่า พระพุทธรูปเป็นของสูงค่าที่ทรงความศักดิ์สิทธิ์ ควรจะนำไปประดิษฐานไว้ที่โบสถ์หรือวิหารมากกว่าที่จะนำมาเก็บรักษาไว้ในบ้านซึ่งเป็นเสมือนการลบหลู่ดูหมิ่น ส่วนการนับถือผีบ้านผีเรือนนั้นชาวไทลื้อจะมีความเชื่อมั่นอย่างจริงจัง ดังตังอย่างเช่น เมื่อเวลาเกิดเคราะห์หามยามร้ายอะไรขึ้นมาก็มักกล่าวหาว่า ผีบ้านผีเรือนเป็นผู้กระทำ

ผีที่ชาวไทลื้อนับถือมีอยู่ 3 พวกได้แก่ ผีบรรพบุรุษ ผีบ้านและผีเสื้อเมือง เพราะชาวไทลื้อเชื่อว่า เหตุการณ์ภายในอาคารบ้านเรือนเป็นหน้าที่ของผีบ้านผีเรือนที่ต้องดูแลคุ้มครอง ส่วนการนับถือผีบรรพบุรุษจะช่วยให้เกิดการอยู่ดีมีสุขทำมาค้าขึ้น ส่วนผีเสื้อบ้านจะคอยรักษาเหตุการณ์บ้านเมืองให้อยู่ในความสงบ การเลี้ยงผีเสื้อเมืองของชาวไทลื้อจะจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี โดยห้ามไม่ให้คนในหมู่บ้านออกไปที่อื่น ขณะเดียวกันก็ห้ามคนจากที่อื่นเข้ามาในหมู่บ้านด้วย

พิธีกรรมเลี้ยงผีเสื้อเมือง เริ่มทำตั้งแต่เช้าตรู่ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนจะต้องนำไก่มีชีวิตมารวมกันที่บ้านของหมอผีประจำหมู่บ้าน การนำไก่มารวมกันถือเป็นข้อปฏิบัติที่ทุกบ้านจะต้องกระทำ เมื่อเจ้าของบ้านที่เป็นผู้ชายไม่อยู่บ้านผู้ที่เป็นภรรยาจะต้องให้คนนำไก่ไปที่บ้านหมอผี แต่ห้ามไม่ให้ผู้หญิงไปร่วมในพิธี เพราะเชื่อว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ขวัญอ่อนมักตกใจง่ายเมื่อเวลาที่เห็นการฆ่าสัตว์ บางคนก็เชื่อว่าผู้หญิงห้ามไม่ให้เข้าพิธีเพราะกลัวว่าเมื่อผีเสื้อบ้านเห็นแล้วจะถูกใจเอาไปเป็นเมียที่เมืองผีก็ได้ ดังนั้นในพิธีเลี้ยงผีเสื้อเมืองเราจะเห็นว่ามีแต่เฉพาะผู้ชายเท่านั้น

ปัจจุบันนี้แม้ว่าพิธีกรรมการเลี้ยงผีเสื้อเมืองจะค่อยเลือนหายไปจากความทรงจำของคนรุ่นใหม่ แต่ในเบื้องลึกของผู้เฒ่าผู้แก่ชาวไทลื้อแล้ว การเลี้ยงผีเสื้อเมืองยังคงเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกถ่ายทอดจากบรรพบุรุษชาวไทลื้ออย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย.

ร่วมแสดงความคิดเห็น