จ.ลำปาง ประกาศพื้นที่ให้เป็นเขตประสบสาธารณภัย พบแผ่นดินไหวยังเกิดต่อเนื่อง รวม 3 วัน สั่นกว่า 43 ครั้ง

จังหวัดลำปางประกาศพื้นที่ให้เป็นเขตประสบสาธารณภัย พบแผ่นดินไหวยังเกิดต่อเนื่อง รวม 3 วัน สั่นกว่า 43 ครั้ง ด้าน ผอ.ทรัพยากรธรณี เผยเป็นปกติของการเกิดอาฟเตอร์ช็อค ขณะที่หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งสำรวจประเมินความเสียหาย

สถานการณ์แผ่นดินไหวในเขตท้องที่อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ยังคงมีการเคลื่อนไหวเกิดอาฟเตอร์ช็อกต่อเนื่องเป็นระยะๆ โดยวันที่ 23 ก.พ.62 ได้มีการรายงานจากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ว่าสามารถตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนได้ที่อำเภอวังเหนือเพิ่มเติม ตั้งแต่ เวลา 00.15 น.ที่ผ่านมาถึง 9 ครั้ง โดยล่าสุด เมื่อเวลา 12.52 น.ที่ผ่านมา สามารถตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนได้ 2.9 แมกนิจูด ลึกลงไปในผิวดิน 3กิโลเมตร รวมมีการเกิดแรงสั่นทะเทือนต่อเนื่องนับตั้งแต่วันที่ 20-23 ก.พ.62 จำนวน 43 ครั้ง

และที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้า ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้เรียกประชุมทีมผู้บริหารเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมสั่งการให้เร่งระดมกำลังเจ้าหน้าที่จากทุกหน่วย ทั้งที่ว่าการอำเภอวังเหนือ สำนักงานโยธาธิการฯ จังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต10 และองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตพื้นที่ใกล้เคียงทุกแห่ง ร่วมกันลงพื้นที่เร่งทำการตรวจสอบโครงสร้างอาคารต่างๆ รวมถึงบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเสียหาย เพื่อจะได้เร่งสรุปวิธีการช่วยเหลือ ประเมินความเสียหายและค่าใช้จ่ายที่จะต้องให้การเยียวยาแก่ประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบ

ด้านนายพิเชษฐ์ เอกปาน หัวหน้าฝ่ายสงเคราะห์ผู้ประสบภัย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้พื้นที่อำเภอวังเหนือได้ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัยแล้ว ซึ่งเบื้องต้นจะให้ทางหน่วยงานองค์กรท้องถิ่นสามารถเบิกจ่ายงบประมาณให้การช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ได้ หลังจากนี้หากการช่วยเหลือไม่เพียงพอ หรือเกินอำนาจหน้าที่ขององค์กรท้องถิ่น ก็จะได้มีการประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติต่อไป

นายนิวัติ บุญนพ ผอ.สำนักทรัพยากรธรณีเขต 1 ลำปาง กล่าวว่า สำหรับแผ่นดินไหวครั้งนี้ จัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดค่อนข้างเล็ก สาเหตุเกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนพะเยาส่วนใต้ ตามแนวระดับแบบเหลื่อมขวา ซึ่งรอยเลื่อนนี้มีทิศทางการวางตัวในแนวเหนือและใต้ โดยมีความยาว ประมาณ 90 กิโลเมตร ทั้งนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวเนื่องจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนพะเยา เมื่อวันที่ 11 ก.ย.37 แผ่นดินไหวขนาด 5.1 ศูนย์กลางบริเวณ อ.พาน จ. เชียงราย

ผอ.สำนักทรัพยากรธรณี เขต 1 กล่าวอีกว่า การเกิดแผ่นดินไหวติดต่อกันอีกหลายครั้ง หลังจากที่เกิด 4.9 แมกนิจูดแล้ว เป็นการเกิดอาฟเตอร์ช็อคตามปกติ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นตามมาได้อีก 1 สัปดาห์ แผ่นดินไหวทุกครั้งก็จะเกิดในลักษณะเช่นนี้อยู่แล้ว เช่นที่ จ.เชียงราย เคยเกิดแรง 6.3 ก็ยังมีอาฟเตอร์ช็อคตามมาอีกเป็นเดือน ซึ่งจากการเข้าตรวจสอบในพื้นที่ร่วมกับนายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ปภ.จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเมินดูแล้วถือว่าไม่หนักมาก จะมีหนักอยู่ 1 หลัง คือ โครงสร้างหลักของบ้านที่เป็นเสาบ้าน ปูนแตกร้าวออกไปจนเห็นเนื้อเหล็กด้านในหลายต้น จึงไม่ให้เจ้าของอยู่อาศัยในบ้านได้

ส่วนสำนักงาน อบต.ทุ่งฮั้ว ยังคงใช้งานได้เพราะส่วนที่ร้าวเป็นปูนที่กะเทาะออกมาไม่ได้กระทบกับโครงสร้างหลักของอาคาร และจะสังเกตได้ว่ายอดเจดีย์ที่เอียงนั้นจะเห็นได้ว่าชี้ไปทางทิศที่คลื่นของแผ่นดินไหววิ่งมา ฝากถึงประชาชนในพื้นที่ขณะนี้อาจจะยังมีอาฟเตอร์ช็อคตามมาอย่างต่อเนื่อง อย่าตื่นตระหนก และขอให้เตรียมพร้อมรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวให้หลบอยู่ในที่ปลอดภัย

ร่วมแสดงความคิดเห็น