จากเชียงตุงถึงหลวงพระบาง ตามรอย “ไทเขิน-ไทลาว” ในอุษาคเนย์

ในจำนวนกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า “ไท” นั้น มีประวัติศาสตร์และวิถีการดำเนินชีวิตอยู่ในดินแดนแถบเอเชียบูรพามาเนินนาน อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มคน “ไท” เป็นอารยชนที่เก่าแก่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลกก็ว่าได้ ด้วยชนกลุ่มนี้มีลักษณะที่พิเศษทั้งการดำเนินชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมรวมถึงภาษาที่เป็นเอกลักษณ์

ในอดีตชนชาติไท แบ่งแยกตัวเองออกตามชื่อของหมู่บ้านที่อาศัย ส่วนใหญ่จะพบในแถบพื้นที่ลุ่มทางตอนใต้ของจีนเรื่อยมาจนถึงพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กลุ่มชนชาวไทมีประวัติศาสตร์ของการดำเนินชีวิตและแบบแผนประเพณีมาช้านาน ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวว่า “ไท” หรือ “ไต” นั้นเป็นชนชาติเก่าแก่ที่มีอารยธรรมของตนเอง ถึงขนาดมีข้อสันนิษฐานว่า ไทหรือไตเป็นชนชาติแรก ๆ ของโลกที่มีภูมิปัญญาในการปลูกข้าวเป็นอาหาร รวมถึงแบบแผนในการประดิษฐ์ลวดลายผ้าทอที่ได้รับการยอมรับในพลังวิริยภาพของการรังสรรค์ในระดับโลก

ปัจจุบันบรรดาชนชาติไทเหล่านี้กลายเป็นเพียง ชนกลุ่มน้อย หรือพลเมืองชั้นสองในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ไทเขินในเชียงตุง ไทลื้อในสิบสองปันนา หรือแม้แต่ไทลาวหลวงพระบาง ล้วนเคยมีอาณาจักรและราชสำนักที่ยิ่งใหญ่รุ่งเรืองของตนเองมาก่อนทั้งสิ้น ดังนั้นการเดินทางเพื่อย้อนทวนรากเหง้าเผ่าพันธุ์ของกลุ่ม “คนไท” จากเชียงตุงถึงหลวงพระบาง จึงเป็นสิ่งสะท้อนเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งด้วยในฐานะที่สองเมืองนี้มีกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า “ไท” อาศัยอยู่

ประการสำคัญ สองเมืองนี้ยังสะท้อนภาพวิถีวัฒนธรรมเก่า ๆ ที่สูญสิ้นไปนานแล้วจากเชียงใหม่ ทว่ายังหลงเหลืออยู่ที่เชียงตุง และหลวงพระบางเป็นเวลากว่า 5 ครั้งในรอบ 3 ปีที่ผมมีโอกาสเดินทางมาเยือนเมืองเล็ก ๆ อันสงบเงียบกลางขุนเขาในเขตรัฐฉานของประเทศพม่า ซึ่งก่อนหน้านั้นมีนักเดินทางด้านศิลปวัฒนธรรมหลายท่านไม่ว่าจะเป็น บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ นักเขียนสารคดีเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชนเผ่าที่เคยมาเยือนเมืองแห่งนี้ครั้งแรกเมื่อราว 50 ปีก่อน อาจารย์ทวี สว่างปัญญางกูร ผู้เชี่ยวชาญพงศาวดารเมืองเชียงตุง รวมถึงธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนสารคดีอิสระ ต่างลงความเห็นว่า นี่คือแว่นแคว้นอันไพบูลย์ของชนเผ่า “ไท” ที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น

เมืองเชียงตุง มีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อทั้งเมืองเขิน เมืองขึน เมืองเขมรัฐ มีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับเมืองนี้เมื่อราว 800 ปีก่อนว่า เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมทั้งใหญ่ขึ้น ณ ริมฝั่งลำน้ำขึน แต่มีพระดาบสรูปหนึ่งนามว่า “ตุงคฤาษี” ได้แสดงอภินิหารให้น้ำไหลออกไปเหลือไว้เพียงแค่หนองน้ำใหญ่กลางใจเมือง ซึ่งกาลต่อมาได้ถูกขนานนามตามชื่อฤาษีรูปนั้นว่า “หนองตุง” และเป็นที่มาของชื่อเมืองที่มีความรุ่งเรืองเฟืองฟูริมหนองน้ำแห่งนี้ว่า “เชียงตุง” หรือ “เขมรัฐตุงคบุรี”

เขมรัฐตุงคบุรี หรือ เชียงตุง แว่นแคว้นแห่งนี้มีตำนานการก่อกำเนิดมานานเกือบพันปี เป็นถิ่นที่อยู่ของชนกลุ่มตระกูลไทหรือไตกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกตนเองว่า “ไทขึน” หรือ “ไทเขิน” ตามชื่อแม่น้ำขึนที่ไหลหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนชาวเมืองมานานชั่วนาตาปี อีกทั้งใจกลางเมืองยังมีหนองน้ำใหญ่ที่เรียกสืบต่อกันมาว่า “หนองตุง” หรือ “หนองตุ๋ง”

กล่าวกันว่าหากจะดูวิถีชีวิตของชาวไทเขินในเชียงตุงให้ไปดูที่ตลาด เพราะ ทุก ๆ เช้าในตลาด (กาดหลวง) เมืองเชียงตุงจะคราคร่ำไปด้วยผู้คนจำนวนมากหลายเผ่าพันธุ์ ทั้งแม่ค้าชาวไทใหญ่ ไทขึน ไทลื้อปะปนกัน นับเป็นภาพที่มีการชุมนุมชนเผ่า “ไท” มากที่สุดแห่งหนึ่ง สินค้าพื้นเมืองถูกนำมาวางขายปะปนกับเครื่องใช้อุปโภคบริโภค ในจำนวนนี้มีสินค้านำเข้าทั้งจากประเทศไทย จีนและเวียดนาม อีกด้านหนึ่งของตลาดจะเป็นสินค้าประเภทผัก ปลาและสินค้าพื้นเมืองจำพวกยาสูบ รวมถึงของป่าหายากอีกหลายชนิด

กาดหลวงของเชียงตุงจะเริ่มตั้งแต่เช้ามืดเรื่อยไปจนถึงสายก่อนเที่ยง ที่นี่นอกจากจะมีสินค้าประเภทต่าง ๆ วางจำหน่ายแล้วยังมีร้านค้าขายอาหารพื้นเมืองหลายร้านอย่างเช่น น้ำเงี้ยว ข้าวฟืนรวมถึงโรตีจากอินเดียที่ขายคู่พร้อมกับกาแฟ เครื่องดื่มจากต่างประเทศ

เชียงตุงในวันนี้ จึงดูไม่แตกต่างไปจากเมืองเชียงใหม่เมื่อราว 50-60 ปีก่อน สภาพบ้านเรือนยังคงสภาพดั้งเดิมเอาไว้ วิถีชีวิตผู้คนยังคงได้รับการอนุรักษ์รักษา แม้ว่าสังคมในเชียงตุงบางส่วนได้เปลี่ยนแปลงไปรับเอาวัฒนธรรมจากตะวันตกเข้ามา สังเกตได้จากมีอาคารบ้านเรือนที่สร้างขึ้นตามแบบสมัยนิยม แต่ด้วยการดำรงชีวิตที่อิงแอบกับหลักธรรมคำสอนพุทธศาสนาเป็นเสมือนเกราะป้องกันอันเข้มแข็งต่อการเปลี่ยนแปลงจากสังคมภายนอก

ด้วยความที่เชียงตุงเป็นเมืองเล็ก ๆ สงบเงียบ วิถีชีวิตของผู้คนที่มีศรัทธาต่อพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ทำให้เชียงตุงในวันนี้ เป็นดินแดนแห่งสวรรค์ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปเยือนอยู่ไม่ขาดสาย เช่นเดียวกับหลวงพระบาง อดีตราชธานีที่รุ่งเรืองที่สุดของอาณาจักรล้านช้าง มีชื่อเต็มว่า ศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวหลวงพระบาง ถิ่นที่อยู่ของกลุ่มคนไทลาว

เมืองหลวงพระบางเป็นเมืองที่งดงามและมีเสน่ห์ในศิลปะของสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม ประเพณีและขนบธรรมเนียมในการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้องค์การยูเนสโก (Unesco) ได้ขึ้นทะเบียนให้เมืองหลวงพระบางเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540

มรดกล้ำค่าของหลวงพระบางอยู่ที่ความเป็นเมืองแห่งพุทธศาสนา คือมีวัดกระจัดกระจายอยู่ทั่วเมืองไม่ต่ำกว่า 50 วัด สีเหลืองแห่งพุทธศาสนาได้แผ่เข้ามาครอบงำจิตใจของชาวหลวงพระบางมาเป็นเวลาหลายร้อยปี อารยธรรมในดินแดนแห่งนี้จึงมีผลพวงมาจากอิทธิพลของพุทธศาสนา โดยเฉพาะวัดแต่ละวัดนั้นเต็มไปด้วยศิลปวัฒนธรรมอันงดงามของชาวล้านช้าง ถ้าเราจะพิสูจน์กันง่าย ๆ ว่า พุทธศาสนาคือแก่นประเพณีวิถีชีวิตของชาวหลวงพระบาง หรือไม่ก็ต้องตื่นตอนตีห้าลุกขึ้นมาดูการทำบุญตักบาตรตามริมถนนทุก ๆ เช้าชาวหลวงพระบางเกือบทุกครัวเรือนจะพากันออกมารอใส่บาตรพระสงฆ์ที่เดินเรียงแถวมาตามถนนกว่าร้อยรูป ในยามนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่คนหลวงพระบางเริ่มต้นชีวิตในวันใหม่ด้วยรอยยิ้มแห่งการทำบุญ อิ่มเอิบทั้งจิตใจและใบหน้า

แทบไม่น่าเชื่อว่าเมืองเล็ก ๆ ที่มีถนนหลักแค่ 2-3 เส้นทอดผ่านกลางตัวเมือง ทว่ากลับมีวัดจำนวนมากตั้งเรียงรายอยู่ฝั่งถนน หลวงพระบางอาจไม่ใช่เมืองเล็กธรรมดา หากแต่เป็นนครรัฐที่สะสมความรุ่งเรืองแห่งอดีตไว้มากมาย

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น