“ยาเม็ดคุมกำเนิด” ความสบายใจที่มาพร้อมกับความเสี่ยง

หลายคนคงเคยสงสัยกันว่า ยาคุมกำเนิดสามารถคุมกำเนิดได้กี่เปอร์เซ็นต์ มีวิธีการใช้ยาอย่างไรบ้าง ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินแตกต่างจากยาคุมกำเนิดปกติหรือไม่ ยาคุมกำเนิดมีผลข้างเคียงไหม หรือหน่วยงานภาครัฐมีการสนับสนุนด้านการคุมกำเนิดอย่างไรบ้าง

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาไขข้อข้องใจของหลาย ๆ คนเกี่ยวกับยาคุมกำเนิด เพื่อคุณจะได้ไม่เข้าใจผิดเกี่ยวกับยาคุมอีกต่อไป จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลยค่ะ

ยาคุมกำเนิดแบบเม็ดคืออะไร

ยาเม็ดคุมกำเนิด (Oral contraceptive pill หรือ Birth control pill) คือยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจนและโปรเจสโตเจน) ที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ โดยยับยั้งการตกไข่ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีสภาพไม่พร้อมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน และทำให้มูกที่ปากมดลูกมีความเหนียวข้นขึ้น จนเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนตัวของอสุจิให้ไม่สามารถเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้

ยาเม็ดคุมกำเนิดสามารถคุมกำเนิดได้ 100% หรือไม่?

ยาเม็ดคุมกำเนิดไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้เต็ม 100% ซึ่งการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดอย่างถูกต้องจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 99.7% (มีโอกาสล้มเหลวได้ประมาณ 0.03%) แต่หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง เช่น กินไม่ตรงเวลา ลืมกินยาคุมกำเนิด ฯลฯ อัตราการล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 9%

ยาเม็ดคุมกำเนิดมีกี่ชนิด?

ยาเม็ดคุมกำเนิดแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่

1.ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined Oral Contraceptive – COC) ประกอบด้วยตัวยาทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสโตเจน

2.ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestrogen-only pills – POP) จะมีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนเพียงอย่างเดียว

3.ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Postcoital pill)

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined Oral Contraceptive – COC)

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เป็นยาคุมกำเนิดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสโตเจน รวมกันในเม็ดเดียว ซึ่งแยกออกเป็น 2 แบบ คือ

1.แบบที่มีฮอร์โมนทั้งสองชนิดเท่ากันทุกเม็ด

เป็นชนิดที่ประกอบด้วยเอสโต รเจนและโปรเจสโตเจนในขนาดคงที่เท่ากันทุกเม็ด ใน 1 ชุดจะมี 21-22 เม็ด และมีสีเดียวกันทั้งหมด แต่บางชนิดอาจเพิ่มเม็ดแป้งหรือยาบำรุงที่มีสีแตกต่างกันออกไปอีก 7 วัน เพื่อกันการลืมกินยาแผงต่อไปเท่านั้น ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ มีขายมากกว่า 10 ยี่ห้อ เช่น ยาสมิน (Yasmin), ยาส (Yaz), ไดแอน (Diane), แอนนา (Anna), เมอซิลอน (Mercilon), เมลลิแอน (Meliane), มาวีลอน (Marvelon), ไซเลส (Cilest), และไกเนร่า (Gynera)

2.แบบที่ฮอร์โมนทั้งสองชนิดไม่เท่ากัน

  • ชนิด 2 ระยะ จะประกอบด้วยเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจนในปริมาณต่างกัน 2 แบบ เพื่อเลียนแบบการหลั่งฮอร์โมนของร่างกาย ในช่วงต้นรอบเดือนจะมีเอสโตรเจนสูงกว่าโปรเจสโตเจน ส่วนช่วงปลายรอบเดือนจะมีโปรเจสโตเจนมากกว่าเอสโตรเจน ซึ่งจะมี 2 สี คือ 7 เม็ดแรกเป็นสีหนึ่ง และ 15 เม็ดหลังเป็นอีกสีหนึ่ง เช่น ยาคุมกำเนิดยี่ห้อออยเลซ (Oilezz)
  • ชนิด 3 ระยะ จะประกอบด้วยเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจนในปริมาณที่ต่างกัน 3 แบบ เพื่อเลียนแบบการหลั่งฮอร์โมนของร่างกายให้มากที่สุด โดยจะมีเอสโตรเจนต่ำอยู่ 2 ช่วง คือ ช่วงต้นและช่วงปลายรอบเดือน ส่วนกลางเดือนจะมีปริมาณเอสโตรเจนมากที่สุด ส่วนโปรเจสโตเจนจะมีปริมาณต่ำในช่วงต้นรอบเดือนและสูงสุดในช่วงปลายรอบเดือน จะมี 3 สี แบ่งเป็น 6 เม็ด 5 เม็ด และ 10 เม็ด รวมเป็น 21 เม็ด (อาจจะมีแป้งเพิ่มอีก 7 เม็ด รวมเป็น 28 เม็ดก็ได้) เช่น ยาคุมกำเนิดยี่ห้อไตรควีล่าร์ (Triquilar), ไตรนอร์ดิออล (Trinordiol) และไตรไซเลส (Tricilest)

ข้อดีและข้อเสีย จากการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม

ข้อดี

  • ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ และมะเร็งเยื่อบุมดลูก
  • ทำให้อาการสิวดีขึ้น
  • ปวดประจำเดือนลดลง
  • เพิ่มมวลกระดูก
  • ลดการสร้างฮอร์โมน androgen ที่ทำให้เกิดโรค polycystic ovary syndrome
  • ลดเลือดออกจากมดลูก
  • ลดอาการก่อนประจำเดือน
  • ประจำเดือนมาไม่มาก และตรงเวลา
  • ลดความเสี่ยงที่เกิดจากการตั้งครรภ์ เช่น ตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือเจ็บเต้านม

ข้อเสีย

  • ไม่สามารถป้องกันโรคที่เกิดจากเพศสัมพันธ์ รวมทั้งโรคเอดส์
  • เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดสมอง
  • เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือด
  • ผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ประจำเดือนกระปริดกระปอย แน่นท้อง คัดเต้านม คลื่นไส้ ซึมเศร้า น้ำหนักเพิ่ม

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestrogen-only pills – POP)

จะมีโปรเจสโตเจนเพียงอย่างเดียว เป็นยาคุมกำเนิดที่ทำออกมาเพื่อลดอาการข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน ยาคุมชนิดนี้หนึ่งแผงจะมี 28 เม็ด กินได้ทุกวันโดยไม่ต้องหยุด เมื่อกินหมดแล้วก็กินแผงใหม่ต่อได้เลย ส่วนใหญ่กินแล้วจะไม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน (เพราะไม่มีเอสโตรเจน) แต่อาจมีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอบ้าง หรือประจำเดือนอาจขาดโดยไม่ได้ตั้งครรภ์ก็ได้ ซึ่งเป็นผลมาจากยานั่นเอง ส่วนชนิดที่มีจำหน่ายก็คือ ยี่ห้อซีราเซท (Cerazette) และยี่ห้อเอ็กซ์ลูตอน (Exluton)

ข้อดีและข้อเสีย จากการใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

ข้อดี

  • ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง โรคไมเกรน สามารถใช้ยาชนิดนี้คุมกำเนิดได้
  • สามารถใช้ในขณะแม่ให้นมลูกได้
  • เมื่อหยุดยาสามารถตั้งครรภ์ต่อได้
  • ลดความเสี่ยงที่เกิดจากการตั้งครรภ์ เช่น ตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือเจ็บเต้านม

ข้อเสีย

  • ไม่สามารถป้องกันโรคที่เกิดจากเพศสัมพันธ์ รวมทั้งโรคเอดส์
  • ประสิทธิภายในการคุมกำเนิดจะน้อยกว่าชนิดฮอร์โมนรวม
  • จะต้องกินเวลาเดิมทุกวัน
  • ผลข้างเคียงของยาได้แก่ ประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ ถุงน้ำรังไข่ ความต้องการทางเพศลดลง ปวดศีรษะ เจ็บเต้านม สิว น้ำหนักเพิ่ม ซึมเศร้า มีขนขึ้น
  • หากตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูกเพิ่มขึ้น

ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Postcoital pill)

เป็นวิธีคุมกำเนิดที่จะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ในกรณีที่ฉุกเฉินจริง ๆ เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน และไม่เคยกินหรือฉีดยาคุมมาก่อน สำหรับประสิทธิภาพในการป้องกันจะอยู่ที่ประมาณ 85% หมายความว่าแม้จะรับประทานยาก็ยังมีโอกาสตั้งครรภ์อยู่ แต่โอกาสจะน้อยลง

7 ข้อควรรู้ก่อนกินยาคุมฉุกเฉิน

1.ยาคุมฉุกเฉินไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อได้ ยาชนิดนี้มีประโยชน์ในการป้องกันการตั้งครรภ์เท่านั้น ไม่สามารถป้องกันโรคจากเพศสัมพันธ์ได้ หากต้องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ควรใช้วิธีสวมถุงยางอนามัยจะดีที่สุด

2.ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน มีผลข้างเคียงสูงมาก ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินจะออกฤทธิ์ต่อสภาพแวดล้อมของเยื่อบุโพรงมดลูก จึงมีผลต่อฮอร์โมนและทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวผู้ใช้ เช่น มีประจำเดือนผิดปกติ คลื่นไส้อาเจียน และหากกินบ่อย ๆ อาจเสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูกได้

3.ต้องกินทันที หลังมีเพศสัมพันธ์ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ ต้องกินหลังร่วมเพศไม่เกิน 72 ชั่วโมง หากพ้นจากนี้ไปแล้ว ยาคุมฉุกเฉินอาจไม่มีผลในการป้องกันการตั้งครรภ์

4.ควรกินยานี้ในยามฉุกเฉินจริง ๆ เท่านั้น เพราะอาจไปกระตุ้นเซลล์มะเร็ง หรืออาจส่งผลกระทบต่อรังไข่และมดลูกได้

5.ประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำ ประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินจะไม่สูงเท่ายาคุมกำเนิดแบบอื่น คือ สามารถป้องกันได้เพียง 85-95% จึงเกิดความผิดพลาดได้สูง ทางที่ดีควรกินยานี้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์

6.ต้องกินตามเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน 1 กล่อง มีตัวยา 2 เม็ด ควรกินทั้ง 2 เม็ด โดยกินเม็ดแรกภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ และกินเม็ดที่สองเมื่อครบ 12 ชั่วโมงหลังจากกินเม็ดแรกแล้ว ซึ่งจะช่วยให้ยามีประสิทธิภาพสูงมาก แต่ก็มีผลข้างเคียงมากเช่นกัน

7.ทำให้ขาดแคลเซียม จากผลการวิจัยระบุว่า ร่างกายของผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิดต้องการปริมาณแคลเซียมมากถึง 1,000 มิลลิกรัม หากได้รับแคลเซียมน้อยจึงอาจมีผลเสียต่อมวลกระดูกเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน กระดูกแตกหักง่ายและเปราะเมื่อมีอายุมากขึ้น

ยาคุมฉุกเฉินมีกี่แบบ?

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ

1.ยาเม็ดฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน
ตัวยาจะประกอบด้วยฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนเข้มข้น ยี่ห้อที่มีขายในประเทศไทย เช่น Madonna, Postinor, Mary Pink วิธีใช้ให้กินครั้งละ 2 เม็ดพร้อมกัน โดยกินให้เร็วที่สุดหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ยิ่งกินช้า ยิ่งมีโอกาสตั้งครรภ์มาก และต้องกินภายใน 5 วันหลังมีเพศสัมพันธ์ สามารถช่วยลดโอกาสการตั้งครรภ์ให้เหลือ 1%

2.ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนคู่
สามารถนำมาใช้เป็นยาคุมกำเนิดฉุกเฉินได้ โดยต้องคำนวณขนาดฮอร์โมนเอสโตรเจนในการกินแต่ละครั้งให้ได้ 100 ไมโครกรัม กินทั้งหมด 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 12 ชั่วโมง เช่น ใช้ยาคุมกำเนิดยี่ห้อ Yasmin ที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน 30 ไมโครกรัมต่อ 1 เม็ด เพราะฉะนั้นให้กินครั้งละ 4 เม็ด อีก 12 ชั่วโมงถัดมาก็กินอีกสี่เม็ด มีประสิทธิภาพช่วยลดโอกาสตั้งครรภ์ให้เหลือ 2%

ผลข้างเคียงของยาคุมฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น

1.ผลข้างเคียงในระยะสั้น

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ เนื่องจากยาคุมฉุกเฉินจะเข้าไปยับยั้งการตกไข่และเลื่อนการตกไข่ออกไป ทำให้ประจำเดือนอาจมาไม่ปกติได้ แต่ก็ไม่ต้องตกใจ เพราะอาการเหล่านี้ไม่เป็นอันตรายใด ๆ และจะกลับมาเป็นปกติในเดือนต่อไป
  • คลื่นไส้ อาเจียน ยาคุมฉุกเฉินส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนในร่างกายโดยตรง ซึ่งภาวะที่ฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหันนี้อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนและรู้สึกพะอืดพะอมตลอดเวลาได้
  • ปวดศีรษะ ในบางคนที่ร่างกายต่อต้านยาคุมหรือปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนไม่ทัน อาจทำให้มีอาการปวดศีรษะได้
  • ปวดท้อง การกินยาคุมฉุกเฉินอาจส่งผลให้มีอาการปวดท้องคล้ายกับตอนมีประจำเดือนได้
  • เสี่ยงตั้งครรภ์นอกมดลูก กรณีการตั้งครรภ์นอกมดลูกนั้นจะเสี่ยงมากในคนที่กินยาคุมฉุกเฉินบ่อย ๆ หรือกินยาคุมฉุกเฉินแบบต่อเนื่องแทนยาคุมทั่วไป
  • เสี่ยงเป็นมะเร็ง มีรายงานทางการแพทย์กล่าวว่า ในชีวิตของผู้หญิง ไม่ควรกินยาคุมฉุกเฉินเกิน 2 ครั้ง เพราะยาคุมชนิดนี้จะไปกระตุ้นเซลล์มะเร็งให้เจริญเติบโตและส่งผลให้เกิดมะเร็งในที่สุด โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งรังไข่ นอกจากนี้ยังทำให้มดลูกอ่อนแอและบางลง ซึ่งจะส่งผลต่อการมีบุตรในอนาคตได้อีกด้วย

2.ผลข้างเคียงในระยะยาว
หากใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือใช้ยานี้นานเกิน 2 กล่องต่อเดือน ไม่เพียงแต่ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะเทียบยาคุมกำเนิดแบบปกติไม่ได้เท่านั้น แต่ยังมีผลให้รังไข่และเยื่อบุโพรงมดลูกมีอาการผิดปกติ มีโอกาสเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก และยังกระตุ้นเซลล์มะเร็งให้เจริญเติบโตและส่งผลให้เกิดมะเร็งในที่สุดได้อีกด้วย

วิธีรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด

1.ชนิดแผง 21,22 เม็ด
เริ่มใช้ยาตั้งแต่วันที่ 1ของรอบเดือน(วันแรกของประจำเดือน)ไม่เกินวันที่5 ของรอบประจำเดือนกินทุกวันจนหมดแผง ควรทานเวลาเดียวกันทุกวัน สำหรับชนิด 21 เม็ดให้หยุดยา 7 วัน หยุดยา 6 วันสำหรับชนิด 22 เม็ด ระหว่างหยุดยา 2-4 วันจะมีเลือดประจำเดือนมา เมื่อหยุดยาครบกำหนดให้เริ่มแผงใหม่ตามวิธีเดิม

2.ชนิดแผง 28 เม็ด
เริ่มกินยาในวันแรกของรอบประจำเดือนโดยเริ่มกินเม็ดแรกในส่วนที่ระบุบนแผงว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ยา และกินยาตามทิศทางที่ลูกศรกำกับจนหมดแผง และกินแผงใหม่โดยไม่ต้องหยุดยา

3.ชนิดฉุกเฉิน
การกินยาคุมฉุกเฉินเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด จะต้องกินทันทีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ภายใน 24 ชั่วโมง แต่หากไม่ทันจริง ๆ ก็สามารถกินภายใน 72 ชั่วโมงได้ แต่จะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดน้อยลงกว่าเดิม ดังนั้นเมื่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ควรรีบกินยาคุมฉุกเฉินทันที

ทำอย่างไรถ้าลืมกินยาเม็ดคุมกำเนิด?

ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นยาที่ต้องรับประทานเป็นประจำ การลืมกินยาอาจจะทำให้เกิดผลเสีย เช่น ทำให้มีเลือดออกกะปริดกะปรอยถ้าลืมบ่อย ๆ อาจเกิดการตั้งครรภ์ ดังนั้นควรกินยาเวลาเดียวกันทุกวัน และหากลืมกินยาให้แก้ไขดังนี้

1.ลืมกินยาหนึ่งเม็ดให้กินทันทีที่นึกได้ และกินเม็ดต่อไปตามปกติ

2.ลืมกิน 2 เม็ดติดต่อกันในช่วง 2 สัปดาห์แรกให้กินยา 2 เม็ดติดต่อกัน 2 วัน แล้วกินต่อตามปกติจนหมดแผง ห้ใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย

3.ลืมกินยา 2 เม็ดติดกันในช่วงสัปดาห์ที่ 3 หรือลืมมากว่า 2 เม็ดในช่วงใดก็ตามให้หยุดยาแผงนั้นจนกว่าจะมีประจำเดือนจึงเริ่มแผงใหม่ ให้ใช้ถุงยางอนามัยหรืองดการร่วมเพศ

4.ลืมกินยามากกว่า 2 เม็ดให้หยุดยาคุมแล้วใช้วิธีอื่นคุมกำเนิดเมื่อประจำเดือนมาจึงเริ่มใหม่

ผู้ที่ห้ามใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดอย่างเด็ดขาด

  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ แต่ถ้าไม่รู้ว่าตั้งครรภ์และกินยาไปบ้างแล้วก็ไม่เป็นไร แต่ต้องหยุดกินทันที และไม่ต้องกังวลว่าจะมีผลต่อลูกในครรภ์ เพราะโอกาสเกิดผลข้างเคียงมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย
  • ห้ามใช้ในสตรีที่ยังไม่เริ่มมีประจำเดือน รวมถึงสตรีสูงอายุที่หมดประจำเดือนแล้วด้วย
  • ผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปี วัยนี้อาจมีปัญหาในการกินยาคุมกำเนิดได้ เพราะมีโอกาสเกิดโรคระบบไหลเวียนของเลือดได้ง่าย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ฯลฯ
  • ผู้ที่มีหรือเคยมีการแข็งตัวของเลือด ในหลอดเลือดที่ขา, ปอด หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย รวมถึงผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการแข็งตัวตัวของเลือด เพราะการกินยาคุมกำเนิดจะทำให้เลือดแข็งตัวเร็วขึ้น จึงมีโอกาสที่เกิดเส้นเลือดอุดตันมากเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
  • ผู้ที่มีหรือเคยมีอาการหัวใจวาย หรือภาวะที่สมองขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน รวมถึงผู้ที่มีหรือเคยมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดหัวใจวาย หรือภาวะที่สมองขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน
  • ผู้ที่เป็นโรคหัวใจบางชนิด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ
  • ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นไมเกรนชนิดรุนแรงหรือไมเกรนบางชนิดร่วมกับความผิดปกติเฉพาะที่ของระบบประสาท เช่น การมองเห็นผิดปกติ การพูดผิดปกติ มีอาการอ่อนเพลีย หรือชาบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานที่มีความผิดปกติของหลอดเลือด
  • ผู้ที่มีเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ผู้ที่เป็นเนื้องอกของอวัยวะสืบพันธุ์ ทั้งชนิดธรรมดาและชนิดร้ายแรงหรือมะเร็ง
  • ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นโรคมะเร็งที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศ เพราะอาจมีส่วนทำให้เซลล์มะเร็งเจริญขึ้นได้ เช่น ที่อวัยวะสืบพันธุ์ หรือเต้านม
  • ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม เนื้องอกเต้านม ทั้งชนิดธรรมดาและร้ายแรง ซึ่งมักจะมีอาการเจ็บหน้าอกบ่อย ๆ มีก้อนหรือคลำก้อนได้ที่เต้านม และมีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกมาจากหัวนม
  • ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นโรคตับ ซึ่งอาจมีอาการตัวเหลืองหรือมีอาการคันทั่วร่างกาย และตับยังคงทำงานผิดปกติ
  • ผู้ที่เป็นโรคไต หรือมีภาวะการทำงานของไตบกพร่องอย่างรุนแรง หรือภาวะไตวายเฉียบพลัน
  • ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นเนื้องอกในตับชนิดไม่ร้ายแรงหรือชนิดร้ายแรง
  • ผู้ที่แพ้ต่อตัวยาสำคัญหรือส่วนประกอบอื่นในยาเม็ดคุมกำเนิด ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคัน เป็นผื่น หรือบวมได้

หมายเหตุ : หากมีความผิดปกติในข้อหนึ่งข้อใดที่กล่าวมาข้างต้นซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในขณะกินยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ให้หยุดยาทันทีและไปพบแพทย์

การเลือกใช้ยาคุมกำเนิด

1.ผู้ที่มีประจำเดือนมามากและนานกว่าปกติ รอบประจำเดือนสั้น ไม่มีสิวหรือขนตามตัว ขอแนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนสูง ๆ

2.ผู้ที่มีประจำเดือนมาน้อย รอบประจำเดือนยาว มีลักษณะคล้ายเพศชาย เช่น มีสิว ผิวมน และขนดก แนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง

3.ผู้ที่มีประจำเดือนมาสม่ำเสมอ ปริมาณปานกลาง มีน้ำหนักตัวปกติ แนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีความสมดุลกันระหว่างฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจน

4.สำหรับสตรีให้นมบุตร วัยรุ่นที่กลัวผลเสียของยาคุมกำเนิดที่มีเอสโตรเจน และสตรีที่มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน ควรใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนเพียงอย่างเดียว และควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เมื่อเลิกให้นมบุตรแล้วจึงค่อยเปลี่ยนไปใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมแทน

จะทำอย่างไรเมื่อพร้อมจะมีบุตร?

เมื่อพร้อมจะมีบุตรให้หยุดยาคุมกำเนิดได้ทันที และในระยะ 3 เดือนแรกหลังหยุดยาควรคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นเช่นการใช้ถุงยางอนามัย เพื่อจะได้ทราบอายุครรภ์ที่แน่นอน ร้อยละ 80 ของผู้ที่ใช้ยาคุมจะกลับมามีประจำเดือนเป็นปกติใน 3 เดือน ร้อยละ 90 จะมีการตกไข่เป็นปกติใน 1 ปี ถ้าหลังหยุดยาคุมกำเนิดแล้ว 3 เดือนประจำเดือนยังไม่มาตามปกติควรปรึกษาแพทย์

ขณะรับประทานยาคุมกำเนิดแล้วเกิดการตั้งครรภ์จะส่งผลเสียต่อเด็กหรือไม่?

ถ้าสงสัยว่าตั้งครรภ์ ให้หยุดยาเม็ดคุมกำเนิดแล้วเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิดเป็นอย่างอื่นแล้วปรึกษาแพทย์ ขณะที่รับประทานยาคุมกำเนิดเกิดการตั้งครรภ์ ทำให้เด็กได้รับฮอร์โมน ได้มีการศึกษาพบว่าเด็กที่เกิดมากจะปกติเป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีส่วนน้อยมากที่เกิดมาผิดปกติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดพิการแต่กำเนิด ถึงมีก็น้อยมาก

สรุป

ยาเม็ดคุมกำเนิดมีให้เลือกหลายยี่ห้อมาก และแต่ละยี่ห้อก็มีปริมาณฮอร์โมนที่แตกต่างกันไป ที่สำคัญผลข้างเคียงจากการกินยาเม็ดคุมกำเนิดก็มีเยอะมาก ดังนั้นจึงควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการใช้ทุกครั้ง

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
อ้างอิงข้อมูลจาก : honestdocs, medthai และ siamhealth
ขอบคุณภาพจาก : Getty Images/iStockphoto


ร่วมแสดงความคิดเห็น