3 มีนาคม วันสัตว์ป่าและพืชป่าสงวน

วันอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก หรือ วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักให้อนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สัตว์ป่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงเผ่าพันธุ์มาตั้งแต่โบราณกาลและมีวิวัฒนาการมายาวนาน แต่ในปัจจุบันเมื่อมนุษย์มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น สัตว์ป่าหลายชนิดถูกล่าจนสูญพันธุ์ลงไปเรื่อย ๆ และเพื่อเป็นการตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์ป่าและให้คนหันมาอนุรักษ์สัตว์ป่ามากขึ้นจึงมีการกำหนดวันอนุรักษ์สัตว์ป่าโลกขึ้น

โดยวันอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก หรือ วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day) ตรงกับวันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี เนื่องจากเป็นวันที่ก่อตั้งภาคีอนุสัญญาไซเตส เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2516 เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มประเทศภาคีอนุสัญญาไซเตส 178 ประเทศ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเพื่อประโยชน์แห่งมวลมนุษยชาติ

สำหรับประเทศไทยนั้น เริ่มจัดงานอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2557 โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่า เพื่อให้เยาวชนและผู้ที่สนใจได้ศึกษา ซึ่งเป็นการปลูกฝังให้รักและหวงแหนธรรมชาติ นอกจากนี้ในหลาย ๆ จังหวัดยังได้จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ ปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ และการเสวนาต่าง ๆ ด้วย

เพราะถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ผู้ซึ่งเบียดเบียนธรรมชาติ ต้องหันมาอนุรักษ์และดูแลสิ่งมีชีวิตร่วมโลกของเราอย่างจริงจังเสียที

1.เขตรักษาพันธุ์สัว์ป่าอมก๋อย

ความเป็นมา
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย มีสภาพเป็นที่ราบสลับกับยอดเขา และผาหินปูน สภาพป่ามีความสมบูรณ์ ทั้งยังมี “กวางผา” ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนอาศัยอยู่ นอกจากนี้ยังมี เลียงผา ช้างป่า เป็นต้น ฉะนั้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งพันธุ์สัตว์ป่า และป้องกันรักาต้นน้ำลำธาร จึงได้กำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ประกาศเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2526 พื้นที่รับผิดชอบ 765,000 ไร่

ภูมิอากาศ เป็นแบบกึ่งเขตร้อน ด้วยพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลต่างกัน ทำให้บนยอดดอยอากาศจะหนาวเย็นตลอดฤดูหนาว ฤดูฝนชุ่มชื้น ส่วนในฤดูร้อนอากาศจะค่อนข้างร้อน

ทรัพยากรป่าไม้
ป่าดิบเขา ประกอบด้วย วงค์ไม้ก่อ กำลังเสือโคร่ง นางพญาเสือโคร่ง เมเปิล และกุหลาบภูขึ้นปะปนอยู่

ป่าดงดิบแล้ง ประกอบด้วย ตะเคียนทอง หว้า เขลง และพืชล้มลุกหลายชนิด เช่น หว้าชะอำ แตรฟ้า สามร้อยยอด เป็นต้น

ป่าผสมผลัดใบ ประกอบด้วย ไม้สัก ประดู่ แดง ไผ่หลายชนิด เช่น ไผ่บง ไผ่รวก เป็นต้น

ป่าเต็ง ป่าแดง หรือป่าแพะ ประกอบด้วย เต็ง รัง พลวง เหียง และก่อแพะ สังคมหน้าผา และลานหิน จะปกคลุมด้วยหญ้า และไม้พุ่มขนาดเล็ก ประกอบด้วย หญ้าคา กระดุมเงิน หญ้าชันกาด กูดกวาง และโด่ไม่รู้ล้ม

ทรัพยากรสัตว์ป่า
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สำรวจพบ 43 ชนิด มีสัตว์ป่าสงวนอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ กวางผา และเลียงผา โดยกระจายอยู่บริเวณดอยม่อนจอง และบริเวณผาหินปูน นอกจากนี้ยังมี เสือโคร่ง เสือดาว เสือไฟ กระทิง วัวแดง หมาใน ลิงลมหมีควาย เป็นต้น

นก สำรวจพบ 181 ชนิด ได้แก่ นกกก นกแก๊ก นกอินทรีดำ เหยี่ยวเพเรกริน ไก่ฟ้าหลังขาว ไก่ฟ้าหลังเทา นกยูง และชนิดประจำถิ่น คือ นกกระสานวล นกกระแตแต้แว๊ด เหยี่ยวแดง เป็นต้น

สัตว์เลื่อยคลาน สำรวจพบไม่น้อยกว่า 31 ชนิด ได้แก่ เต่าเหลือง กิ้งก่าหนามไหลแถบ กิ้งก่าหัวสีน้ำเงิน กิ้งก่าหัวสีแดง งูสิง งูทางมะพร้าว ตะพาบน้ำ ตะกวด เป็นต้น

สัตว์สะเทินน้ำน้ำสะเทินบก สำรวจพบไม่น้อยกว่า 13 ชนิด ได้แก่ กบทูด คางคกเล็ก เขียดหนอง เป็นต้น และชนิดที่อยู่ทั่วไปในพื้นที่ เช่น เขียดท้ายทอยดำ ปาด อึ้งอ่างขาเหลือง คางคงบ้าน

ปลาน้ำจืด สำรวจพบ 94 ชนิด ได้แก่ ปลาแก้มช้ำ ปลากระแห ปลากา ปลากระมัง ปลาสร้อยลูกกล้วย ปลาสร้อยขาว ปลาชอนทราย ปลาสังกะวาด ปลาช่อน ปลาหมอเทศ เป็นต้น

2.เขตรักษาพันธุ์ป่าเชียงดาว

ความเป็นมา
ป่าดอยเชียงดาวแต่เดิมเป็นป่าเขาที่มีภูมิประเทศเป็นเขาสูงชันประกอบด้วยเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนอุดมไปด้วยป่าดงดิบเขาและป่าหลายประเภทที่คละกันไปมีสัตว์ป่าหลายชนิด อาศัยอยู่อย่างชุกชุม

ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศของเทือกเขาดอยเชียงดาวเป็นแบบภาคพื้นทวีปหรือมรสุมเขตร้อนมีฤดูฝนสลับกับฤดูแล้งชัดเจน สภาพอากาศสามารถแบ่งกว้าง ๆ ได้เป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ จนถึงเดือนพฤษภาคม มีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 29.1 องศาเซลเซียส ในเดือนเมษายนเป็นช่วงที่มีอุณหภูมิสูงสุด ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคมมีอุณหภูมิระหว่าง 26.1 – 27.1 องศาเซลเซียส ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในช่วงกลางเดือนธันวาคม ถึงกลางเดือนมกราคม 6.7 องศาเซลเซียส ฤดูหนาวอากาศเย็นและแห้ง บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด บางปีอุณหภูมิจะลดลงต่ำสุดกว่า 0 องศาเซลเซียส ซึ่งปรากฏการณ์น้ำค้างแข็งในตอนเช้า เป็นเกล็ดสีขาวตามยอดหญ้า ที่เรียกเป็นภาษาท้องถิ่นว่า “เหมยขาบ”

ทรัพยากรป่าไม้
ป่าดิบเขา เป็นป่าที่มีความชุ่มชื้นสูงที่สุด มักมีเมฆหมอกปกคลุมตลอดปีจะสังเกตได้จากพรรณไม้ต่าง ๆ ตามกิ่งก้าน จะปกคลุมไปด้วย มอส เฟินและพืชอิงอาศัยต่าง ๆ และพืชพื้นล่าง หลายชนิด ได้แก่ ก่วมขาว ก่อสร้อย เทพธาโร กร่าง ไม้ล้มลุกและพืชชั้นล่างที่พบมาก ซึ่งบางชนิดจะพบแทรกอยู่ทั่วไปตามหลืบหิน อาทิ ข้าหลวงหลังลาย ชาหิน เทียนนกแก้ว แพรกหิน รองเท้านารีฝาหอย

ป่าสนเขา เป็นป่าที่ขึ้นบริเวณสันเขา สภาพของป่าสนเขามีพันธุ์ไม้ปรากฏอยู่น้อย ประกอบด้วยไม้ สนสามใบ สนสองใบ เป็นไม้เรือนยอดไม้ชั้นรองที่ขึ้นปนในป่าสนเขา ที่สำคัญได้แก่ ไม้ในวงศ์ก่อ เช่น ก่อแอบ ก่อสีเสียด ก่อเดือย เป็นต้นนอกเหนือจากไม้ก่อได้แก่ หว้า เหมือดคนตัวผู้ สารภีดอย เป็นต้น ในระดับไม้พุ่ม ประกอบด้วย มันปลา เป้งดอย ปรงเขา เป็นต้น นอกจากรี้ยังพบกล้วยไม้ สกุลต่างๆ เช่นสกุลหวาย และสกุลสิงโต เป็นต้น

ป่าเบญจพรรณ สภาพป่าโดยทั่วไปทางตอนล่างจะค่อยเริ่มเปลี่ยนลักษณะกลมกลืนกันไปกับป่าดิบแล้ง เป็นป่าเบญจพรรณขึ้น โดยมีไผ่บงดำ และ ไผ่ซางนวล เป็นหลัก พื้นดินถูกปกคลุมด้วยหญ้าแวง และมีไม้ต้นขึ้นทั่วไปได้แก่ เลียงมัน สกุลปอขี้แฮด และกว้าว จากนั้นก็จะแปรสภาพเป็นป่าที่มีไม้สักเป็นองค์ประกอบ ในช่วงพื้นที่แคบ ๆ โดยไม้สักที่ขึ้นได้ในสภาพธรรมชาติขึ้นปะปนอยู่กับมะส้าน แคหางค่าง ตะแบกเกรียบ สักผู้ และส้านแว้ นอกจากนี้ยังพบ ตีนฮุ้งดอย เทียนเชียงดาว และหญ้าเหลี่ยม สภาพของเขาหินปูนที่โผล่เป็นปุ่มป่ำจะพบเห็นได้มากขึ้นและเด่นชัดเจนขึ้นที่ระดับสูงขึ้นไปทำให้พรรณไม้ ต้นขนาดใหญ่ค่อยหมดไปในระดับนี้

ป่าเต็งรัง พรรณไม้เด่นในป่าเต็งรัง ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง พะยอม เป็นต้น พรรณไม้เด่นอื่น ๆ เช่น คำมอกหลวง คำมอกน้อยยอป่า ประดู่ แดผักหวาน (เป็นต้น พืชพื้นล่างอื่นๆ เช่น เกล็ดปลาช่อ ปรงป่า โคลงเคลง เป็นต้น ซึ่งขึ้นได้ในที่ดินตื้น ค่อนข้างแห้งแล้งเป็นดินทรายหรือลูกรัง พบกระจายทั่วในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว

ป่าดิบแล้ง พบกระจายอยู่ทั่วไปตามพื้นที่เป็นหุบและที่เนินเขา พันธุ์ไม้เด่นอาทิ ยางแดง ยางหมอก และปอขี้แฮด พรรณไม้รองที่พบทั่วไปได้แก่ มะกอกป่า มะส้าน เลียงมัน แคหางค่าง เลือดกวาง และขมิ้นต้น ที่พบขึ้นกระจายอยู่ทั่วไปตามริมห้วยในที่ต่ำมีความชื้นสูงได้แก่ ไผ่หก และไผ่บงดำ นอกจากนี้ยังมีปรงต้นขนาดใหญ่ อยู่ตามป่าโปร่งและเนินเขาพื้นล่างทั่วไปในที่ชุ่มชื้นจะพบ เฟิน กล้วยคอดำ ผักเบี้ยดิน กกคมบาง และหญ้ากาบไผ่ ไม้เลื้อยที่พบมาก อาทิ ลดาวัลย์ จิงจ้อขาว และเครือเดาน้ำ ขึ้นอยู่กระจายอยู่ทั่วไป

ป่าเปิดระดับสูง ที่ระดับสูง 1,900 เมตร จะพบพืชเขตอบอุ่นหลายชนิด โดยเฉพาะไม้พุ่ม ที่พบมาก อาทิ พวงแก้วกุดั่น หรีดเชียงดาว เอื้องดิน กูดผา กุหลาบพันปีเชียงดาว และสุวรรณภา กล้วยไม้ดินและตามร่องหินจะพบมากเป็นกลุ่ม ๆ อาทิกล้วยไม้ในสกุลหวาย ตะขาบขาว สิงโต และสกุลงูเขียว

ทรัพยากรสัตว์ป่า
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สำรวจพบ 150 ชนิด จาก 84 สกุล ใน 27 วงศ์ เป็นสัตว์ป่าสงวน 2 ชนิด คือ เลียงผา และ กวางผา และสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ เช่น เสือลายเมฆ เสือไฟ แมวดาว ค่างแว่นถิ่นเหนือ ลิงภูเขา ลิงอ้ายเงี้ยะ เก้ง เป็นต้น

สัตว์ปีก สำรวจพบ 383 ชนิด จาก 192 สกุล ใน 42 วงศ์ สำหรับนกที่พบและมีสถานะภาพใกล้สูญพันธุ์หรืออยู่ในภาวะถูกคุกคาม ได้แก่ นกกก นกแก๊ก นกกางเขนดง นกตั้งล้อ นกพญาไฟใหญ่ นกกางเขนน้ำ นกขุนทอง นกเปล้าหางแหลม นกกระรางหัวขวาน นกขุนแผนอกส้ม นกกินแมลงป่าอกสีน้ำตาล นกกินแมลงหน้าผากสีน้ำตาล นกขมิ้นท้ายทอยดำ เหยี่ยวภูเขา ไก่ฟ้าหลังขาว นกปรอดโอ่งเมืองเหนือ นกปรอดเหลืองหัวจุก นกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่ นกบั้งรอกใหญ่ นกเขียงคราม นกที่หายากที่สุดซึ่งมีอยู่ในพื้นที่คือไก่ฟ้าหางลายขวาง

สัตว์เลื้อยคลาน สำรวจพบ 91 ชนิด จาก 57 สกุล ใน 15 วงศ์ สัตว์เลื้อยคลานที่นับว่ามีปริมาณไม่มากนัก ได้แก่ เต่าปูลู ตะพาบน้ำ เต่าหก หรือเต่าเหลือง ตะกวด งูจงอาง งูสิง งูเหลือม ตุ๊กแก กิ้งก่าดง กิ้งก่าป่าสีน้ำเงิน เป็นต้น

สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สำรวจในพื้นที่พบในบริเวณแหล่งน้ำ ลำห้วย น้ำตก แอ่งน้ำ ซอกหิน ที่มีความชุ่มชื้น ได้แก่ สภาพป่าดงดิบที่สมบรูณ์ พบ 48 ชนิด จาก27 สกุล ใน 7 วงศ์ และพบว่ามีสัตว์ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ได้แก่ กระท่าง กบ ชนิดอื่นเช่น อึ่งอ่างบ้าน อึ่งขาดำ กบหนองหรือเขียดบัว กบนา พบกระจายอยู่ทั่วไป

ปลาน้ำจืด ตามแหล่งน้ำที่สำคัญของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ได้แก่ ลำน้ำแม่แตง ห้วยแม่แตะ ห้วยแม่เมิน ลำน้ำคอง ห้วยขี้เหล็ก และห้วยแม่ออน เป็นต้น เป็นแหล่งอาศัยของปลาน้ำจืดหลายชนิดจากการสำรวจชนิดปลาจากแหล่งน้ำพบ 25 ชนิด จาก 23 สกุล ใน 11 วงศ์ ชนิดที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ ปลาจาด ปลาขี้ยอก ปลาแม่แปบ ปลาสร้อยเกล็ดถี่ ปลาตะเพียน ปลากด เป็นต้น

แมลง แมลงที่หายากที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่พบ ได้แก่ ด้วงกว่างดาว ด้วงกว่างห้าเขา ด้วงคีมยีราฟ ผีเสื้อกลางคืนหางยาว ผีเสื้อถุงทอง ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ และผีเสื้อที่พบเฉพาะที่ดอยเชียงดาว และคาดว่าอาจสูญพันธุ์แล้วคือ ผีเสื้อภูฐาน หรือผีเสื้อสมิงเชียงดาว

3.เขตรักษาพันธุ์ป่าแม่เลา – แม่แสะ

ความเป็นมา
เมื่อ พ.ศ.2537 ได้มีการสำรวจพื้นที่ทางทิศตะวันตก ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปายฝั่งซ้ายตอนบน อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่ามีทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าที่สำคัญ ได้แก่ ช้างป่า จึงผนวกพื้นที่ 3 ตำบล ของอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน คือ ตำบลโป่งสา ตำบลแม่ฮี้ ตำบลเมืองแปง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้ากับพื้นที่เดิม และเปลี่ยนสถานะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2539 รวมพื้นที่ทั้งหมด 321,250 ไร่ หรือ 514 ตารางกิโลเมตร

ภูมิอากาศ
ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ กลางวันอุณหภูมิเฉลี่ย20 องศาเซลเซียส และกลางคืนอุณหภูมิเฉลี่ย 10 องศาเซลเซียส

ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน กลางวันอุณหภูมิเฉลี่ย 30 องศาเซลเซียส กลางคืนอุณหภูมิเฉลี่ย 25 องศาเซลเซียส

ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – เดือนตุลาคม กลางวันอุณหภูมิเฉลี่ย 25 องศาเซลเซียส และกลางคืนอุณหภูมิเฉลี่ย 20 องศาเซลเซียส

ทรัพยากรป่าไม้
ป่าเต็งรัง พบกระจายตามพื้นที่ตั้งแต่ระดับความสูง 500 – 800 เมตร พรรณไม้เด่นส่วนใหญ่เป็น ไม้วงศ์ยาง (Dipterocarpaceae) ได้แก่ เต็ง รัง พลวง ติ้ว รักใหญ่

ป่าเบญจพรรณ พบกระจายตามพื้นที่ระดับความสูง 500 – 700 เมตร ส่วนใหญ่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพื้นที่ บริเวณลุ่มน้ำแม่สา ห้วยแม่ยะ พันธุ์ไม้เด่นที่พบ คือ สัก ตะเคียนหนู แดง ประดู่ป่า มะกอก ยมหิน งิ้วป่า

ป่าดิบแล้ง พบกระจายตามพื้นที่ปะปนกับป่าดิบเขา ที่ระดับความสูง 800 – 1,000 เมตร มีพันธุ์ไม้เด่น คือ ยางแดง มะม่วงป่า ปอขี้แฮด หำฮอก กระทุ่ม มะซัก เหียง กางขี้มอด พญาสัตบรรณ

ป่าดิบเขา กระจายพันธุ์ตามพื้นที่ที่ระดับความสูง 1,000 – 2,005 เมตร พันธุ์ไม้ประกอบด้วย ทะโล้ พืชวงศ์ก่อ ได้แก่ ก่อเดือย ก่อแป้น ก่อใบเลื่อม ก่อแมงนูน กำลังเสือ

ร่วมแสดงความคิดเห็น