ไฟป่าเขาดอยพระบาท จ.ลำปาง ยังโหมต่อเนื่อง จนท.เหยี่ยวไฟ-เสือไฟ กว่า 150 นาย ร่วมเสริมกำลังเร่งดับสถานการณ์

หลังจากที่ในพื้นที่ จ.ลำปาง ตามบริเวณแนวเขาดอยพระบาท สถานการณ์ไฟป่าได้หวนกลับคืนมาอีกครั้ง นับตั้งแต่เมื่อช่วงค่ำคืนของวันที่ 1 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยไฟป่าได้ขยายวงกว้างกินพื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และยังคงลุกโหมรุนแรงต่อเนื่อง ผ่านข้ามคืนมาจนถึงเช้าวันนี้ (3 มีนาคม 2562) รวมเป็นระยะเวลา 2 คืน 2 วัน แม้ตลอดระยะเวลาที่เกิดสถานการณ์ เจ้าหน้าที่ฯ จะได้เร่งระดมกำลังเดินทางเข้าไประงับเหตุ แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่สามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ และทำการดับไฟป่าลงได้

โดยตั้งแต่เช้าวันนี้ (3 มี.ค. 62) เจ้าหน้าที่ดับไฟจากชุดปฏิบัติการพิเศษควบคุมไฟป่า และเจ้าหน้าที่หน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่า (เหยี่ยวไฟ-เสือไฟ) ในสังกัดกรมป่าไม้, กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ได้สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการฯ ของจังหวัดลำปาง เจ้าหน้าที่จิตอาสากลุ่มเครือข่ายในเขตพื้นที่ รวมอีกกว่า 150 ชีวิต ได้เร่งระดมอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือครบชุดสำหรับดับไฟป่าและทำแนวกันไฟ พร้อมกระเป๋าเป้เสบียงอาหาร รวมถึงอุปกรณ์ที่จำเป็น นำขึ้นรถยนต์กระบะออกเดินทางจากสถานีควบคุมไฟป่าดอยพระบาท-ม่อนพญาแช่ อำเภอเมืองลำปาง กระจายกำลังเข้าไปยังบริเวณแนวเชิงเขาดอยพระบาทตามจุดต่างๆ เพื่อจะร่วมสมทบกับกำลังเจ้าหน้าที่ชุดเหยี่ยวไฟ-เสือไฟ อีกกว่า 80 นาย ที่ได้เข้าพื้นที่ปฏิบัติการดับไฟป่าไปก่อนหน้านี้

ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ ทราบว่าไฟป่าที่กำลังโหมลุกไหม้ในขณะนี้ ยังมีสถานการณ์รุนแรงอยู่ตามบริเวณเขตพื้นที่ป่า ด้านหลังศาลากลางจังหวัด หลังวัดม่อนพญาแช่ หลังชุมชนอิวเมี่ยน และสถานีทวนสัญญาณโทรทัศน์ ช่อง 3 ช่อง 5 โดยจุดที่เกิดไฟป่าอยู่นั้นส่วนใหญ่เป็นจุดที่อยู่บนเขาสูงชัน และเป็นป่าลึกทำให้การเข้าไปปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฯ เป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องใช้วิธีการเดินเท้าเพียงอย่างเดียว ซึ่งกว่าจะเข้าไปถึงจุดที่เกิดเหตุได้ ต้องใช้เวลานานมากกว่า 2 ชั่วโมง ในขณะที่กำลังเจ้าหน้าที่มีจำกัด แต่เพลิงได้ลุกลามกินพื้นที่ป่ากว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ต่างได้เร่งเข้าทำการดับไฟป่าอย่างต่อเนื่อง ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าปฏิบัติการทั้งด้านบนและด้านล่างของแนวเขา

โดยการปฏิบัติงานครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ร่วม เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งการใช้ “โดรน” ขึ้นบินตรวจดูสภาพพื้นที่และคำนวณหาพิกัดจุดการเกิดไฟป่า ผ่านโปรแกรม Google Earth เพื่อจะได้ช่วยในการวางแผนจัดกำลังพลเข้าจุดพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนได้นำเทคโนโลยี GPS Tracker มาช่วยในการติดตามและนำทางแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้การเข้าถึงจุดเกิดไฟป่าเป็นไปได้อย่างแม่นยำ รวมถึงยังเป็นเครื่องมือที่จะสามารถช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ ที่เดินทางหลงป่าได้อีกทางหนึ่งด้วย
โดยล่าสุดในการปฏิบัติการครั้งนี้ ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำเครื่องเฮลิคอปเตอร์เข้ามาช่วยเหลือปฏิบัติการโปรยน้ำทางอากาศ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานดับไฟป่าภาคพื้นดินในจุดที่เจ้าหน้าที่ฯ ไม่สามารถเดินเท้าเข้าไปได้ถึงแล้ว

อย่างไรก็ตามในการปฏิบัติงานยังคงมีปัญหาอุปสรรค ทั้งในเรื่องของสภาพพื้นที่ที่เป็นหุบเหวลึก และปัญหาทิศทางลมที่มีการพัดเปลี่ยนทิศอยู่ตลอดเวลาจนไม่สามารถควบคุมและจำกัดพื้นที่ของไฟป่าไว้ได้ ซึ่งในส่วนนี้ทางเจ้าหน้าที่ฯ ได้เตรียมใช้วิธีการขั้นเด็ดขาดด้วยการทำ “แนวดำ” คือ การทำแนวกันไฟป้องกันพื้นที่ที่ยังไม่เกิดไฟไหม้ ด้วยการจุดไฟเผากำจัดเชื้อเพลิงในฝั่งพื้นที่ที่เกิดเพลิงไหม้ เพื่อไม่ให้ไฟลามข้ามพื้นที่มายังจุดที่ยังไม่ได้รับความเสียหาย โดยคาดว่าสถานการณ์ไฟป่าอาจต้องยืดเยื้อกินเวลาออกไปอีก 1-2 วัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น