“เชื้อรามูลนกพิราบ” เสี่ยงโรคคริปโตคอกโคสิส ทำเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

จากการประกาศ ห้ามให้อาหารนกพิราบบริเวณถนนประตูท่าแพ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวกลางเมืองเชียงใหม่ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน พบว่า ยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวบางส่วนที่ฝ่าฝืนให้อาหารนกพิราบอยู่ ทำให้นกพิราบยังคงอาศัยอยู่บริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาบอกถึงอันตรายที่มากับนกพิราบ ที่ยังคงเป็นภัยเงียบคืบคลาน ซึ่งเป็นภัยใกล้ตัวที่ใครหลายคนมักมองข้าม

กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชน โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หลีกเลี่ยงนกพิราบและบริเวณที่นกอาศัยอยู่ หรืออยู่ใกล้กรงนก ลดความเสี่ยงโรคคริปโตคอกโคสิสจากการติดเชื้อราในมูลนก

โรคคริปโตคอกโคสิส คืออะไร

“โรคคริปโตคอกโคสิส” หรือเรียกอีกอย่างว่า “โรคเชื้อรามูลนก” คือ โรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อราคริปโตคอกคัส นีโอฟอร์แมนส์ (Cryptococcus neoformans) ซึ่งส่งผลให้เสียชีวิตได้ การติดเชื้อราชนิดนี้มักก่อโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบซึ่งพบมากในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

ซึ่งการติดเชื้อราคริปโตคอกคัส นีโอฟอร์แมนส์ นั้นพบว่า มีนกเป็นพาหะนำโรค ที่อยู่ในมูลนก โดยเฉพาะในมูลของนกพิราบและในมูลนกอื่น ๆ ตามที่สาธารณะ เกาะเสาไฟ เพดานบ้าน หรือในกรงที่เลี้ยงไว้ นอกจากนี้ ในนกพิราบยังมีแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “คลามัยเดีย” ที่ทำให้เกิดอาการปอดบวมได้อีกด้วย

สาเหตุของการติดเชื้อ

โรคเชื้อราจากมูลนก ที่มาพร้อมกับนกพิราบนั้น มาจากเชื้อราที่อยู่ในมูลของนกพิราบ  เป็นแหล่งที่มาของโรคต่าง ๆ มากมาย และสามารถติดเชื้อในคนได้โดยได้หากมีการสัมผัสมูลนกพิราบ หรือจากการหายใจและสูดดมเชื้อเข้าสู่ร่างกาย

อาการเมื่อติดเชื้อ

หากสูดดมเข้าไปในร่างกายจะทำให้ติดเชื้อที่ปอด ทั้งยังสามารถลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น สมอง ได้อีกด้วย ซึ่งจะมีอาการไข้ ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก มีปัญหาทางการมองเห็น มึนงง หากมีการติดเชื้อที่สมองจะมีอาการสับสน และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป และอาจไม่ใช่เฉพาะมีอาการปอดอักเสบ แต่เชื้ออาจลามไปทำลายสมองของเราได้อีกด้วย

ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคเชื้อรามูลนก

โดยส่วนมากเชื้อชนิดนี้จะติดต่อในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอ่อนแอ ผู้สูงอายุ และเด็ก ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าคนปกติถึง 1,000 เท่า เช่น คนที่ได้รับยากดภูมิ หรือในคนที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอตั้งแต่กำเนิด ขณะเดียวกันในคนที่มีภูมิคุ้มกันปกติก็สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน แต่เพราะมีภูมิต้านทานโรคที่สมบูรณ์ก็อาจช่วยควบคุมไม่ให้เกิดโรคได้

วิธีป้องกันติดเชื้อรามูลนก

  1. คนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ไม่ควรเข้าไปใกล้นกพิราบ เพราะอาจได้รับเชื้อในมูลเข้าสู่ร่างกายโดยไม่ได้ตั้งใจ
  2. สำหรับคนที่มีภูมิคุ้มกันปกติ เมื่อเข้าใกล้นกพิราบควรใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการสูดเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
  3. หลีกเลี่ยงนกพิราบและบริเวณที่นกอาศัยอยู่ หรืออยู่ใกล้กรงนกที่ไม่ได้ทำความสะอาด เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อรามูลนก
  4. สวมผ้าปิดจมูกและปากเมื่อต้องทำความสะอาดอาคารเก่า หรือบริเวณที่นกอาศัยอยู่
  5. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
  6. ไล่นกพิราบไม่ให้มาอาศัยอยู่ในบ้าน เช่น การกั้นด้วยตาข่าย การใช้เข็มขัดรัดสายไฟมัดที่ระเบียงที่นกชอบเกาะ กำจัดรังนก เป็นต้น

สรุป

ปัญหานกพิราบที่มีจำนวนมากยังคงเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจช่วยกันแก้ไขต่อไป เพื่อความสะอาดสวยงามของบ้านเมือง และควรระวังไม่ให้เกิดโรคกับตัวเอง เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ทั้งนี้ ไม่ควรฝ่าฝืนกฎหมายในเรื่องของการให้อาหารนกพิราบบริเวณเขตที่ห้ามให้อาหารสัตว์ ซึ่งหากใครฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุดถึง 25,000 บาท

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ร่วมแสดงความคิดเห็น