กรมควบคุมโรค เตือน 10 เมนูควรระวังช่วงหน้าร้อน เสี่ยงโรคอาหารเป็นพิษ แนะยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด”

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือน 10 เมนูที่ควรระวังในช่วงหน้าร้อน เสี่ยงป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย แนะยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ด้วยความร้อน หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ หากอาหารมีกลิ่นผิดปกติ ไม่ควรรับประทาน

วันนี้ (6 มีนาคม 2562) นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนี้ จะทำให้เชื้อโรคหลายชนิด เจริญเติบโตได้ดี และอาจทำให้อาหารบูดเสียได้ง่ายกว่าปกติ ส่งผลให้ประชาชนมีความเสี่ยง ที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอาหารเป็นพิษ ในช่วงนี้จึงขอแนะนำให้ประชาชน ระมัดระวังในเรื่องการรับประทานอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ

ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–24 กุมภาพันธ์ 2562 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จำนวน 17,651 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยกลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 15–24 ปี รองลงมา คือ 25–34 ปี และอายุมากกว่า 65 ปี ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ อุบลราชธานี ตราด ลำพูน ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ตามลำดับ

นพ.อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า โรคอาหารเป็นพิษเกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนพิษของเชื้อ แบคทีเรีย ไวรัส และพยาธิฯ ที่มากับอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารไม่สะอาด และอาหารที่ปรุงไว้นาน ไม่ได้แช่เย็นหรือนำมาอุ่นก่อน ประกอบกับในช่วงนี้ อากาศที่ร้อนทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีและเพิ่มมากขึ้น สำหรับอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ ที่ประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ 10 เมนู ได้แก่ 1) ลาบ/ก้อยดิบ 2) ยำกุ้งเต้น 3) ยำหอยแครง/ยำทะเล

4) ข้าวผัดโรยเนื้อปู 5) อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด 6) ขนมจีน 7) ข้าวมันไก่ 8) ส้มตำ 9) สลัดผักที่มีธัญพืช และ 10) น้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเมนูอาหารเหล่านี้ ควรรับประทานเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ ขอให้หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ นอกจากนี้ อาหารกล่องควรแยกกับ ข้าวออกจากข้าว ควรรับประทานภายใน 2-4 ชั่วโมง หลังจากปรุงเสร็จ และหากมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทาน

สำหรับการป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ก่อน-หลังการเตรียมอาหาร และหลังขับถ่าย อาการของโรคคือ พะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องแบบบิดเกร็งเป็นพักๆ ถ่ายอุจจาระ ปวดหัว คอแห้งกระหายนํ้า และอาจมีไข้ร่วมด้วย เป็นต้น ในการช่วยเหลือเบื้องต้น ให้จิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ร่วมแสดงความคิดเห็น