กรมควบคุมโรค เตือน 7 โรค 3 ภัยสุขภาพ ที่ประชาชนควรระมัดระวังในช่วงฤดูร้อน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศกรมควบคุมโรค เตือนประชาชนให้ระมัดระวังการเจ็บป่วยด้วยโรคและภัยสุขภาพในช่วงฤดูร้อนปีนี้ ขอให้เน้นดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองจาก 5 กลุ่มโรคและภัยสุขภาพที่สำคัญ ประกอบด้วย 7 โรคติดต่อ 3 ภัยสุขภาพ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย โรคไข้เลือดออก และโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนภัยสุขภาพและผลกระทบ ได้แก่ การเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน ปัญหาหมอกควัน และการจมน้ำ

วันนี้ (8 มีนาคม 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว อากาศจะร้อนอบอ้าว กรมควบคุมโรค มีความห่วงใยสุขภาพของประชาชน และเพื่อให้ระมัดระวังการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้น จึงออกประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งโรคและภัยสุขภาพที่มีแนวโน้มจะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในฤดูร้อน แบ่งเป็น 5 กลุ่มคือ 1.โรคและภัยสุขภาพที่เกิดจากอากาศร้อนโดยตรง 2.โรคและภัยสุขภาพที่เป็นผลจากอากาศร้อนแล้งและแดดจ้า 3.โรคติดต่อที่พบมากขึ้นในฤดูร้อน ได้แก่ 1) โรคอุจจาระร่วง 2) โรคอาหารเป็นพิษ 3) โรคบิด 4) อหิวาตกโรค 5) ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย 4.โรคติดต่อที่มีรายงานระบาดต่อเนื่อง ได้แก่ 1) โรคไข้เลือดออก 2) โรคพิษสุนัขบ้า และ 5.ภัยสุขภาพในฤดูร้อน ได้แก่ การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจมน้ำ

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กลุ่มที่ 1 โรคและภัยสุขภาพที่เกิดจากอากาศร้อนโดยตรง ได้แก่ การเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน ซึ่งการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ พบได้บ่อยในผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน เช่น เล่นกีฬา และฝึกทหาร เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัด ปวดศีรษะ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดลง และอาจเสียชีวิตได้ จึงขอแนะนำให้ งดหรือเลี่ยงออกกำลังกาย ทำงานหรือกิจกรรมกลางแดดจ้าเป็นเวลานาน ถ้าอยู่ในสภาพอากาศร้อนควรดื่มน้ำให้ได้ 1 ลิตร/ชั่วโมง สวมเสื้อผ้าที่ระบายเหงื่อได้ดี ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เฝ้าระวังและดูแลเด็กเล็ก ผู้สูงวัย ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ป่วยเรื้อรังอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงอาจเสียชีวิตได้ง่าย หากพบผู้มีอาการเจ็บป่วยจากภาวะอากาศร้อน ควรให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยให้ดื่มน้ำเย็นและเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น ให้อยู่ในที่ระบายอากาศที่ดี ถ้ามีอาการรุนแรง หมดสติ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

กลุ่มที่ 2 โรคและภัยสุขภาพที่เป็นผลจากอากาศร้อนแล้งและแดดจ้า ได้แก่ ผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาหมอกควัน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประชาชนมีความเสี่ยงเจ็บป่วยจาก 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตาอักเสบ และโรคผิวหนังอักเสบ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีการป้องกันเช่น ปิดประตูหน้าต่างบ้านให้มิดชิด หมั่นทำความสะอาดบ้าน สวมหน้ากากป้องกัน ไม่เผาขยะ ไม่เผาป่า ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และสังเกตหากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจมีเสียงวี๊ด แน่นหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ วิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

กลุ่มที่ 3 โรคติดต่อที่พบมากขึ้นในฤดูร้อน ประกอบด้วย 5 โรคสำคัญ ได้แก่ 1) โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆ เข้าไป เช่น แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว และหนอนพยาธิ เป็นต้น อาการสำคัญคือ ถ่ายอุจจาระเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายเป็นมูกเลือด อาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย โดยอาการมีตั้งแต่เล็กน้อยถึงอาการรุนแรง เกิดอาการช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้ 2) โรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน เช่น โรงเรียน วัด เป็นต้น มักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆดิบๆ นมที่ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ รวมถึงอาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ อาหารที่ไม่ได้อุ่นก่อนรับประทาน 3) โรคบิด เกิดจากเชื้อบิดซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียหรืออะมีบา ติดต่อโดยการรับประทานอาหาร ผักดิบ หรือน้ำดื่มที่มีเชื้อเหล่านี้ปนเปื้อน อาการสำคัญคือ ถ่ายอุจจาระบ่อย อุจจาระมีมูกเลือดปน ปวดเบ่งคล้ายอุจจาระไม่สุด มีไข้ ในบางรายอาจมีอาการเรื้อรังแบบนี้ได้ 4) อหิวาตกโรค เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ติดต่อจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป อาการคือถ่ายอุจจาระเป็นน้ำครั้งละมากๆ หรือถ่ายอุจจาระเหลวสีคล้ายน้ำซาวข้าว มักไม่มีอาการปวดท้อง อาจมีอาเจียนร่วมด้วย 5) ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย เกิดจากเชื้อไทฟอยด์ ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย สามารถติดต่อได้โดยรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ อาการสำคัญคือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาจมีอาการท้องผูกหรือบางรายอาจมีอาการท้องเสียได้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เรื้อรังหรือพาหะนำโรคจะมีเชื้อปนออกมากับอุจจาระและปัสสาวะเป็นครั้งคราว ถ้ามีสุขนิสัยไม่ถูกต้อง เมื่อไปประกอบอาหารจะสามารถแพร่เชื้อไทฟอยด์ไปสู่ผู้อื่นได้ คำแนะนำในการป้องกันทั้ง 5 โรค มีดังนี้ 1.ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง 2.รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารค้างมื้อควรเก็บในตู้เย็นหรือเก็บมิดชิด และต้องอุ่นก่อนรับประทาน 3.ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก หรือน้ำบรรจุขวดที่ได้รับการรับรองจาก อย. 4.กำจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูลรอบๆ บ้าน และถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า กลุ่มที่ 4 โรคติดต่อที่มีรายงานการระบาดอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1) โรคไข้เลือดออก ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ในปี 2561 ที่ผ่านมามีผู้ป่วย 85,849 ราย เสียชีวิต 111 คน ซึ่งในปีนี้ก็ต้องเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี มียุงลายเป็นพาหะ อาการคือไข้สูงลอย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน บางรายมีจุดแดงที่ผิวหนัง ตับโต กดเจ็บบริเวณชายโครงด้านขวา อาจมีภาวะเลือดออก เกิดภาวะช็อก การไหลเวียนของเลือดล้มเหลว การป้องกันคือใช้มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้านให้สะอาด เก็บขยะเศษภาชนะที่อาจมีน้ำขัง และเก็บภาชนะใส่น้ำปิดฝาให้มิดชิด เพื่อป้องกัน 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย 2) โรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากการรับเชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิด ส่วนใหญ่เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลที่สัตว์กัดหรือข่วน วิธีการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าด้วย “คาถา 5 ย.” คือ อย่าแหย่ให้สัตว์โมโห อย่าเหยียบบริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์ อย่าแยกสัตว์ที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบอาหารขณะสัตว์กำลังกิน และอย่ายุ่งกับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย เพราะสัตว์เหล่านี้อาจกัดหรือข่วนได้ หากถูกสัตว์ที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า กัด ข่วน หรือเลียตามบาดแผล ให้รีบล้างแผล ใส่ยา ไปพบแพทย์ และกักสัตว์ไว้ดูอาการ 10 วัน

และ 5.ภัยสุขภาพในฤดูร้อน ได้แก่ การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจมน้ำ โดยการคาดการณ์สถานการณ์จมน้ำ พบว่ายังมีความเสี่ยงของการจมน้ำสูงเหมือนทุกปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน (มี.ค.-พ.ค.) เป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด ประมาณ 1 ใน 3 ของการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กตลอดทั้งปี มาตรการการป้องกันการจมน้ำ ในเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 5 ปี) ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นตามลำพัง แม้เพียงชั่วขณะ หลักในการช่วยเหลือคนตกน้ำ คือ “ตะโกน โยน ยื่น” ตะโกนให้ผู้ใหญ่มาช่วย และโทร 1669 โยนหรือยื่นอุปกรณ์ เพื่อช่วยเหลือคนจมน้ำ เช่น ขวดพลาสติก ห่วงชูชีพ อุปกรณ์ที่ผูกไม้ เป็นต้น

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้จัดทำประกาศแจ้งเตือนให้ระมัดระวังโรคและภัยสุขภาพไปยังหน่วยงานในพื้นที่ ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่ง และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง พร้อมเตรียมภารกิจในการดูแลประชาชน ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคในพื้นที่ 2.การควบคุมโรคในกรณีถ้ามีการระบาดของโรคติดต่อ กรมควบคุมโรค มีทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เข้าไปดำเนินการสอบสวน ควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ และ 3.การสื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์ความรู้แก่ประชาชน หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ร่วมแสดงความคิดเห็น