เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ตำนานทหารเอกแห่งแผ่นดินล้านนา

เรื่องราววีรกรรมที่ปรากฏผ่านอนุสาวรีย์ หรือสถานที่กราบไหว้เซ่นสรวงในต่างจังหวัดนั้น อาจมีประวัติศาสตร์ที่สืบค้นหาข้อเท็จจริงได้ และอาจเป็นเพียงตำนาน เรื่องเล่าสืบต่อกันมา สังคมมนุษย์ทั่วทุกมุมโลก มีจินตภาพในแง่มุมสิ่งเหนือธรรมชาติเสมอ บางตำนานเชื่อมโยงกันแบบไร้พรมแดน

ในภาคเหนือตอนบน 3 จังหวัด มีรูปหล่อ มีอนุสาวรีย์ มีศาลเจ้าให้ผู้คนกราบไหว้บูชา เซ่นสรวง ใน จ.เชียงใหม่, ลำปาง และแม่ฮ่องสอน มีบันทึกเกี่ยวกับ วีรกรรม ทหารเอก ซึ่งกระตุ้นนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ให้สืบสาวราวเรื่องที่เป็นมากกว่าตำนาน เฉพาะในเชียงใหม่ มีอุทยานวีรกรรมเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ศาลเจ้าพ่ออยู่ที่ อ.ฝาง, ในเขตเมือง อยู่ใกล้ ๆ เรือนจำหญิงเดิม และบริเวณเส้นทางไป บ.ป่าตัน เลียบแม่น้ำปิง

ประวัติที่บอกเล่า ในแต่ละสถานที่ ประดิษฐานรูปหล่อ “เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก” อ้างอิงถึงตำนาน เรื่องเล่าร่วม ๆ 5 ตำนาน เหตุที่เรียกชื่อ “เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก” เพราะมีลักษณะการแต่งกายใช้ 2 ดาบเป็นอาวุธ มีปลอกเหล็กหุ้มข้อมือทั้ง 2 ต่างโล่

ในตำนานเวียงฝาง ครั้งเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรล้านนา ที่มีเชียงใหม่ เป็นเมืองหลวงระบุว่า ท่านคือ ทหารเอกคู่ขวัญเจ้าเมืองฝาง ได้ต่อสู่กับข้าศึก ผู้รุกรานเมือง ด้วยความหาญกล้า วีรกรรมเลื่องลือ ขจรไกล แม้สิ้นไป วิญญาณยังคงสิงสถิต ปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด

อีกตำนานอ้างอิงจากเอกสาร”ผีเจ้านาย”ผนวกกับคำบอกร่างทรงที่เล่าว่า บุเหลง, เหล็ก และเพชรเกิดที่พิษณุโลก ย้ายตามบิดามารดามาเติบโตที่พิจิตร มีโอกาสถวายตัวเป็นไพร่พล จนก้าวเป็นทหารกล้า กรำศึก ปกป้องเมืองปัว นครน่าน จรด เวียงฝาง เมื่อสิ้นไป กลายเป็นเทวดาดูแลคุ้มครองพื้นที่เขตอำเภอฝาง ชาวฝาง เชื่อว่า จะทำการใด ๆ ต้องบวงสรวง เซ่นไหว้ ขออนุญาต ทุกๆปีจะมีพิธีกรรม งานบวงสรวง สักการบูชา

เรื่องเล่าในตำนานพื้นเมืองยังโยงถึงสมัยพระยาหมื่นคื่น ปกครองเมืองก๊ะ สันนิษฐานว่าอยู่ใกล้ ๆ บ่อน้ำมัน บริเวณหมู่บ้านแม่คะปัจจุบันมีภรรยาชื่อ ธรรมเนียม มีบุตรธิดา 12 คน และ “เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก” เป็นบุตรชายคนที่ 2 เมื่อครั้งทัพพม่า มาตีเมืองใหญ่น้อยในภาคเหนือ จนถึงเมืองก๊ะ ได้ร่วมสู้รบในฐานะราชบุตรด้วยความกล้าหาญ จนถูกเชิดชูให้เป็น ขุนศึกแห่งเมืองก๊ะ

นอกจากนั้น ยังเล่าถึงครอบครัวสามัญชนชื่อน้อย บ้านเดิมอยู่บ้านลานดอกไม้ เมืองตากเป็นนักรบสมัยเจ้าฟ้าสะท้านปกครองเชียงใหม่ ลำพูน เป็นจินตนิยายเชิงชิงรักหักสวาทที่สามัญชนเอื้อมเด็ดดอกฟ้า จนมีบุตรชายกลายเป็นผู้กล้า ปกป้องแผ่นดินแม่ บ้างก็เล่าว่าเจ้าพ่อคือ พระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เป็นน้องของพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ที่น่าสนใจอีกบันทึกคือ ตำนานพญามือเหล็กหรือเจ้าพ่อประตูผา ยอดขุนพลของเจ้าลิ้นก่าน กษัตริย์เขลางนคร ราวๆปี พ.ศ. 2251-2275สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แคว้นลานนาไทยตกภายใต้อิทธิพลของพม่า วีรกรรมที่ พญามือเหล็ก สร้างระบือเกียรติคุณ แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล่า ที่ไม่มีบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่ ชาวลำปางได้ตั้งศาลขึ้นบูชา และช่วง 20-25 เม.ย. ของทุกปี จะมีประเพณีบวงสรวง มีการจัดขบวนสักการะยิ่งใหญ่

สำหรับศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็กที่แม่ฮ่องสอน อ้างอิงตำนานครั้งพระเจ้าอินทรวิชานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2417 แต่งตั้ง ชานกะเล เป็นพญาสิงหนาทราชาปกครองเมืองแม่ฮ่องสอน ต่อมา 2 ปี ได้ไปอัญเชิญเจ้าพ่อหน่อคำแดง เจ้าเมืองแห่งเชียงใหม่ มาปกปักรักษาให้ประชาชนเคารพนับถือ เพื่อให้เมืองมีความผาสุกเป็นองค์ที่ 1 เจ้าพ่อชูลายเป็นองค์ที่ 2 และเจ้าพ่อข้อมือเหล็กเป็นองค์ที่ 3 และมีเจ้านางอีกหลายนางประทับอยู่ในศาลเจ้าที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2419 ด้วย

ทั้งนี้ความเชื่อดั้งเดิมของผู้คนในแผ่นดินล้านนา มีความศรัทธากับอำนาจผี สิ่งเหนือธรรมชาติ ตั้งแต่อดีต จวบจนปัจจุบัน ไม่อาจลบเลือนหายไป เป็นหนึ่งในวิถีชีวิตที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น กราบไหว้ เซ่นสรวง บูชาเพราะในเมื่อ ศรัทธา บูชา กราบไหว้แล้วประสบสุข ” เจ้าพ่อข้อมือ เหล็ก” ยังคงสถิตอยู่ในใจชาวบ้าน ชาวเมืองดุจ” เทพเทวดา”…ตลอดกาล

ร่วมแสดงความคิดเห็น