งานประเพณีปอยส่างลอง มนต์เสน่ห์ของศิลปะ ประเพณี วัฒนธรรม อันล้ำค่าและยิ่งใหญ่ของชาวไทใหญ่

งานประเพณีปอยส่างลอง หรืองานประเพณีบวชลูกแก้ว เป็นประเพณีที่สำคัญทางศาสนาและเป็นเอกลักษณ์สำคัญ นับเป็นมนต์เสน่ห์ด้านศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีอันล้ำค่าและยิ่งใหญ่ของชาวไทใหญ่ มีกำหนดจัดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนเมษายน

งานประเพณีปอยส่างลอง มีบ่อเกิดประเพณีว่า เมื่อครั้งพุทธกาลนั้น พระพุทธเจ้าได้ขึ้นไปโปรดพระมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อจะเสด็จกลับลงมาเมืองมนุษย์ ก็มีเทพ 4 ตนเป็นเทวดา 2 ตน นางฟ้า 2 ตน ลงตามมาด้วย เพราะอยากเห็นบ้านเมืองของมนุษย์มาก เนื่องจากว่าคิดว่าบ้านเมืองมนุษย์นั้น ต้องสนุกสนานมาก เพราะจะมีงานต้อนรับพระมารดาของพระพุทธเจ้า ดังนั้น เทพทั้งสี่จึงได้แต่งกายสวยงาม สวมชฎามงกุฎ แล้วได้ฟ้อนรำร่วมกันกับมนุษย์ เพราะฉะนั้น ถ้ามีงานปอยส่างลอง จึงให้ส่างลอง แต่งกายอย่างสวยงาม มีการนำชฎามาสวมใส่ให้แก่ผู้บวชอย่างสวยงาม ตามที่ตำนานได้กล่าวมา

งานประเพณีปอยส่างลอง เพื่อทำการบรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา โดยจะพบเห็นการจัดงานประเพณีปอยส่างลองกันมากที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมือง อำเภอขุนยวม และอำเภอปาย ชาวไทใหญ่ได้ร่วมกันสืบทอดงานประเพณีนี้มาเป็นเวลาช้านาน ดังปรากฏหลักฐานว่าประเพณีนี้ มีมาตั้งแต่มีการสร้างแปลงเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ทุกปี

สำหรับขั้นตอนการจัดงานปอยส่างลองนั้น ก่อนที่จะถึงวันประเพณีปอยส่างลองหนึ่งวัน เด็กผู้ชายทุกคนที่เข้าร่วมประเพณีนี้ จะต้องปลงผมและอาบน้ำให้สะอาดที่สุด และเจิมด้วยน้ำหอมเพื่อให้มีกลิ่นหอม

วันแรกของปอยส่างลอง หรือ” วันรับส่างลอง” ตั้งแต่เวลาเช้าตรู่ พ่อแม่ ผู้ปกครองจะนำเด็กชายไปแต่งกายด้วยชุดเสื้อผ้าเครื่องประดับต่างๆ อย่างอลังการ นอกจากนั้นก็ยังมีการแต่งหน้าแต่งตาด้วยสีสันที่จัดจ้านให้ส่างลอง (ลูกแก้ว) ดูสวยงามมีสง่าราศีเหนือคนทั่วไป จากนั้นก็จะเป็นขบวนแห่ลูกแก้วเหล่านั้นไปเยี่ยมญาติๆ เพื่อไปทำแสดงความเคารพนับถือและรับศีลรับพร ขบวนแห่ส่างลองจะบรรเลงด้วยม้องเซิ้ง (ฆ้องชุดของไต) ฉาบและกลอง สร้างความครึกครื้นควบคู่กับภาพตะแปส่างลองที่แต่งองค์งดงามทยอยเดินเป็นขบวน

วันที่สองของปอยส่างลอง เรียกว่า วันแห่โคหลู่ หรือวันแห่เครื่องปัจจัยไทยทาน มีการแห่ส่างลองกับขบวนเครื่องไทยทานจากวัดไปตามถนนสายต่างๆ โดยให้ส่างลองขี่คอพี่เลี้ยง มีร่มทองหรือ “ทีคำ” บังแดด ช่วงเย็น มีพิธีฮ้องขวัญส่างลอง หลังจากเสร็จพิธีฮ้องขวัญ พ่อแม่ผู้ปกครองจะเลี้ยงอาหารส่างลองด้วยกับข้าว 12 อย่าง โดยพ่อแม่จะต้องป้อนข้าวและกับทั้ง 12 อย่างให้ครบ โดยในช่วงเย็นจะมีการข่ามแขก หรือรับแขก บรรดาญาติมิตรของส่างลองจะมาร่วมอำนวยพรให้ส่างลอง

วันที่สาม วันหลู่ หรือเป็นวันบรรพชาสามเณรและถวายเครื่องปัจจัยไทยทานแก่พระ ภิกษุสงฆ์ ส่างลองทั้งหมดจะเข้าพิธีเพื่อขออนุญาตทำการบรรพชาจากพระผู้ใหญ่ อาราธนาศีล แล้วจึงเปลี่ยนเครื่องแต่งกายจากชุดส่างลองมาเป็นผ้าไตร เพื่อเป็นสามเณรอย่างสมบูรณ์ โดยส่างลองแต่ละคนอาจบวชประมาณ 15 วัน หรือ 1 เดือน

ประเพณีปอยส่างลอง ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี 2561 เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญของชาติและเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนให้เกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตน รวมทั้งเป็นการปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ นำไปสู่การสร้างความรู้ความเข้าใจ เห็นคุณค่า และยอมรับในความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นการส่งเสริมรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

ร่วมแสดงความคิดเห็น