“ป่าชุมชน” ผืนป่าของชาวบ้าน

ปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้และที่ดินทำกินในเขตป่า ระหว่างชุมชนกับรัฐมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 150 ปี ก่อนที่จะมีการจัดตั้งกรมป่าไม้และก่อนการประกาศใช้กฏหมายป่าไม้ฉบับต่าง ๆ สาเหตุหนึ่งของความขัดแย้งเกิดจาก รัฐใช้กฏหมายและนโยบายเป็นกลไกในการอ้างอำนาจเข้าควบคุมทรัพยากร ซึ่งกฏหมายและนโยบายทั้งหมดล้วนถูกกำหนดขึ้นโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คนไทยให้ความสนใจต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรมากยิ่งขึ้น แต่การจัดการทรัพยากรยังคงเน้นที่การขยายฐานอำนาจให้ภาครัฐในการเข้าควบคุมทรัพยากร ขณะที่คนในท้องถิ่นกำลังถูกริดรอนสิทธิ ถูกกีดกันการเข้าถึงทรัพยากร หลายต่อหลายครั้งเจ้าหน้าที่รัฐกลายเป็นคู่ขัดแย้งและเผชิญหน้ากับชาวบ้าน โดยใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือในการแย่งยึดสิทธิการจัดการทรัพยากรจากชาวบ้าน โดยเฉพาะในช่วง 7 – 8 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่รัฐมีนโยบายขยายพื้นที่อนุรักษ์ให้ได้ 25 % ของพื้นที่ทั้งประเทศ ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตป่ามาก่อน โดยเฉพาะชุมชนในภาคเหนือและอีสาน

ในทัศนะของชาวบ้าน “ป่า” ไม่ได้หมายถึงเนื้อไม้เท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อชุมชนทั้งในด้านความเชื่อ พิธีกรรม อาหาร ยาสมุนไพร ไม้ใช้สอย การเลี้ยงสัตว์รวมถึงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำสำหรับการเพาะปลูกด้วย ดังนั้นป่า ดิน น้ำ จึงมีความเชื่อมโยงและเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญ เป็นต้นกำเนิดของความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรมและความเป็นชุมชน ชุมชนแต่ละแห่งมีแนวทางจัดการป่าที่แตกต่างกันไป ทั้งเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม ประเพณี วัฒนธรรม แต่มีเป้าหมายที่ไม่แตกต่างกัน นั่นคือ ความมั่นคงและยั่งยืนของชุมชนและระบบนิเวศ

คำว่า “ป่าชุมชน” เป็นศัพท์ใหม่สำหรับชาวบ้าน ในขณะที่แต่ละชุมชนมีการจัดการป่ามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพียงแต่ชาวบ้านไม่ได้เรียกว่าป่าชุมชนเท่านั้นเอง คำว่าป่าชุมชนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำความเข้าใจกับสังคมและเป็นเหมือนคำจำกัดความกว้าง ๆ ของการจัดการป่าโดยคนในท้องถิ่น ซึ่งสามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ประเภทคือ
1.พื้นที่อาศัย มีการใช้ประโยชน์ เช่น การสร้างบ้านเรือน โบสถ์ วัด โรงเรียน อนามัย
2.พื้นที่ทำกิน ประกอบด้วย ที่นา ที่สวนและที่ไร่
3.พื้นที่ป่าชุมชนเพื่อใช้สอย เช่น ใช้หาฟืน ไม้สร้างบ้าน เครื่องใช้ไม้สอย แหล่งอาหารรวมไปถึงการเก็บสมุนไพร
4.พื้นที่ป่าชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ รวมถึงพื้นที่ป่าตามความเชื่อ พื้นที่ดังกล่าวชาวบ้านจะไม่เข้าไปตัดไม้หรือล่าสัตว์ แต่จะเก็บรักษาพื้นที่นี้ไว้ให้เป็นป่าต้นน้ำลำธารของหมู่บ้าน

นอกจากนั้นชาวบ้านยังให้ความสำคัญกับป่า 3 ประเภท ซึ่งกำหนดขึ้นจากองค์ความรู้ของชุมชนที่มีต่อระบบนิเวศป่า ผ่านการสั่งสมประสบการณ์มาหลายชั่วอายุคน เช่นป่าขุนน้ำ น้ำซึม น้ำซับ น้ำออกรู จะถูกเก็บรักษาไว้ให้เป็นพื้นที่ต้นน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคของคนในชุมชน ห้ามมิให้มีการตัดไม้หรือทำกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ การดูแลรักษาป่ามักจะใช้ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผี ไม่ว่าจะเป็น ผีน้ำ ผีป่า ผีโป่ง ซึ่งได้รับความเคารพยำเกรงในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนั้นยังมีการปลูกฝังผ่านนิทานคำสอน คำกลอน ซอ ทา หรือเรื่องเล่าที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ ความเกรงกลัวต่อผีทำให้ชาวบ้านปฏิบัติต่อป่าอย่างนอบน้อมไม่ล่วงละเมิดหรือทำลาย

ป่าพิธีกรรม มีลักษณะเฉพาะ เช่น กิ่วดอย ที่ดอนมีน้ำไหลล้อมรอบ เป็นพื้นที่ที่ผูกพันกับความเชื่อของชาวบ้าน บางแห่งเป็นพื้นที่สำหรับการประกอบพิธีกรรมตามประเพณี บางแห่งเป็นพื้นที่ที่ห้ามบุคคลเข้าไป

ป่าใช้สอย ส่วนใหญ่จะอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนัก เป็นป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ซึ่งมีอาหารและของป่า ระบบนิเวศมีกระบวนการทดแทนและฟื้นตัวง่าย ชาวบ้านจะใช้เป็นแหล่งอาหาร แหล่งไม้ใช้สอยในชุมชนและพื้นที่เลี้ยงสัตว์ การใช้ประโยชน์จากป่าประเภทนี้ขึ้นอยู่กับกฏเกณฑ์และข้อตกลงของคนในชุมชนบางชุมชนอนุญาตให้ชาวบ้านเก็บหาไม้ และผลผลิตจากป่าได้ตามความจำเป็น แต่บางชุมชนก็อนุญาตให้สมาชิกหาของป่าเพื่อนำไปขายเป็นรายได้ให้กับครอบครัว

อย่างไรก็ตาม ป่าทั้ง 3 ประเภท ไม่ได้แยกออกจากกันโดยเด็ดขาด ในเขตป่าใช้สอยหลายชุมชนมีป่าพิธีกรรมกระจายอยู่เป็นแห่ง ๆ จึงไม่ได้หมายความว่า ป่าที่ถูกแบ่งให้เป็นป่าใช้สอยชาวบ้านจะสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด เช่นเดียวกับพื้นที่ชุมชนก็ไม่ได้แยกการจัดการที่อยู่อาศัย ที่ทำกินและป่าออกจากกัน หากแต่จัดการอย่างเป็นองค์รวม เช่น ในระบบการทำนา นอกจากจะจัดการพื้นที่นาแล้ว ชาวบ้านยังต้องดูแลรักษาป่าหัวไร่ปลายนาและป่าขุนน้ำ เพื่อให้มีน้ำไว้ใช้ในการทำนาโดยไม่ขาดแคลน

จะเห็นได้ว่า แนวทางการจัดการทรัพยากรโดยชุมชนท้องถิ่นนั้น ประกอบไปด้วยความรู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ นำมาสู่การวางแผนในการดูแลรักษาและการใช้ประโยชน์ และมีองค์กรในการควบคุมและตรวจสอบการจัดการทรัพยากรโดยชุมชนท้องถิ่น จึงนับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น