“คุ้มหลวง เวียงแก้วเชียงใหม่” เรื่องราวที่ไม่ถูกเล่าในพงศาวดาร

เรื่องราวที่บอกเล่าต่อๆกันมา ผ่านตำนานพื้นเมือง บันทึกโบราณ หรือแม้แต่พงศาวดารล้วนมีรากฐานชัดเจนว่า “ผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์” เสมอเช่นเดียวกับเรื่องราว “ล้านนา -เชียงใหม่” พงศาวดารโยนกหรือ พงศาวดารสยาม บันทึกประวัติศาสตร์ล้านนาเล่มแรกๆที่มีแบบแผนเชิงประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่พระยาประชากิจกรจักร ข้าหลวงสำรวจเขตแดน หัวเมืองเงี้ยวทั้ง 5 ช่วง พ.ศ. 2432-35 รวบรวมเฉพาะเรื่อง “คุ้มเจ้าหลวง และเวียงแก้ว เชียงใหม่” แทบจะไม่กล่าวถึง มีเนื้อหาสั้นๆ ว่า ” จุลศักราช1158 (พ.ศ.2339 )พระยาเชียงใหม่กาวิละกับญาติพี่น้อง เข้าสู่นิเวศสถานที่อยู่สร้างไว้ภายในนคร “

การค้นหาข้อมูลต้องอาศัยบันทึกชาวต่างชาติที่เข้ามาเมืองเชียงใหม่ สมัย ร.5 ซึ่งตรงกับช่วงสมัยพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงองค์ที่ 6 (พ.ศ. 2399 ) โดยบันทึกของคาร์ล บอค นักสำรวจชาวนอรเวย์ กล่าวถึงคุ้มหลวงพระเจ้าอินทรวิชานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 ว่า คุ้มหลวงตั้งอยู่กลางเมือง มีกำแพงสูงล้อมรอบ ตัวคุ้มเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมไทยเหนือ

บันทึกของเซอร์เออร์เนส ซาโทว ฑูตอังกฤษประจำสยาม อธิบายอีกด้านว่า วังเจ้าหลวงเชียงใหม่เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ปูพรมหรูหราจากบรัสเซลล์ มีของสะสม เป็นกล่องทองคำ เครื่องเขินรวมถึงมงกุฎที่พระเจ้าแผ่นดินสยามพระราชทาน จัดไว้เป็นหมวดหมู่อยู่ในตู้กระจก ” และบันทึกของมร.ปิแอร์ โอร์ต ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลสยาม เล่าถึงคุ้มเจ้าราชวงศ์สุริยะ ภายหลังเป็นเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 8ว่า เป็นคุ้มที่สร้างด้วยไม้ สวยงาม ใหญ่โต

ช่วง พ.ศ. 2444-2452 เริ่มมีการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับคุ้มหลวง ผ่านเอกสารจดหมายเหตุ ดังปรากฎว่า เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษศักดิ์ ผู้บัญชาการเรือนจำมณฑลพายัพได้” ปรึกษากันกับเจ้าอินทวโรรส เอาที่เวียงแก้วสร้างเรือนจำสำหรับเมืองเชียงใหม่ “

ปัจจุบันพื้นที่คุ้มหลวง เวียงแก้ว เป็นสถานที่ตั้งหน่วยงานราชการต่างๆ อาทิ พื้นที่โครงการข่วงหลวงเวียงแก้ว , วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ สนง.โรงงานยาสูบ ทั้งนี้เหตุผลที่ยกคุ้มหลวง สร้างเป็นเรือนจำนั้น ด้วยเจ้าหลวงอินทวิชยานนท์ ได้สร้างคุ้มหลวงใหม่ บริเวณที่ตั้งโรงเรียนยุพราชฯ ทำให้คุ้มเวียงแก้วเดิม ถูกปล่อยทิ้งรกร้าง แม้ปัจจุบัน เรือนจำจะย้ายออกไป และมีความพยายามพัฒนาเป็นข่วงหลวงเวียงแก้ว เชียงใหม่ กว่า 6 ปีล่วงเลยมา ก็ไม่มีความก้าวหน้าใดๆเกิดขึ้น หรือเป็นพื้นที่ต้องห้าม ตามคำเล่าลือกัน

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตในงานชำระประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เชียงใหม่ และ งานค้นคว้าเชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์ของนักวิชาการจำนวนหนึ่ง ระบุว่า งานเขียนประวัติศาสตร์ล้านนานนา เป็นการเลือกนำเสนอ ถ่ายทอดแนวความคิด ความเป็นชาติไทย ในแผ่นดินเดียวกัน

คุ้ม ในภาษาล้านนาหมายถึง ที่ประทับกษัตริย์และที่อยู่เจ้านาย มีคุ้มที่พอสืบประวัติได้ราวๆ 25 คุ้มแบ่งเป็นกลุ่มที่ยังคงได้รับการดูแลรักษาโดยทายาท เช่น คุ้มบุรีรัตน์ (เจ้าหน่อเมือง) กลุ่มที่ทายาทขายให้ผู้อื่น เช่น คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์ คุ้มเจดีย์งาม ปัจจุบันใช้เป็นสถานกงสุลอเมริกันประจำ จ.เชียงใหม่

กลุ่มคุ้มที่ทายาทรื้อถวายวัดเช่น การรื้อคุ้มหลวงของพระเจ้ามโหตรประเทศเจ้าหลวงองค์ที่ 5 (พ.ศ. 2390-2397) ถวายวัดพันเตา คุ้มรินแก้ว คุ้มหลวง ใน พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ, เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์สุดท้าย ตั้งอยู่ที่ถ.ห้วยแก้ว เชียงใหม่ ปัจจุบันถูกรื้อและสร้างอาคารสำหรับเช่าพัก ส่วนคุ้มที่รื้อ เจ้าของได้นำไม้ไปถวายให้วัดในเขตอำเภอสันกำแพง

คุ้มที่ทายาทมอบให้ทางราชการแล้วถูกรื้อเหลือแต่บริเวณ เช่น บริเวณโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) สำนักงานยาสูบเชียงใหม่ ทำการอนุรักษ์ปรับปรุงอาคารใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ บริเวณศาลแขวง

คุ้มที่ทายาทขายผู้อื่นแล้วถูกรื้อไปเหลือแต่รูปภาพ เช่น คุ้มริมปิงของเจ้าแก้วนวรัฐ คุ้มที่มีแต่ภาพคือคุ้มเวียงแก้วซึ่งเข้าใจว่าเดิมเป็นที่เรือนจำหรือทัณฑสถานหญิง

แม้ความเป็นมาของพหุสังคมจะหลากหลายแตกต่างกัน ความพยายาม ในบริบท “สร้างชาติ หนึ่งเดียวกัน” ความเชื่อ ความศรัทธา นบนอบจารีตท้องถิ่น ไม่อาจลบเลือนชุดความคิด คุ้มหลวง เวียงแก้วเชียงใหม่ เป็นดินแดน พื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ไปได้ ไม่ว่าจะล่วงเลยมากี่รุ่นแล้วก็ตาม เพราะเหตุใด?

ร่วมแสดงความคิดเห็น