วันที่ 14 – 17 มีนาคม ภาคเหนือจะมีพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางแห่ง

พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้าระหว่างวันที่ 11 – 17 มีนาคม พ.ศ. 2562# จากกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 11 – 13 มี.ค. 62 ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน กับมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนในช่วงวันที่ 14 – 17 มีนาคม 2562 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางแห่ง

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 11 – 13 มี.ค. 62 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับภาคใต้มีลมตะวันออกพัดปกคลุม ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองได้บางพื้นที่

ส่วนในช่วงวันที่ 14 – 17 มีนาคม 2562 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกเกิดขึ้นบางพื้นที่ โดยจะเริ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกก่อน ส่วนภาคอื่นๆจะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป

ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากมีอากาศร้อนขึ้น โดยหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งในตอนกลางวัน ส่วนในช่วงวันที่ 14-17 มี.ค. 62 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกที่จะเกิดขึ้น และควรอยู่ห่างจากต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรระมัดระวัง และป้องกันความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

ภาคเหนือ ในช่วงวันที่ 11 – 14 มี.ค. 62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ส่วนในช่วงวันที่ 15 – 17 มี.ค. 62 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 17-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-15 กม./ชม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 11 – 13 มี.ค. 62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 14 – 17 มี.ค. 62 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.

ภาคกลาง ในช่วงวันที่ 11 – 14 มี.ค. 62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ส่วนในช่วงวันที่ 15 – 17 มี.ค. 62 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.

ภาคตะวันออกรวมทั้งชายฝั่ง ในช่วงวันที่ 11 – 13 มี.ค. 62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 14 – 17 มี.ค. 62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่กับมีลมกระโชกแรง อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

ภาคใต้ฝั่งตะวันออก(ฝั่งอ่าวไทย) ในช่วงวันที่ 11 – 13 มี.ค. 62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 14 – 17 มี.ค. 62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 – 20 ของพื้นที่ ณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 14 – 17 มี.ค. 62 ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ภาคใต้ฝั่งตะวันตก(ฝั่งอันดามัน) มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 – 20 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในช่วงวันที่ 11 – 14 มี.ค. 62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ส่วนในช่วงวันที่ 15 – 17 มี.ค. 62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 – 20 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-38 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.

นายธาดา ศรัทธา ผอ.สถานีอุตุนิยมวิทยาสุโขทัย

ร่วมแสดงความคิดเห็น