ชาวบ้านโฮ่งใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ล้อมจับปลาในแม่น้ำลี้ ช่วงหน้าแล้งนี้กันอย่างคึกครื้น

คำว่า”โข่” หรือ “ป่าโข่” เป็นภาษาชาวยอง ตลอดจนถึงเป็นภาษาชาวเหนือล้านนา เมื่อฤดูน้ำหลากชาวบ้านจะตัดกิ่งไม้ไปสุมกองที่ริมแม่น้ำเป็นกองใหญ่ ตามภูมิปัญญาของชาวบ้าน เพื่อให้ปลาเข้ามาอาศัยอยู่ เมื่อถึงฤดูน้ำลดในช่วงหน้าแล้ง ปลาไม่มีที่หลบภัยก็จะเข้ามาอาศัยอยู่ใน”ป่าโข่” ชาวบ้านก็จะนำตาข่ายมาล้อมป่าโข่เอาไว้อย่างมิดชิด เพื่อไม่ให้ปลาหนีออกไป แล้วก็ดึงกิ่งไม้ออกทั้งหมด จากนั้นใช้แห ใช้แน่ง หรืออวน จับปลาขึ้นมา นอกจากนี้คำว่า”โข่” ยังใช้เรียกป่าที่รกรุงรังว่า”ป่าโข่” หรือยังเรียกขยะประเภทใบไม้แห้ง หญ้าแห้ง ว่า”ขี้โข่-ขี้เยื่อ” เช่นกัน

เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2562 ที่ลำน้ำแม่ลี้ บริเวณบ้านเกาะทุ่งม่าน หมู่ 12 ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน กลุ่มชาวบ้านได้มารวมตัวกัน”เอาโข่” ซึ่งได้ถมโข่ไว้เมื่อช่วงฤดูน้ำหลากที่ผ่านมา โดยใช้ตาข่ายล้อมรอบโข่เอาไว้เพื่อไม่ให้ปลาหนีออกไป จากนั้นก็ช่วยกันนำกิ่งไม้ออกไปจนหมด และทำการจับปลาในบริเวณที่ทำการล้อมตาข่ายไว้กันอย่างสนุกสนาน ได้ปลาหลายหลากชนิดทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ และได้ก่อกองไฟนำปลามาปิ้งย่าง เป็นอาหารกลางวัน ในบริเวณบนฝั่งที่นั้นด้วย ถือกันว่าการ”เอาโข่”นอกจากจะแบ่งปันปลาที่จับมาได้แล้ว ยังสร้างความสัมพันธ์สมัครสมานสามัคคีกันอีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น