เก๋าเกมการเมือง! การชำระคดีอันชาญฉลาดของ “เจ้ากาวิโลรส”

เมื่อ “พระเจ้ามโหตตรประเทศ” ถึงแก่พิราลัย “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศเป็น “เจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ดำรงนพีสีนคร สุนทรทศลักษณเกษตร วรฤทธิ์เดชมหาโยนางคราชวงศาธิบดี เจ้านครเชียงใหม่” เมื่อลงมาเข้าเฝ้าในปี พ.ศ. 2404 ก็ได้รับเพิ่มยศเป็นพระเจ้านครเชียงใหม่ในราชทินนาม “พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ดำรงนพีสีนคร สุนทรทศลักษณเกษตร วรฤทธิเดชศรี โยนางคดไนย ราชวงศาธิบดี เจ้านครเชียงใหม่”

และในวันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” ขอนำเสนอเรื่องราวของ “เจ้ากาวิโลรส” หรือ “เจ้าชีวิตอ้าว” ผู้เป็นที่เลื่องลือในพระอัจฉริยะภาพด้านการเมืองการปกครอง และในอีกด้านหนึ่ง พระองค์ก็เป็นเจ้าเมืองที่มีนิสัยเด็ดขาด ถึงลูกถึงคน เช่นกัน

พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ หรือ เจ้าชีวิตอ้าว

“พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์” มีพระนามเดิมว่า “เจ้าหนานสุริยวงศ์” เป็นพระโอรสในพระเจ้ากาวิละกับแม่เจ้าจันทาราชเทวี ในปี พ.ศ. 2368 ได้รับอิสริยยศเป็น “พระยาเมืองแก้ว”

ด้วยนิสัยส่วนพระองค์ที่เด็ดขาด จึงเป็นที่เคารพยำเกรงในหมู่ข้าราชบริพารและพสกนิกร เมื่อทรงพิจารณาตัดสินว่าคดีความใดแล้ว หากทรงเอ่ยว่า “อ้าว” เมื่อใด หมายถึงการต้องโทษตัดศีรษะประหารชีวิต จนประชาชนทั่วไปต่างถวายพระสมัญญาว่า “เจ้าชีวิตอ้าว”

ราวปี พ.ศ. 2407 พระองค์ได้ช้างเผือกมา 2 เชือก เมื่อฝ่ายกรุงอังวะทราบข่าว ก็คิดจะทำการให้ฝ่ายเชียงใหม่กับสยามแตกแยกกันมากขึ้น จึงให้เจ้าเมืองนายไปขอซื้อช้าง 2 เชือกดังกล่าว เพื่อนำไปถวายเจ้ากรุงอังวะ เจ้ากาวิโลรสกล่าวว่า “แค่ช้าง 2 เชือก จะคิดเป็นเงินเป็นทองอะไรกัน เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน ยกให้เปล่า ๆ ไปเลย”

ไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ยังได้แต่งท้าวขุนนางผู้ใหญ่เมืองเชียงใหม่พร้อมไพร่พลอีก 50 คน คุมช้าง 2 เชือก ไปยังกรุงอังวะ พร้อมประกาศให้บ้านหรือแคว่นใดก็ตามที่ช้างผ่าน ต้องสร้างโรงช้าง และที่พักขุนนางเป็นอย่างดี หากใครไม่ทำตาม จะต้องโทษสถานหนัก จึงทำให้ทุกบ้านทุกแคว่นก็ทำตามเพราะกลัวอาชญาเจ้าชีวิตอ้าวเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อถึงกรุงอังวะและก็ถวายช้างเผือกแก่พระเจ้าอังวะ พระเจ้าอังวะเห็นว่าพระเจ้าเชียงใหม่มาถวายช้างนั้นคือการขอขึ้นกับพม่า จึงได้แต่งราชทูตพร้อมข้าวของอันประกอบด้วยแหวนทับทิมอย่างดี รวมไปถึงเครื่องเขินของมีค่า อีกมากมายมาตอบแทนเจ้าเมืองเชียงใหม่

พอมาถึงเมืองเชียงใหม่ ทำให้เจ้าชีวิตอ้าวตกใจอย่างมาก แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธการมาของราชทูตกรุงอังวะได้ หลังจากราชทูตกรุงอังวะกลับไปแล้ว เจ้าเมืองเชียงใหม่ก็กลัวข่าวจะรั่วไหลไปถึงสยาม (ในขณะนั้นตรงกับรัชกาลที่ 4) เจ้าชีวิตอ้าวจึงสั่งประหาญล่ามพม่า พร้อมครอบครัวทั้งหมด ซึ่งก็เป็นพ่อค้าที่อยู่ในเชียงใหม่นั่นเอง

เรื่องดังกล่าวได้อยู่ในสายตาของกลุ่มที่เป็นปรปักษ์กับเจ้าชีวิตอ้าว อันได้แก่ “พระยาอุปราชธรรมปัญโญ”, “พระยาน้อยหน่อคำ”, “พญาราชบุตรหนานสุริยวงศ์” พอได้ทราบข่าวก็ทำรายงานเรื่องดังกล่าวไปยังกรุงเทพฯ เมืองหลวงของสยามทันที

เจ้าชีวิตอ้าวได้ทราบเรื่องดังกล่าว ก็มาปรึกษากับ “พระยาบุรีรัตน์” ซึ่งเป็นญาติคนสนิท ทั้งสองก็ตกลงกันว่า “ถ้าสยามจะยับตั๋วเอาไปฮับโต๊ดยังกรุงเตป ก่อจะขอสู้ต๋าย ต๋ายอ้วนดีกว่าต๋ายผอมบ๊ะ”

ฝ่ายสยาม ได้ทราบเรื่องราวจากรายงาน ได้มีคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด อันได้แก่ ผู้ฟ้อง และผู้ถูกฟ้อง เดินทางไปสอบหาข้อเท็จจริงในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2409 ซึ่งก่อนเดินทาง เจ้าชีวิตอ้าวได้กล่าวกับแม่ทัพนายกองและขุนนางชาวเชียงใหม่ ว่าให้รอฟังข่าวจากกรุงเทพฯ หากตัวของพระองค์เป็นอะไรไปก็ดี ให้ทุกคนฟื้นสยาม แล้วให้หันไปขอกำลังจากหมู่ม่านที่กรุงอังวะ หรือฝรั่งอังกฤษที่อินเดีย

ฝ่ายสยามก็รู้เรื่องทั้งหมด เมื่อปรึกษากันแล้วก็แกล้งสืบสวนไปตามเรื่อง พระเจ้าเชียงใหม่ก็ให้การว่า ช้างเผือก 2 เชือกนั้น เดิมเจ้าเมืองนายต้องการซื้อ แต่เห็นว่าค่าซื้อช้างเป็นเงินเพียงเล็กน้อย เกรงจะเสียเกียรติยศ จึงมอบให้เปล่า ๆ ต่อมาเจ้าเมืองนายกลับนำไปถวายพระเจ้าอังวะอีกต่อหนึ่ง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระเจ้าอังวะจึงคุมสิ่งของมีค่ามาตอบแทนดังกล่าว แล้วพระเจ้ากาวิโลรส ก็นำสิ่งของที่พระเจ้าอังวะนำมาถวายให้รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 4 ก็มีราชโองการว่า “ของนี้ เจ้าอังวะให้แก่เจ้าเชียงใหม่ เจ้าเชียงใหม่ก็เอาไว้เถิด ขอรับไว้แต่แหวนทับทิมวงเดียว พอไม่ให้พระเจ้ากาวิโลรสเสียใจ” แล้วก็ให้เสนาบดีสยามพิจารณาความไปตามปกติ

การพิจารณาความในครั้งนั้น หาได้พิจารณาตามเรื่องราวที่เป็นจริงที่เกิดขึ้นไม่ แต่พิจารณาในลักษณะการทูตและการปกครอง เนื่องจากในสมัยนั้น พม่าเอาอกเอาใจชาวเชียงใหม่ยิ่งนัก อีกทั้งประชาชนชาวเชียงใหม่คุ้นเคย และเป็นมิตรกับพม่ามากกว่าชาวสยาม ยิ่งในสมัยนั้น เจ้าชีวิตอ้าวมีอำนาจมากในลานนา แม้ฝรั่งต่างชาติก็ขยาดหวาดกลัว จึงพร้อมใจกันพิจารณาตัดสินไปว่า “พระเจ้ากาวิโลรส สุริยวงศ์ ยังหาความผิดในข้อใหญ่สิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้” พระเจ้าเชียงใหม่จึงเป็นฝ่ายชนะ เจ้าชีวิตอ้าวจึงพาพรรคพวกเดินทางกลับมาปกครองเมืองเชียงใหม่เช่นเดิม

ส่วนฝ่ายฟ้องร้อง อันได้แก่ “ราชบุตรนายน้อยมหาวงษ์”, “หนานมหาเทพ”, “น้อยเทพวงษ์” ได้ถูกให้กักตัวไว้ที่กรุงเทพ ให้รับราชการที่กรุงเทพต่อไป จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้เมืองเชียงใหม่ในสมัยเจ้าชีวิตอ้าวไม่ก่อกบฏต่อสยาม อยู่ร่วมกันสืบต่อมา

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : www.tnews.co.th, nanwardloa.blogspot.com
ภาพจาก : th.wikipedia.org

ร่วมแสดงความคิดเห็น