คลอด พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯใหม่ บังคับใช้วันนี้ ให้ท้องถิ่นลุยเก็บ 1 ม.ค.63

ผู้สื่อข่าวรายงาน เวปไซค์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ในราชกิจจานุเบกษ เล่ม 136 ตอนที่ 30 ก โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 13 มี.ค.นี้ เว้นแต่การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.บ. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป มี 98 มาตรา

เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ระบุว่ากฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน และกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ใช้บังคับมานานแล้ว การจัดเก็บภาษีไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สมควรยกเลิก โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)เป็นผู้รับผิดชอบการจัดเก็บภาษี ซึ่งภาษีที่จัดเก็บได้ในเขต อปท.ใด ให้เป็นรายได้ของ อปท.นั้น

ทั้งนี้เนื้อหาที่น่าสนใจในแต่ละมาตรานั้น มีหลายประการ อาทิ มาตรา 8 กำหนดชัดเจนถึง ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้น จากการจัดเก็บภาษี มาตรา 37 ในหมวด 5 ว่าด้วยฐานภาษี อัตราภาษี และการคำนวณภาษีระบุว่า ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ให้จัดเก็บภาษีตามอัตรา ที่กำหนด เช่น (1) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ ในการประกอบเกษตรกรรม ให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 0.15 ของฐานภาษี (2) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 0.3 ของฐานภาษี (4) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 1.2 ของฐานภาษี เป็นต้น

นอกจากนั้น บทเฉพาะกาล มาตรา 94 ยังระบุว่า “ในสองปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.บ.นี้ ให้ใช้อัตราภาษีตามมูลค่าของฐานภาษี ดังต่อไปนี้ เช่น (1) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม มูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 75 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษีร้อยละ 0.01 มูลค่าของฐานภาษีเกิน 1 พันล้านบาท ขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษีร้อยละ 0.1 เป็นต้น

คณะ กก.ผู้บริหารท้องถิ่น เชียงใหม่ หลายราย แสดงความคิดเห็นว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถูกร่างขึ้นใช้แทน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่ เพื่อแก้ปัญหาการเก็บภาษีซ้ำซ้อน การลดหย่อนภาษีที่มากไป จนทำให้รายได้การเก็บภาษีลดลงมาก การจัดเก็บภาษีฯ ตาม พ.ร.บ.ใหม่นี้ จะมีรายได้ท้องถิ่นเพิ่ม สามารถนำไปพัฒนาท้องถิ่นได้คล่องตัวขึ้น กระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากที่ดิน เกิดการพัฒนาที่ดินรกร้างว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์ พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีการแยกประเภทของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้ ชัดเจน ทั้งที่ดินสำหรับทำเกษตรกรรม บ้านพักอาศัย พาณิชยกรรม และที่ดินว่างเปล่า ซึ่งแต่ละประเภทมีเงื่อนไข และอัตราการเรียกเก็บภาษีแตกต่างกัน

และที่น่าสนใจคือ พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ 2562 ที่จะมีผลบังคับใช้หลังประกาศใน 120 วัน ก็น่าจะกระตุ้นการลงทุนการพัฒนาในเชียงใหม่ ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

ร่วมแสดงความคิดเห็น