ชมศิลปกรรมเชียงแสนที่วัดเจ็ดยอด

วัดเจ็ดยอด หรือ วัดเจดีย์เจ็ดยอด เป็นชื่อวัดที่คนทั่วไปในภายหลังกำหนดเรียกขึ้นตามลักษณะเครื่องยอดส่วนบนหลังคาพระวิหารโบราณที่ปรากฏมาแต่เดิมในวัดนี้ ซึ่งก่อสร้างเป็นพระสถูปเจดีย์ มีจำนวนเจ็ดยอดด้วยกัน แต่ชื่อของวัดนี้ที่มีมาแต่เดิมเมื่อคราวแรกสร้างวัดชื่อว่า วัดมหาโพธาราม

วัดเจ็ดยอด เป็นวัดวัดโบราณที่พระเจ้าติโลกราช พระราชาธิบดีองค์ที่ 22 แห่งราชวงศ์มังราย โปรดให้หมื่นด้ามพร้าคด หรือ สีหโคตเสนาบดี เป็นนายช่างทำการก่อสร้าง ตั้งแต่ปี พ.ศ.1999 เมื่อสถาปนาอารามสำเร็จแล้ว พระเจ้าติโลกราชโปรดให้นิมนต์พระมหาเถระชื่อ พระอุตตมปัญญา มาสถิตเป็นอธิบดีองค์แรกแห่งหมู่สงฆ์ในอารามนี้ ครั้งนั้นพระเจ้าติโลกราชได้ทรงสดับธรรมบรรยายจากสำนักพระภิกษุสีหล เรื่องอานิสงส์ปลูกต้นโพธิ์ จึงโปรดให้แบ่งหน่อมหาโพธิ์ต้นเดิมที่พระภิกษุสีหลนำมาจากศรีลังกาเอามาปลูกขึ้นไว้ในอารามป่าแดงหลวง เชิงดอยสุเทพ นำมาปลุกไว้ในอารามที่สร้างขึ้นใหม่ เหตุที่หน่อมหาโพธิ์ปลูกในอารามแห่งนี้ จึงได้รับการขนานนามว่า “วัดมหาโพธาราม”

วัดเจ็ดยอด เป็นอารามที่มีความสำคัญยิ่งทางพุทธศาสนาในอาณาจักรล้านนา ด้วยเมื่อพุทธศักราช 2020 พระเจ้าติโลกราช โปรดให้จัดการประชุมพระเถรานุเถระทั่วทุกหัวเมืองในอาณาจักรล้านนา แล้วทรงคัดเลือกได้พระธรรมทิณเจ้าอาวาสวัดป่าตาล ผู้เจนจัดในพระบาลีเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระเจ้าติโลกราชทรงรับเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ทำสังคายนาพระไตรปิฏก ณ วัดมหาโพธารามปีหนึ่งจึงสำเร็จเรียบร้อย การสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งใหญ่เป็นลำดับที่ 8 นับเนื่องได้ทำมาแล้วที่ประเทศอินเดียและศรีลังการวมเจ็ดครั้ง และการทำสังคายนาพระไตรปิฏกที่วัดมหาโพธารามก็นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

วัดเจ็ดยอด ได้กลายเป็นวัดร้างที่ไม่มีพระภิกษุอาศัยแต่เมื่อใดไม่พบหลักฐานแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า เมื่อปีพุทธศักราช 2319 หัวเมืองต่าง ๆ ในแคว้นล้านนาประสบกับภัยสงครามทั่วไปหมด ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงประกาศให้ทิ้งเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากไม่มีกำลังพอเพียงที่จะรักษาเมือง พระภิกษุสามเณรและพลเมืองจึงพากันอพยพไปอยู่ตามหัวเมืองอื่น ๆ หมด ต่อมาสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้ากาวิละได้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ตามพระบรมราชโองการของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมืองเชียงใหม่ก็ได้กลับตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง กระนั้นก็ดีบรรดาวัดวาอารามต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองและนอกเมืองก็ยังสภาพเป็นวัดร้างจำนวนมาก วัดเจ็ดยอด ก็เป็นหนึ่งในจำนวนวัดร้างด้วย

ศิลปกรรมที่มีความสำคัญเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาซึ่งนำมาโดยพระภิกษุสิหลนิกายสู่อาณาจักรล้านนาแต่สมัยกลางพุทธศตวรรษที่ 19 จำนวนหลายแห่งด้วยกัน โบราณสถานของวัดนี้มีความสำคัญต่อเนื่องด้วยประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่และมีคุณค่าในทางศิลปกรรมประเภทพุทธศิลป์ในสมัยล้านนาที่น่าสนใจได้แก่

ซุ้มประตูโขงทางเข้าวัด ขนบธรรมเนียมการสร้างอารามในอาณาจักรล้านนาแต่โบราณย่อมสร้างซุ้มประตูโขงเป็นช่องทางขนาดใหญ่สำหรับเข้าออกไว้ที่ด้านหน้าของวัด ซุ้มประตูโขงของวัดเจ็ดยอด ก่อด้วยอิฐถือปูน ช่องประตูตอนบนสร้างเป็นรูปครึ่งวงกลม ตัวซุ้มขนาบช่องประตูทำอย่างเสาย่อมุมทั้งสองข้าง หลังช่องประตูโขงขึ้นไปเป็นเครื่องยอดตามแบบขนบนิยมในศิลปสมัยล้านนา ปัจจุบันเครื่องยอดส่วนที่อยู่บนหลังซุ้มได้พังไปหมดแล้ว

ศิลปกรรมของซุ้มประตูโขงที่น่าสนใจคือ ลวดลายปูนปั้น ประดับตกแต่งกรอบวงโค้งและหางซุ้ม กับลวดลายปูนปั้นเป็นกาบประดับเชิงเสาและปลายเสาย่อมุมประจำสองข้างซุ้มมหาวิหาร เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญยิ่งกว่าโบราณสถานแห่งอื่น ทั้งนี้เนื่องด้วยมหาวิหารแห่งนี้พระเจ้าติโลกราชโปรดให้ใช้เป็นสถานที่ประชุมพระเถรานุเถระทั่วอาณาจักรล้านนา มหาวิหารแห่งนี้ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.2020 โดยมีหมื่นด้ามพร้าคด หรือ สีหโคตเสนาบดี เป็นนายช่างทำการก่อสร้าง

มหาวิหารเป็นอาคารชนิดเครื่องก่อ ใช้ศิลาแลงทำโครงสร้างลักษณะเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งขนานไปตามทิศตะวันออกสู่ตะวันตก ตอนหน้าของอาคารสันนิษฐานว่าเป็นมุขโถงต่อออกไปข้างหน้าเปิดเป็นทางเข้าออกมหาวิหาร ตัวอาคารมหาวิหารก่อผนังทึบล้อมสามด้าน เว้นด้านหน้า เชิงผนังตอนในสุดของวิหารก่อแท่นแก้วประดิษฐานพระพุทธปฏิมาพระประธานประจำวิหาร กลางฝาผนังด้านข้างในห้องโถง เจาะเป็นช่องแคบ ๆ มีบันไดทอดตัวขึ้นไปข้างบนออกสู่หลังคาวิหาร ซึ่งเป็นหลังคาทรงตัดลักษณะคล้ายดาดฟ้าทั่วไป พื้นที่บนนี้เป็นที่ตั้งของปรางค์ยอดเจดีย์แบบพุทธคยาในอินเดียจำนวนเจ็ดองค์ด้วยกัน

นอกจากนี้ภายนอกตัวมหาวิหารยังปรากฏลวดลายปูนปั้นชั้นครูระดับเอกที่ยากจะหาฝีมือไหนมาเทียบได้ ลวดลายต่าง ๆ ที่ปรากฏยังได้สำแดงให้ประจักษ์ในคุณค่าทางภูมิปัญญาอันเปรื่องปราชญ์และความสามารถในการสร้างสรรค์ ความบันดาลใจต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติออกมาเป็นลวดลายที่มีเอกลักษณ์แสดงความหมายในทางพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี

พระสถูปเจดีย์พระเจ้าติโลกราช พระสถูปองค์นี้พระยอดเชียงใหม่พระราชาธิบดีองค์ที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย พระราชนัดดาของพระเจ้าติโลกราช โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระเจ้าติโลกราช เมื่อปี พ.ศ.2031 พระสถูปเจดีย์พระเจ้าติโลกราช เป็นชนิดก่ออิฐถือปูน ลักษณะรูปทรงเป็นแบบทรงมณฑปสี่เหลี่ยมย่อมุม มีซุ้มคูหาเป็นจัตุรมุข หลังคาทรงบัวคลุ่ม ส่วนเครื่องยอดต่อขึ้นไปก่อเป็นพระสถูปทรงระฆังอย่างเจดีย์สีหล ซุ้มคูหาด้านนอกทิศตะวันออกทำลึกเข้าไปในตัวมณฑป ประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรปูนปั้นองค์หนึ่งปางมารวิชัย กล่าวกันว่าเป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์พระเจ้าติโลกราช

วัดเจ็ดยอด วัดสำคัญเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่ นอกจากความร่มรื่นของแมกไม้ภายในวัดแล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งโบราณสถานศิลปสมัยเชียงแสนที่สวยงามและหาชมได้ยากอีกด้วย

บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น