ชุมชนวัดเกต “ชุมทางการค้าของเชียงใหม่ในอดีต”

ย่านชุมชนค้าขายของชาวจีนแห่งแรกในเชียงใหม่ คือ ย่านวัดเกตุ ที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่าชุมชนชาวจีนแห่งใดในเชียงใหม่ ในเส้นทางผ่านชุมชนชาวซิกข์ ชาวอิสลาม ชาวขมุ และที่ตั้งของบริษัทบริติชบอรเนียวของชาวอังกฤษ สถานที่แห่งนี้จึงคับคั่งไปด้วยศิลปะ วัฒนธรรมและความหลากหลายทางสถาปัตยกรรม อีกทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยว ดื่มกินในเวลากลางคืนและจับจ่ายซื้อของที่ระลึกในเวลากลางวัน ชาวบ้านย่านวัดเกตุจะเป็นผู้ที่รักสงบและรักหวงแหนศิลปวัฒนธรรม

ดังนั้นนักท่องเที่ยวจะใช้เวลาค่อนข้างมากในย่านนี้ รวมถึงการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านในวัดเกตุการาม แต่เมื่อเข้ามาสู่ถนนเชียงใหม่ ลำพูน ภาพที่น่าประทับใจของ โบสถ์ไม้คริสตจักรที่ 1 ทำให้นักท่องเที่ยวต้องหยุดแวะชมความงามของสถาปัตยกรรมริมแม่น้ำปิง นักท่องเที่ยวจะพบหลุมฝังศพบุคคลสำคัญชาวตะวันตกของเชียงใหม่และพระรูปสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษ ณ สุสานฝรั่ง รำลึกถึงความรุ่งเรืองของการแสวงอาณานิคมในอดีต ณ ที่นี้เป็นจุดเริ่มของถนนที่มีต้นยางสองข้างทางไปสู่จังหวัดลำพูน สิ้นสุดเส้นทางที่วัดเมืองสาตรหลวง

วัดเกตการาม สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. 1971 เดิมชื่อ วัดสระเกตุ สร้างขึ้นโดยพระเจ้าสามฝั่งแกน พระราชบิดาของพญาติโลกราช โดยมีพระยาเมือง พระยาคำ และพระยาลือ มีบริวารทั้งหมด 2,000 คนในการก่อสร้างวัดเกตุการาม (ศิลาจารึกประวัติวัดเกตุการามอยู่ด้านทิศใต้ของวิหาร) สถาปัตยกรรมประกอบด้วย วิหารหลังใหญ่ เป็นวิหารทรงล้านนาซ้อนชั้นหลังคา 4 ชั้น 2 ตับ มีหลังคาคลุมราวบันได หน้าบันประดับลวดลายแกะสลักลายพรรณพฤกษาปิดทอง นาคะตันเป็นไม้ แกะสลักลวดลายเครือเถา บัวหัวเสาประดับด้วยแก้วอังวะหางหงส์ประดับด้วยไม้เป็นรูปนาคลำยองประดับด้วยแก้วอังวะลงรักปิดทอง ภายในวิหารลงรักปิดทองร่องชาด

ในวิหารมีธรรมมาสน์ และสัตตภัณฑ์ที่สมบูรณ์และสวยงามอยู่หน้าพระประธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิราบก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง หลังพระประธานประดับด้านพระแผง มีศิลาจารึกเรื่องราวของวัดเกตุการามจารึกด้วยอักษรฝักขามอยู่ตรงมุขวิหารด้านทิศใต้ พระอุโบสถมีหลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น 2 ตับแบบล้านนาหน้าบันประดับด้วยไม้แกะสลักลายพรรณพฤกษาลงรักปิดทองบาน

ประตูประดับด้วยไม้แกะสลักรูปเทวดา (นายทวาร) และประดับด้วยตัวกิเลนและสิงห์โตจีนเหยียบมังกรและปลาพ่นน้ำรูปปั้นที่ได้รับอิทธิพลจีน ลักษณะโก่งคิ้วมีรวงผึ้ง เจดีย์เป็นเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา ฐานเป็นสี่เหลี่ยมย่อเก็จ ถัดไปเป็นมาลัยเถา 3 ชั้น ประดับด้วยทองจังโกดุนด้วยลวดลายต่างๆ ตั้งแต่ปากระฆังถึงบัลลังก์ ประดับกระจกสีต่างๆปลียอดเป็นฉัตร มีเจดีย์บริวาร 4 องค์ องค์ระฆังทรงกลม มีบัลลังก์ ปล้องไฉน ปลียอด ฉัตร ด้านหน้ามีซุ้มพระพุทธรูปประทับยืน ราวบันไดเป็นรูปพญานาค หอระฆัง ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอพระไตรปิฎก มีลักษณะครึ่งตึกครึ่งไม้ก่ออิฐถือปูน มีพาไลล้อมรอบ หลังคาชั้นเดียวมุงด้วยกระเบื้องหางตัดปลายแหลม ช่องพาไลมีการลงรักปิดทองทั้งหลังประกอบด้วยลวดลายดอกประจำยาม ศาลาเอนกประสงค์ ศาลาบาตรศิลปะแบบจีนมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่เก็บรวบรวมสิ่งโบราณต่างๆ เปิดเวลา 8.00 น.- 16.00 น.ใช้เวลาชมประมาณ 15 นาที

ย่านวัดเกต ย่านค้าขายของชาวจีนและย่านชาวฝรั่งฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงเป็นย่านที่รุ่งเรืองสูงสุดในยุคสุดท้ายของการค้าทางน้ำของเชียงใหม่ ร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองในอดีตที่ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันว่าถนนสายนี้คือศูนย์กลางการค้าขายที่สำคัญของย่านวัดเกต คืออาคารบ้านเรือนที่งดงามโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าตลอดสองฟากถนน เช่น บ้านนิมมานเหมินท์ บ้านคุณารักษ์ บ้านอรพินท์ บ้านท่าช้าง บ้านสี่เสาหกเสา บ้านเหลี่ยวย่งง้วน (เดอะแกลลอรี่) บ้านเบนนิวาส ที่เคยเป็นสำนักงานบริษัทบริติชบอร์เนียว ฯลฯ อาคารบางหลังยังคงใช้เป็นที่อยู่อาศัยบางหลังปรับเปลี่ยนเป็นร้านค้า ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ผับ นอกจากนี้ ยังมีขนมของว่างดั้งเดิมที่มีชื่อเสียงของวัดเกตุ เช่น ข้าวเกรียบปากหม้อ สาคูไส้หมู สูตรลุงจรและขนมตาลตระกูลเข็มเพชร์ เป็นต้น

วัดซิกข์ ชาวซิกข์คนแรกที่เดินทางเข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่ คือ นายอีเชอร์ ซิงห์ โดยเข้ามาทางประเทศพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2448 หลังจากนั้นมีชาวซิกข์มารวมเพิ่มขึ้นอีก 4 ครอบครัว คือ นายรัตตัน ซิงห์ นายเกียน ซิงห์ นายวาเรียอาม ซิงห์ และ นายอมารดาส ซิงห์ จึงได้พร้อมกันจัดตั้งศาสนสถานหรือวัด (Gurdwara) ขึ้นโดยสร้างเป็นบ้านไม้ชั้นเดียว มีลานกว้างสำหรับประกอบพิธีทางศาสนา การตั้งหลักแหล่งของชาวซิกข์จะตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงกันเป็นกลุ่มและใกล้รอบศาสนสถานหรือวัดของตน เนื่องจากวัดของชาวซิกข์มีบทบาทอย่างสูงต่อชุมชนทั้งทางกิจกรรมสังคมและเศรษฐกิจ ในระหว่างปี พ.ศ. 2447 มีศาสนาจารย์ชื่อ ราม ซิงห์ เป็นศาสนาจารย์ประจำวัดแห่งนี้ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 ชาวซิกข์เชียงใหม่ ก็ได้บูรณะวัดของตนขึ้นมาอีกครั้งเป็นอาคารถาวรตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

บ้านสุกิจ นิมมานเหมินท์ เรือนไม้ร่วมสมัยในเขตร้อนชื้นสองชั้นของ สุกิจ นิมมานเหมินท์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เจ้าของอาคาร นายอุสุม นิมมานเหมินท์ (ที่เอกชนเข้าชมโดยการนัดหมาย)สะพานจันทร์สมอนุสรณ์ (ขัวแขก) เดิมเป็นสะพานที่สร้างขึ้นชั่วคราวโดยใช้ไม้ไผ่สานขัดแตะ บางคนเรียกว่าขัวแตะ ครั้นพอถึงหน้าน้ำหลากก็จะถูกน้ำพัดพังไป ต่อมามีพ่อค้าชาวอินเดียชื่อ โมตีราม หรือนายมนตรี โกสลาภิรมณ์ ได้บริจาคเงิน รวมทั้งมีการทอดผ้าป่าด้วย

เพื่อระดมเงินทุนสร้างเป็นสะพานถาวรและเป็นอนุสรณ์สถานแก่ภรรยาของชาวอินเดียที่ชื่อจันทร์สม ปัจจุบันเป็นสะพานคนเดินข้ามฝั่งที่เชื่อมระหว่างชุมชนวัดเกตุการามที่มีชาวอินเดียอาศัยอยู่มากกับตลาดวโรรสซึ่งเป็นย่านค้าขายของชาวอินเดีย

บ้านพักของบริษัทบริติช บอรเนียว ภายในประกอบด้วยสถาปัตยกรรมดังต่อไปนี้
บ้านพักหมายเลข 4 ปัจจุบันคือ เบนนิวาส ที่ตั้งถนนเจริญราษฎร์ ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมือง เรือนสมัยกลาง ลักษณะเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงมุงด้วยหลังคากระเบื้อง หลังคาทรงปั้นหยา เจ้าของเดิมและผู้ออกแบบ นายหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ (Mr. Louis T. Leonowens) สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2419 เจ้าของอาคารคือนายดับบลิว เบน เจ้าของคนต่อมาคือนายแจ็ค เบน

บ้านพักหมายเลข 6 ปัจจุบันคือ เบนนิวาส ที่ตั้งถนนเจริญราษฎร์ ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมือง เรือนปั้นหยา ลักษณะเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงมุงด้วยหลังคากระเบื้อง มีสองหลังปลูกติดเชื่อมกัน เจ้าของเดิมและผู้ออกแบบ นายหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2420

บ้านพักผู้จัดการ บริษัทบริติชบอร์เนียว ที่ตั้งถนนหน้าวัดเกตุ ซอย 2 ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมือง เคยใช้เป็นที่พักทหารญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นกงสุลญี่ปุ่นเดิม ที่ตั้งข้างฟลอรัล เชียงใหม่คอนโดมิเนียม เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างก่ออิฐฉาบปูน ยกพื้นสูง เครื่องบนเป็นไม้ หลังคาทรงปั้นหยา สถาปัตยกรรมแบบเขตร้อนชื้น มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงอาคารบ้าง

ความเจริญรุ่งเรืองของเมืองเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้นในช่วงระยะเวลา 10 กว่าที่ผ่านมา ความสำคัญของการค้าย่านวัดเกตุในอดีตก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันมีย่านการค้าของเชียงใหม่เกิดขึ้นมากมายกระจายออกไปหลายที่ เริ่มตั้งแต่บนถนนท่าแพ ถนนลอยเคราะห์ย่านไนท์บาร์ซ่า บริเวณริมถนนรอบคูเมือง รวมถึงย่านศูนย์การค้าของเมืองเชียงใหม่ อาทิ กาดสวนแก้ว แอร์พอร์ทพลาซ่าและคาร์ฟูร์ก็ได้กลายเป็นแหล่งชอปปิ้งที่ขึ้นชื่อของเชียงใหม่ ทุกวันนี้ย่านวัดเกตุจึงกลายเป็นอดีตชุมทางแห่งการค้าขายของเมืองเชียงใหม่

เอกสารประกอบ
วิฑูรย์ เหลียวรุ่งเรืองและคณะ โครงการเผยแพร่เส้นทางท่องเที่ยวสถาปัตยกรรมเชิงประวัติศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2547

บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น