ยาพื้นบ้านล้านนา ตำรายา”สูตรมหัศจรรย์”ร่วมสมัย

ปัจจุบัน อัตราการ พึ่งพา”ยา” เพื่อการบำรุง รักษา อาการเจ็บป่วย ในไทยมีมูลค่าทางการตลาดร่วมๆ 1.77 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มจะพุ่งเป็น 4 แสนล้านบาท ในอีก 2-3 ปี ค่าเฉลี่ยการกินยาของคนไทย ที่หน่วยงานด้านการแพทย์ฯ รวบรวมไว้ล่าสุดสูงถึงปีละ 47,000 ล้านเม็ด แม้การเข้าถึง “ยา” เพื่อรักษาอาการ เจ็บป่วยไข้ในวันนี้จะเข้าถึงได้ง่าย เพียงแค่ไปร้านขายยาหรือ ใช้สิทธิเพื่อรับบริการทางการแพทย์ -สาธารณสุข ตามสถานพยาบาลต่างๆ แต่ทว่า การใช้สูตรยาสมุนไพรพื้นบ้าน ยังคงคู่วิถีชีวิตผู้คนในภาคเหนือ รูปแบบการใช้ “ยาฝนยาต้ม” พบเห็นได้เป็นปกติในชุมชนที่อยู่ห่างไกลความเจริญ การเดินทางเข้าสู่เขตเมืองยากลำบาก

ยังคงมีการนำสมุนไพรใช้รักษาโรค ด้วยการนำตัวยามาฝนกับน้ำเป็นกระสายเพื่อให้ผู้ป่วยดื่มหรือ ทาบริเวณที่มีอาการ มักจะเรียกว่า ยาแก้ เช่น แก้กินผิด แก้ไข้ ถอนพิษ เป็นต้น ยาฝนแต่ละป้าก (ตำรับ) จะมีตัวยามากน้อยต่างกัน บางครั้งก็จะพบเห็นการต้ม เพื่อให้ได้ตัวยาสมุนไพรใช้ดื่มรักษาโรค โดย “หมอเมือง” ซึ่งจะมีวิธีการต้ม ตัวยา ข้อห้าม ราวกับพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

อีกทั้งการใช้รักษา ยังมีความแปลกในกรรมวิธี ทั้งการเช็ดแหก ซึ่งภาษาพื้นบ้านล้านนาแปลว่าขูดหรือถู เป็นการใช้อุปกรณ์ หรือ สมุนไพร เช่น ใบไม้ ไพร มีดหมอ เขาสัตว์ เหรียญ ฯลฯ ขูดหรือถูไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกายที่มีอาการเจ็บปวดหรือไม่สบาย อาจเรียกว่า น้ำสมุนไพร น้ำมนต์ น้ำแช่ส้มป่อยและการสวดคาถาระหว่างรักษา เป็นต้น

นอกจากนั้น บางสถานที่รักษาพยาบาลแบบแพทย์ทางเลือก อาจพบเห็นการเผายา โดยหมอเมืองอาจใช้ใบไม้สมุนไพร ย่างไฟ มาวางบริเวณส่วนใด ส่วนหนึ่งของร่างกายผู้เข้ารับการรักษา กระทั่งรูปแบบการย่ำขางวิธีการบำบัดรักษาแบบพื้นบ้านล้านนาอีกประเภท โดยมากใช้สำหรับบำบัดหรือรักษาอาการเจ็บปวดตามร่างกาย ใช้เท้าชุบน้ำยา(น้ำไพลหรือน้ำมันงา) แล้วไปย่ำลงบนขางที่เผาไฟจนร้อนแดง แล้วจึงไปย่ำบนร่างกายหรืออวัยวะของผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด พร้อมทั้งเสกคาถาอาคมกำกับศาสตร์ ของการปรุงตำรับยาสมุนไพรล้านนา สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันมีเครือข่ายหมอเมืองพื้นบ้านภาคเหนือ หลายๆจังหวัด พยายามรวบรวมสูตรตำรับยา องค์ความรู้เหล่านี้เอาไว้ เพื่อการเผยแพร่ ผลิตสู่ตลาดเพื่อเป็นทางเลือก

ตลอดจนสถาบันการศึกษา เช่น คณะเภสัช ฯ มช. ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยสมุนไพรภาคเหนือ เพื่อส่งเสริมการใช้สมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร เป็นแหล่งเรียนรู้ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติที่ดีต่อผลิตภัณฑ์สมุนไพร และเปิดร้านยาสมุนไพร “หอมไกล” ที่เป็นมากกว่าร้านสมุนไพรทั่วไป ตั้งอยู่ในอาคารเฉลิมพระ เกียรติ คณะเภสัช มช.เปิดทำการทุกวันในเวลาราชการ จำหน่ายและให้คำปรึกษา โดยคณาจารย์ เภสัชกร หรือครูแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน หมุนเวียนกันมาให้ความรู้ ให้คำแนะนำ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 081-882-4866

อย่างไรก็ตาม สมุนไพรพื้นบ้าน ซึ่งมีทั้งพืช ผัก ผลไม้ ที่บริโภคกันเป็นปกติในชีวิตประจำวัน มีประโยชน์ สรรพคุณ ที่มักจะมองข้าม หรือด้วยความไม่รู้ว่ามีคุณวิเศษ มหัศจรรย์เพียงใด อาทิ กระชาย มีสรรพคุณทางยามากมาย หมอยาพื้นบ้านใช้เหง้าและรากของกระชาย แก้ปวดท้อง แก้ท้องอืดเฟ้อ เป็นยาบำรุงกำลัง และใช้บำบัดโรคกามตาย ด้านพริก มีสารแคปซิลีน มีส่วนช่วยเพิ่มความต้องการทางเพศ เช่นเดียวกับกระเทียมมีสารที่มีสรรพคุณช่วยให้ระบบการไหลเวียนโลหิต เพิ่มความต้องการทางเพศ, ตะไคร้ ช่วยขับลมในลำไส้ เจริญอาหาร ขับปัสสาวะ

ตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา แต่ละสูตรที่ หมอเมืองปรุงยาขึ้น นับเป็นมรดกแห่งภูมิปัญญา ที่สืบทอดกันมา เป็นมรดกแห่งการรักษาที่คำนึงถึง กาย จิต และ วิญญาณ ควบคู่กัน พิธีกรรมความเชื่อของคนล้านนา ที่สะท้อนผ่านสูตรยาสมุนไพรพื้นบ้านจากรุ่นสู่รุ่น ที่มีรูปแบบทั้งยาน้ำ ยาเม็ด หรือยาทา นอกจากรักษาอาการเจ็บป่วยในร่างกายแล้ว ยังสอดประสานพิธีกรรม เพื่อจิตใจที่สุขสงบด้วยบทสวด คาถา ที่หมอเมืองสวดในระหว่างลงมือรักษา หรือ มอบยาสมุนไพรเหล่านั้น ให้ผู้รับบริการรักษาด้วย

แม้ว่าปัจจุบัน สูตรยาแผนโบราณ จะสามารถซื้อหาได้ทั่วๆไป และมีการกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่ในชีวิตประจำวันทั่วๆไป พืช ผัก สมุนไพร ที่รับประทานกันเป็นปกติ ล้วนมีสรรพคุณที่วิเศษสุดอยู่แล้ว และการดูแลร่างกาย ไม่ให้เจ็บป่วยถือเป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนต้องใส่ใจ

ร่วมแสดงความคิดเห็น