เชียงใหม่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของจังหวัดที่มีอัตราฆ่าตัวตายสูงที่สุด

การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาทางสังคม และเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อีกทั้งผิดกฎหมายในบางประเทศ จากรายงานอัตราฆ่าตัวตายต่อประชากรแสนคน ของกรมสุขภาพจิต ประจำปี 2560 เผย เชียงใหม่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของจังหวัดที่มีอัตราฆ่าตัวตายสูงที่สุด โดยอยู่ในอันดับที่ 7  (11.18)

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาพูดถึงสาเหตุหรือเหตุผลในการคิดฆ่าตัวตายซึ่งเหมือนจะเป็นทางออกสุดท้ายกัน

ในกรณีที่นักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ฆ่าตัวตาย เกิดจากสภาวะกดดันทางด้านการศึกษา หรือปัญหาส่วนตัว โดยพวกเขาอาจรู้สึกว่าไม่มีใครช่วยได้ สามารถนำไปสู่การแยกตนเองจากสังคมและทุกข์หนักยิ่งกว่าเดิม รู้สึกอับจนหนทางและสิ้นหวัง ระบบความคิดของบุคคลนั้นจะถูกบดบังและชักนำให้เขารู้สึกประหนึ่งความตายเป็นทางเลือกเดียว

จากข่าวที่เคยเป็นที่ครึกโครมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น “นักศึกษาปี 4 เครียดการเรียนตกต่ำติดเอฟ 2 ตัว ตัดสินใจขโมยปืนพ่อยิงตัวเองดับ” เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2557 “สลด นักศึกษาปี 4 โดดแม่น้ำปิง ทิ้งจดหมาย ระบุเครียด” เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 “นักศึกษา ป.โท มหาลัยดังกระโดดตึกเสียชีวิต” เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 หรือแม้แต่ “หนุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัยดังในเมืองเชียงใหม่ ยิงตัวตายคาสนามยิงปืน ทิ้งจดหมายขอโทษพ่อแม่” จะเห็นได้ชัดว่า ในแต่ละปีนั้น มีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่เลือกทิ้งชีวิตโดยการฆ่าตัวตาย และอาจเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

จากการคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลก ในปี 2563 จะมีผู้เสียชีวิตด้วยปัญหาการฆ่าตัวตายราว 1.53 ล้านคน นอกจากนี้ยังประเมินว่าในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากถึงปีละ 1 ล้านคน หรือเฉลี่ย 3,000 รายต่อวัน ขณะที่กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในประเทศเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงถึง 4,000 รายต่อปี และพยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จอีก 50,000 รายต่อปี โดยทั้งสองกลุ่มมักจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง ซึ่งเกิดจากรรมพันธุ์หรือปัญหาอื่น ๆ ซึ่งก่อให้เกิดความเครียดเรื้อรัง

สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้คนคิดฆ่าตัวตาย

  1. เกิดจากปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขต่าง ๆ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาด้านการศึกษา  ปัญหาครอบครัว เป็นต้น
  2. การพยายามทำตามความคาดหวังของคนรอบข้าง เป็นปัจจัยภายนอกอย่างหนึ่งที่นำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตาย  เพราะรู้สึกเหมือนตนเองต้องแบกรับความผิดชอบต่าง ๆ มากมาย 
  3. รู้สึกว่าตนเองเป็นที่คาดหวังของคนรอบข้าง โดยเฉพาะบุคคลใกล้ชิด  จนทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า กดดัน และไม่สามารถจัดการกับภาระต่าง ๆ หรืออดทนต่อการเป็นที่คาดหวังของบุคคลอื่น ๆ ได้อีกต่อไป 
  4. นำไปสู่ความรู้สึกไร้ค่า ไร้ความสามารถ บั่นทอนความภาคภูมิใจในตนเอง  และอาจเรียกว่าเป็น ความรู้สึกผิด เกิดขึ้นจากความรู้สึกผิดหวังในตนเอง 
  5. มีมุมมองการรับรู้ต่อตนเองว่ามีบทบาทหน้าที่สำคัญต้องรับผิดชอบต่อผู้อื่นอย่างมาก  หรือเป็นที่คาดหวังจากคนรอบข้าง  ซึ่งในความเป็นจริงความรู้สึกดังกล่าวอาจเป็นเพียงความคิดของผู้คิดฆ่าตัวตายเพียงฝ่ายเดียว  
  6. เมื่อรู้สึกว่าตนเองละเลยต่อความรับผิดชอบหรือตนเองกระทำให้ผู้อื่นรู้สึกผิดหวัง  กลายเป็นความรู้สึกผิดย้อนกลับมาที่ตนเอง ตำหนิ และเห็นว่าตนเองกลายเป็นบุคคลที่ไร้คุณค่าสำหรับผู้อื่น

พฤติกรรมที่ส่อแววของคนคิดฆ่าตัวตาย

ใช่ว่าทุกคนที่พยายามฆ่าตัวตายจะยอมให้คนอื่นรู้เจตนาของพวกเขา แต่ส่วนใหญ่จะแสดงให้เห็นทางพฤติกรรมเหล่านี้ เช่น

  1. ขู่จะทำร้ายหรือฆ่าตัวตาย
  2. พยายามหาวิธีฆ่าตัวตาย
  3. พูดหรือเขียนเรื่องความตาย กำลังจะตาย หรือการฆ่าตัวตาย
  4. แสดงความสิ้นหวังและสูญเสียจุดประสงค์ของการมีชีวิตอยู่
  5. บันดาลโทสะ หรือโกรธ หรือหาทางแก้แค้น
  6. มีพฤติกรรมบุ่มบ่าม
  7. รู้สึกอับจนหนทาง
  8. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยามากขึ้น
  9. ออกห่างเพื่อนฝูง ครอบครัว หรือสังคม
  10. รู้สึกวิตกกังวลหรือกระวนกระวายหรืออารมณ์เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว
  11. นอนไม่หลับหรือหลับตลอดเวลา
  12. รู้สึกว่าพวกเขาเป็นภาระของผู้อื่น

วิธีการจัดการกับสภาวะจิตใจและสิ่งแวดล้อมที่อาจนำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตาย

ได้แก่

  1. คิดเชิงบวก เปลี่ยนวิธีคิดใหม่
  2. อย่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมนานเกินไป หากิจกรรมยามว่าง 
  3. หากพบเหตุการณ์คนรอบข้างพยายามฆ่าตัวตาย ให้พูดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายอย่างตรงไปตรงมา
  4. ตั้งคำถามเพื่อให้เปิดเผยอารมณ์ ให้กำลังใจ ไม่ตำหนิ มีคนอยู่เป็นเพื่อน
  5. พบผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำปรึกษา

สรุป

ปัญหาการฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องใกล้ตัว เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งทุกคนสามารถช่วยป้องกันและลดปัญหาการฆ่าตัวตายลงได้ ด้วยการใช้หลัก 3ส. ได้แก่ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง

โดยสอดส่อง มองหา (Look) มองส่องตนเองและคนใกล้ชิด ค้นหาสัญญาณเตือนของการฆ่าตัวตาย เช่น เวลาพูด มีน้ำเสียงวิตกกังวล สีหน้าเศร้าหมอง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ พูดเปรย ๆ ว่า อยากตาย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้มีปัญหาโรคซึมเศร้าอยู่เดิม ประสบปัญหาชีวิต ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง

ใส่ใจ รับฟัง (Listen) อย่างตั้งใจ การรับฟัง พูดคุยเป็นเพื่อน แม้กระทั่ง การกล่าวคำว่า ขอบคุณ เพื่อให้เขากล้าที่จะบอกความรู้สึกทุกข์ทรมานใจและกล้าที่จะยอมรับความช่วยเหลือจากสังคมและคนรอบข้าง

และส่งต่อเชื่อมโยง (Link) ภายหลังการให้ความช่วยเหลือจิตใจเบื้องต้นตามความเหมาะสมและสถานการณ์ หากไม่ดีขึ้น ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ มีความคิดฆ่าตัวตาย ให้พยายามติดต่อครอบครัวหรือชุมชนให้ช่วยป้องกันดูแลส่งต่อเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ข้อมูล : กรมสุขภาพจิต, ประชาไท

ร่วมแสดงความคิดเห็น