ดอยเวียง-ดอยวง แหล่งโบราณคดีมนุษย์ยุคหินที่แม่สรวย

อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เทือกเขาวางตัวในแนวทิศเหนือ – ใต้ เป็นแนวแบ่งเขตระหว่าง จังหวัดเชียงใหม่ – เชียงราย มียอดดอยสูงสุดคือ ดอยเวียงผา มีความสูง 1,834 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าต้นน้ำลำธารและแหล่งกำเนิดของลำห้วยใหญ่ ๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำฝาง และสาขาหนึ่งของแม่น้ำลาว เช่น ห้วยแม่ฝางหลวง ห้วยแม่ฝางน้อย น้ำแม่ยางมิ้น มติคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติขึ้นโดยกำหนดบริเวณที่ดิน

ป่าลุ่มน้ำแม่ฝาง และป่าแม่ลาวฝั่งซ้าย ในท้องที่ ตำบลแม่คะ ตำบลแม่ข่า อำเภอฝาง ตำบลแม่ทะลบ ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ และตำบลป่าแดด ตำบลศรีถ้อย ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ให้เป็นอุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา มีพื้นที่ทั้งหมด 583 ตารางกิโลเมตร หรือ 364,375 ไร่

การขุดค้นพบหลักฐานใหม่ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์บริเวณดอยเวียง – ดอยวง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา เขตหมู่บ้านเหล่าพัฒนา ม.22 ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย กลายเป็นกระแสสุดฮอตของวงการประวัติศาสตร์ไทย เมื่อคณะเจ้าหน้าที่โบราณคดีจากมหาวิทยาลัยกรมศิลปากร โดยการนำของ ศาสตราจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์

การค้นพบหลักฐานมนุษย์ยุคหินนี้ ได้เริ่มขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2553 หลังจากพบว่ามีชาวบ้านที่เข้าไปขุดหาของป่าพบเครื่องมือหินขัดโบราณ จึงมีการทำพิธีบวงสรวงและเริ่มทำการขุดค้นในเดือนตุลาคม 2553 มีการแจ้งเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรเข้ามาพิสูจน์ จึงทำให้ทราบว่า ดอยเวียง – ดอยวง เป็นแหล่งโบราณคดีในยุคหินใหม่ (Neolithic หรือ New Stone Age) ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงประมาณ 5,000 – 3,000 ปี โดยเป็นยุคที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไปจากเดิมที่เคยเป็นพรานป่าล่าสัตว์ เร่ร่อนติดตามฝูงสัตว์และอาศัยอยู่ตามถ้ำ (ยุคหินเก่า-หินกลาง) มาอาศัยอยู่เป็นหลักแหล่ง และผลิตอาหาร ปลูกพืชได้เอง มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยหิน ได้รับการขัดเกลาให้แหลมคมเพื่อการใช้งานได้ดีที่เรียกว่า เครื่องมือหินขัด

จุดเด่นของยุคหินใหม่อยู่ที่มนุษย์รู้จักใช้ภาชนะเครื่องปั้นดินเผามาใช้ในบ้านเรือน มีการนำเส้นใยของพืชมาทอเป็นเครื่องนุ่มห่ม และจากการที่มนุษย์เร่ร่อนและตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัย มีการสร้างบ้านเรือนใกล้กับแหล่งเพาะปลูก มีการอยู่รวมกันและเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ทำให้เกิดรูปแบบการปกครองชุมชน มีหัวหน้าเผ่าที่มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการดูแลปกครองกันเอง

สำหรับดอยเวียงนั้น มีข้อสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคหิน เพราะมีคูเมืองล้อมรอบถึง 3 ชั้น ด้วยกัน ยังพบเครื่องมือหินขัดและภาชนะดินเผาจำนวนมาก ส่วนบริเวณดอยวง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสถานที่ฝังศพ หรือเก็บกระดูก (อัฐิ) เมื่อมีคนตายจึงนำศพหรือกระดูกขึ้นไปเก็บไว้บนดอยวง โดยมีการสร้างหลุมดินเผาไว้ คาดว่าผ่านความร้อนถึง 1,200 องศา แล้วนำศพพร้อมภาชนะหรือของใช้บางอย่างของคนตายมาใส่ไว้เพื่อฝังรวมกัน

จากหลักฐานดังกล่าวทำให้ทราบว่า ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เป็นสถานที่อยู่ของมนุษย์ยุคหินและที่สำคัญ ยังไม่เคยปรากฎหลักฐานการค้นพบการนำศพหรือกระดูกมาสร้างหลุมดินเผาไว้บนดอยสูงแบบนี้มาก่อนในประเทศไทย หรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากการขุดค้นในเบื้องต้นพบว่ามีหลุมดินจำนวนมากบริเวณดอยวงเกือบ 300 หลุม ซึ่งเป็นหลักฐานทางโบราณคดีใหม่ที่บ่งบอกว่า ดินแดนแห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอารยธรรมยุคใหม่ของประเทศไทย ที่มนุษย์รู้จักสร้างที่อยู่อาศัย มีการเคารพหรือมีประเพณีการจัดการศพ ให้เกียรติคนตาย ในลักษณะหลุดจากคนป่าสู่คนเมือง ส่วนการนำศพหรือกระดูกขึ้นไปเก็บไว้บนดอยสูงนั้น สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากความเชื่อในเรื่องสวรรค์ สุริยเทพ หรือผีฟ้า เพราะเมื่อมีคนตาย น่าจะมีการนำศพหรือกระดูกไปไว้บนดอยสูงเพื่อเป็นการส่งวิญญาณผู้ตายไปสู่สรวงสวรรค์หรือใกล้ฟ้ามากที่สุด

ศาสตราจารย์สายัณห์ ไพรชาญจิตร์ หัวหน้าทีมสำรวจเผยว่า การขุดค้นพบร่องรอยโบราณคดีดึกดำบรรพ์นี้ ถือเป็นร่องรอยที่สมบูรณ์แบบแห่งแรกของเอเชียสุวรรณภูมิ และเป็นแห่งแรกของประเทศไทย จากลักษณะที่ตรวจสอบเบื้องต้นพบมีความเก่าแก่ประมาณ 4,000 – 5,000 ปี ซึ่งเก่าแก่กว่าร่องรอยมนุษย์ยุคหินในประเทศลาว หรือทุ่งไหหิน ตรงที่เศษข้าวของเครื่องมือเครื่องใช้ที่พบ ล้วนแต่เป็นวัสดุที่เป็นหินเท่านั้น ไม่มีโลหะปนเหมือนที่ประเทศลาว

สมัยหินใหม่ในประเทศไทย คือช่วงเวลาระหว่าง 5,000-2,000 ปีล่วงมาแล้ว จากการสำรวจและขุดค้นของนักโบราณคดี เครื่องมือเครื่องใช้ที่พบ แยกออกเป็น 4 ประเภทคือ
1) เครื่องมือที่ทำด้วยหิน ที่พบมากคือ ขวานหินขัด ที่ชาวบ้านเรียกว่า ขวานฟ้า เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าปลายข้างหนึ่งมน ส่วนปลายอีกข้างหนึ่งขัดไม้แหลมเรียบ แต่งให้คม ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นขวานศักดิ์สิทธิ์ที่ตกลงมาจากฟ้าขณะที่ฟ้าแลบหรือฟ้าผ่า ขวานหินขัดนี้ขุดพบ
ทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย อายุของขวานหินขัดนี้ประมาณ 4,000 ปี
2) เครื่องมือที่ทำด้วยกระดูก เช่น ปลายหอก ลูกศร เป็นต้น
3) เครื่องมือที่ทำด้วยหอย เช่น พวกใบมีด
4) เครื่องมือที่ทำด้วยดินเผา ทำเป็นเครื่องใช้รูปต่าง ๆ เช่น หม้อ จาน แกนปั่นด้าย กระสุนดินเผา เป็นต้น
จากหลักฐานที่พบ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่ามนุษย์ยุคหินใหม่ที่อยู่ในบริเวณประเทศไทยปัจจุบันคงมีจำนวนมาก และตั้งหลักแหล่งกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย บางกลุ่มยังอาศัยอยู่ในถ้ำบางกลุ่มออกมาจากถ้ำมาสร้างบ้านพักหรือกระท่อม ในด้านวัฒนธรรมด้านอื่น ๆ มนุษย์สมัยนี้มีความก้าวหน้ามากขึ้น มีความรักสวยรักงาม รู้จักทำเครื่องประดับร่างกายจากเปลือกหอย ลูกปัด ทำกำไลหิน กำไล

จากยุคหินกลาง (Mesolithic Period) มาสู่ยุค หินใหม่(Neolithic Period) ปรากฏให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอันหลากหลายและแตกต่างกันในวิถีชีวิตของมนุษย์ การผลิตและเทคโนโลยีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายโดยทั่วไปที่ใช้กันก็คือ การผลิตอาหาร หินโม่แป้ง และการผลิตเครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้อาวุธและมีดที่ใช้ในครัวเรือนผลิตขึ้นอย่างเรียบร้อยดูสวยงามมีสร้างกระท่อมเป็นที่อยู่อาศัย โดยใช้มัดขัดแตะด้วยดินเหนียว….. มนุษย์เรียนรู้ว่าเมล็ดพืชชนิดใดใช้เป็นอาหารและชนิดใดเป็นต้นไม้ให้ผล และชนิดใดใช้เป็นไม้เพื่อการก่อสร้าง

เครื่องมือเครื่องใช้ที่ขุดค้นพบ ได้มีการพัฒนาฝีมือการผลิตเครื่องมือเหล่านี้ตลอดศตวรรษต่างๆ ที่ผ่านมา ซึ่งพวกเขาได้ทิ้งไว้เป็นโบราณวัตถุให้กับพวกเราอนุชนรุ่นหลัง ได้ค้นคว้าและศึกษาชีวิตพวกเขาในอดีต ดังนั้นจึงนับว่าประเทศไทยจึงมิใช่แหล่งที่เพียงแต่รับวัฒนธรรมจากแหล่งอื่นเท่านั้น แต่เป็นแหล่งอารยธรรมเริ่มแรกอีกแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย

บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น