กรมอนามัย แนะหน้าร้อน กินไอศกรีมแต่พอดี มากไปเสี่ยงไตรกลีเซอร์ไรด์สูงในเลือด

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข เตือนผู้ที่น้ำหนักตัวเกิน ควรจำกัดปริมาณในการกินไอศกรีม เพราะไอศกรีมมีส่วนผสมของไขมัน และน้ำตาลสูง ทำให้ระดับคอเรสเตอรอล และไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูงขึ้นได้

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ไอศกรีมเป็นของหวานที่ช่วยสร้างความสดชื่นในหน้าร้อนได้เป็นอย่างดี เพราะมีส่วนประกอบหลัก คือ ครีม น้ำนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม เช่น โยเกิร์ต นม ผง นมเปรี้ยว แถมยังมีสารที่ให้รสชาติหวาน เช่น กลูโคสไซรัป ฟรุกโตส น้ำผึ้ง หรืออาจมีน้ำมันพืช ไข่ กะทิเพิ่มด้วย หากบริโภคมากเกินไป อาจทำให้ผู้บริโภคน้ำหนักเพิ่มขึ้น ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงไอศกรีมที่มีไขมันสูง และควรระวังน้ำตาลที่อยู่ในไอศกรีมด้วย เนื่องจากไอศกรีมบางประเภทในโฆษณา ว่ามีไขมัน 0% แต่กลับมีน้ำตาลสูงถึง 3.5-6.5 ช้อนชา จึงไม่ควรกินบ่อย

“ทั้งนี้ ผู้ที่มีคอเรสเตอรอลสูง ควรเลือกกินไอศกรีมที่มีไขมันน้อยหรือไม่มีไขมันเลย เช่น ไอศกรีมเชอร์เบต และสำหรับผู้ที่มีไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูง ควรกินไอศกรีมเป็นครั้งคราว และจำกัดปริมาณไอศกรีมทุกชนิด เนื่องจากส่วนผสมของไขมันและน้ำตาล ที่มีอยู่ในปริมาณมาก มีผลทำให้ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูงขึ้นได้ สำหรับผู้ต้องการลดน้ำหนัก ควรหลีกเลี่ยงไอศกรีมที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เนื่องจากไอศกรีมดัดแปลง 1 แท่ง ประกอบด้วยไขมันอิ่มตัว นมผง หางนม น้ำตาล ซึ่งให้พลังงาน 150 -230 กิโลแคลอรี มีน้ำตาลอยู่ 4-5 ช้อนชา โดยใน 1 วัน ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา และก่อนซื้อควรดูฉลากโภชนาการเป็นส่วนประ กอบก่อนการบริโภค เพื่อให้ทราบปริมาณพลังงาน น้ำตาลและไขมัน จะได้หลีกเลี่ยงไม่ให้กินมากเกินไป และเลือกกินไอศกรีมจากผู้ผลิตที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ เพื่อลดความเสี่ยงโรคระบบทางเดินอาหาร ที่เกิดจากไอศ กรีมที่ไม่สะอาด“ อธิบดีกรมอนามัยกล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น