หมอกควันฝุ่นพิษถล่มเมือง ต้องดันเป็นวาระชาติ ร่วมมือแก้ ลดเผา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายงานของส่วนแผนงานและประมวลผล กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ระบุค่าเฉลี่ย 24 ชม.ของฝุ่นละอองขนาดเล็ก พีเอ็ม 10 และ พีเอ็ม 2.5 ในช่วงเวลา 09.00 น.ของวันนี้ ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน อัตราค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 1-15 มี.ค. เกือบทุกพื้นที่ตรวจวัดมีสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ต.ศรีภูมิ เมือง เชียงใหม่ ค่าพีเอ็ม 10 อยู่ ที่ 150 มคก./ลบ.ม. ค่าพีเอ็ม 2.5 อยู่ที่ 135 มคก./ลบ.ม. สูงสุดอยู่ที่ ต.ช้างเผือก 148 ในส่วนข้อมูลด้านอุณห๓มิอยู่ในระดับ 16-24 องศา ลมสงบ ทัศนวิสัยเฉลี่ย 1-6 กม. ความชื้นสัมพัทธ์ 73-93 % ความกดอากาศเฉลี่ย 1,016 เอชพีเอ ไม่มีฝนในทุกพื้นที่ ดัชนีคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพทุกจังหวัด

สถานการณ์คุณภาพอากาศโดยรวม ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 10 ไมครอน อยู่ที่ 103-258 มคก./ลบ.ม. ส่วนพีเอ็ม 2.5 อยู่ที่ 76-203 ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ดัชนีคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพทุกจังหวัด

จากการสอบถามกลุ่มนักท่องเที่ยว ชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่มาเที่ยวย่านกาดหลวง ยืนยันว่า แม้จะมีข่าวคราวออกไปทางสื่อสังคมในแง่มุมต่างๆ ก็ไม่ตระหนกตกใจ สวมหน้ากากอนามัย ป้องกัน เลือกที่จะออกไปทัวร์ตามแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ประเภท น้ำตก เลี่ยงที่คนเยอะๆ รถติด

นายปราโมทย์ วรกิจกุล พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ย่านลาดพร้าว กทม. กล่าวว่า มาประชุมที่เชียงใหม่ ขับรถมา สังเกตุเห็นว่าจากพิษณุโลก เรื่อยมาถึงลำปาง ตามข้างทาง ยังเห็นการเผาวัชพืช ประปราย ยิ่งช่วงเข้าลำปาง เยอะมาก เข้าใจว่าถ้าแก้ และลดการเผาได้ สภาพอากาศคงไม่เกิดขึ้นแบบนี้อย่างต่อเนื่อง

ด้าน ผศ.ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มช. กล่าวว่าปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้นในภาคเหนือขณะนี้ มีสาเหตุจากหลายปัจจัย ทั้งการเผาตามวิถีเกษตรพื้นบ้าน ลักษณะภูมิประเทศของเชียงใหม่ และภาคเหนือที่อากาศนิ่งลมสงบ ทำให้เกิดการสะสมฝุ่น ควันจนเกินค่ามาตรฐาน

สำหรับงานเสวนา มหันตภัยฝุนพิษถล่มเมือง ซึ่งคณะแพทย์ฯ มช. จัดขึ้น มีการรายงานการศึกษาวิจัยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาฝุ่นควันพิษ ในด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และสุขภาพ ผลกระทบมีมูลค่าความเสียหายต่อปีร่วมๆหมื่นล้านบาท

การศึกษาหาสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรในเชียงใหม่ เพื่อวิเคราะห์หาความเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับค่าพีเอ็ม 2.5 ช่วงปี 59-61 เพิ่มขึ้นทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม.ชาวเชียงใหม่จะเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.6% ภายใน 1 สัปดาห์เสียชีวิตมีความสัมพันธ์กับมลพิษ งานวิจัยที่เกี่ยวกับอัตราการเสียชีวิตของประชากรในไทย จากผลกระทบของ พีเอ็ม 2.5 ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยสำรวจข้อมูลในจังหวัด ที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 17- 18 จังหวัด ซึ่งรวมเชียงใหม่ด้วย พบว่ามีประชากรเสียชีวิตราว 38,000 ราย หรือเฉลี่ยเดือนละราว 3,000 คน เป็นโรคที่สัมพันธ์กับมลพิษโดยตรง

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายอนุรักษ์ป่าภาคเหนือ รวมถึงจิสด้า กระทรวงวิทยาศาสตร์ที่ร่วมเกาะติดสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน ตรวจติดตามร่องรอยพื้นที่เผาไหม้ เพื่อส่งต่อข้อมูลสำคัญต่างๆ ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแนวโน้ม 9 จังหวัดภาคเหนือ เทียบกับปี 2561 จุดความร้อนปีนี้สูงกว่าปีที่แล้วกว่า 1,700 จุด และคาดว่าจะสูงกว่านี้อีก

ข้อมูลจากดาวเทียม จีสด้าระบุว่า พบจุดความร้อนที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ภาคเหนือเท่านั้น ประเทศเพื่อนบ้านก็มีเป็นจำนวนมาก เมื่อดูจุดความร้อนรายจังหวัด สะสมช่วง 1 ม.ค-15 มี.ค.62 ราวๆ 3,445 จุด พบใน จ.น่าน มากสุด 656 จุด รองลงมา คือเชียงใหม่ 613 จุด, ลำปาง 561 จุด, ตาก 478 จุด, แม่ฮ่องสอน 279 จุด, แพร่ 248 จุด, ลำพูน 244 จุด, เชียงราย 205 จุด และพะเยา 161 การจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ผล คงต้องใช้รูปแบบ ไชน่า โมเดล ยกเป็นวาระแห่งชาติ จัดการกันขั้นเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นแบบนี้ทุกปี

ร่วมแสดงความคิดเห็น