แกะรอยเจดีย์ปล่อง เจดีย์คู่บารมีพระธาตุดอยสุเทพ

นครเชียงใหม่ในอดีตเคยเป็นเมืองที่พุทธศาสนารุ่งเรืองถึงขีดสุด ดังจะเห็นได้จากการทำสังคายนาพระไตรปิฏก ครั้งที่ 8 ของโลกที่วัดเจ็ดยอด รวมถึงการนำเอาพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์เข้ามาเผยแพร่ มีการสร้างพระเจดีย์ต่าง ๆ ขึ้นเพื่อเป็นการเชิดชูพระพุทธศาสนา ในช่วงเวลานั้นเองตามวัดในเมืองเชียงใหม่จึงเต็มไปด้วยสถูปเจดีย์

เมื่อมาเยือนเชียงใหม่หลายท่านคงเคยเห็นเจดีย์ร้างที่อยู่เกลื่อนเมือง ท่านคิดอย่างไรกับเจดีย์เหล่านั้น บางท่านเห็นเจดีย์แล้วก็ไม่เคยคิดข้องใจสงสัยใด ๆ นึกเสียว่าเมืองเก่าแก่อย่างเชียงใหม่ก็ย่อมมีเจดีย์เก่าแก่ควบคู่กันไปด้วย แต่ท่านคิดไหมว่าเจดีย์เก่าแก่เหล่านั้นมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจมาก ดังจะยกตัวอย่างเสนอเรื่องราวของ “เจดีย์ปล่อง” เห็นไหมว่าแค่ชื่อก็แปลกแล้วเรื่องราวคงจะไม่ธรรมดาแน่ ๆ

ก่อนอื่นขอเท้าความเล่าถึงคติการสร้างเจดีย์ปูพื้นความเข้าใจของท่านทั้งหลายก่อน การสร้างเจดีย์หรือสถูปนั้น ได้วิวัฒนาการมาจากเรื่องการจัดศพผู้ตายซึ่งเดิมมีการฝังอย่างเดียว ส่วนการเผาศพนั้นเพิ่งจะมีขึ้นภายหลัง เมื่อมนุษย์มีความเชื่อว่าคนที่ตายไปแล้วจะไม่กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาในร่างเดิม เพราะร่างกายจะเน่าเปื่อยสูญสลายไปตามธรรมชาติจะเหลืออยู่ก็เฉพาะวิญญาณเท่านั้น และวิญญาณนี้เองจะไปถือปฏิสนธิในร่างใหม่ภพใหม่ แต่ยังคงเก็บเถ้าถ่านและอัฐิบรรจุไว้ในเนินดินหรือสถูปเพื่อสักการบูชา หรือเพื่อเป็นอนุสาวรีย์เตือนใจผู้ที่ล่วงลับไปแล้วและการเก็บอัฐิไว้นั้น ถ้าหากเป็นคนที่มียศมีอำนาจ เช่น กษัตริย์ วีรบุรุษและศาสดาก็จะสร้างสถูปหรือเจดีย์บรรจุอย่างสมเกียรติ ที่ประเทศอินเดียในสมัยก่อนพุทธกาล คงจะมีการสร้างสถูปบรรจุอัฐิบุคคลสำคัญและศาสดาในศาสนาอื่นแล้ว เพราะมีชื่อเมืองและชื่อสถานที่บางแห่งลงท้ายด้วยคำว่า “เจดีย์

คติการสร้างเจดีย์ได้มีมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่หากไม่นิยมสร้างบรรจุอัฐิธรรมดาสามัญเท่านั้น ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานก็มีทูตจากเมืองต่าง ๆ มาขอส่วนแบ่งพระบรมธาตุเพื่อจะนำไปสร้างเจดีย์บรรจุไว้ ตามพุทธประวัติฝ่ายหินยานก็เช่นเดียวกันและได้กล่าวว่า ได้มีการแบ่งพระบรมธาตุออกเป็น 8 ส่วนในจำนวนนั้น 4 ส่วนนำไปสร้างพระเจดีย์บรรจุไว้ที่สังเวชนัยสถานทั้ง 4 แห่ง คือที่พระองค์ประสูติ ตรัสรู้ทรงแสดงปฐมเทศนาและเสด็จดับขันธปรินิพพาน เพราะสถานที่เหล่านี้พระองค์ตรัสว่าเป็นสถานที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรจะได้เห็น และสักการบูชาในพุทธศาสนาซึ่งประเทศต่าง ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาต่าง ๆ ก็นิยมสร้างกันทั้งนั้น แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า พระเจดีย์รุ่นแรกนั้นไม่มีรูปทรงสัณฐานเดิมให้เห็นถึงทุกวันนี้เลย

การสร้างเจดีย์นั้นถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากสำหรับพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก วัดจะได้ชื่อว่าเป็นวัดสมบูรณ์จะต้องประกอบด้วยพระเจดีย์ ศาสนา โรงธรรมและเสนาสนะที่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “กุฏิ” การสร้างพระเจดีย์ในยุคแรก จุดมุ่งหมายสำคัญคือ เพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนเจดีย์รุ่นหลังโดยเฉพาะเจดีย์ในประเทศที่นับถือศาสนาพุทธมีการเปลี่ยนแปลงไปทั้งด้านคตินิยมและโครงสร้าง คือเมื่อเกิดมีคติการสร้างพระพุทธรูป พระพุทธรูปก็ได้กลายมาเป็นส่วนเสริมพระเจดีย์ให้มีความสำคัญขึ้นมาอีก และในหลายกรณีเมื่อไม่มีพระบรมธาตุจะบรรจุไว้ในเจดีย์หรือเมื่อสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิบุคคลสามัญก็มักจะสร้างพระพุทธรูปประดับไว้ที่ซุ้มจระนำด้วย

วัดเจดีย์ปล่อง หรือ วัดเชียงโฉม ตั้งอยู่ที่ซอยเจดีย์ปล่องเยื้องประตูสถาบันราชภัฏเชียงใหม่ทางทิศเหนือ ปรากฏชื่อของวัดเชียงโฉมในปี พ.ศ.2088 ในสมัยพระนางจิรประภาเทวี สมัยนั้นเจ้าฟ้าเมืองนายนำพวกเงี้ยวได้ยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ตั้งทัพอยู่ที่เวียงสวนดอกแล้ว เคลื่อนทัพมาทางค่ายเชียงโฉม เข้าตีเมืองเชียงใหม่ สันนิษฐานว่าสมัยนั้นเชียงโฉมคงมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านของเชียงใหม่ นอกจากนั้นในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่และตำนานสิบห้าราชวงศ์ กล่าวว่าในยุคของพญามังราย บริเวณนอกกำแพงเมืองมีชุมชนสำคัญที่มีคำขึ้นต้นว่า “เชียง” อยู่ 3 แห่ง ได้แก่ เชียงยืน ปัจจุบันคือบริเวณวัดเชียงยืน เชียงเรือก ปัจจุบันอยู่บริเวณประตูท่าแพ และเชียงโฉม ปัจจุบันคือวัดเชียงโฉม

ในสมัยพญาแสนเมืองมา กษัตริย์ราชวงศ์มังราย องค์ที่ 7 (พ.ศ.1931 – 1955) ในสมัยที่เชียงใหม่ทำสงครามกับสุโขทัย พญาแสนเมืองมาได้พลัดหลงจากกองทัพ พระองค์ได้พบทหาร 2 คน ชื่ออ้ายออบและอ้ายยี่ระ ทั้งสองได้ถวายการอารักขาและนำพญาแสนเมืองมากลับถึงเมืองเชียงใหม่ พญาแสนมาได้ประทานรางวัลและที่ดินให้กับทหารทั้งสองคน โดยอ้ายออบและอ้ายยี่ระได้สร้างบ้านอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเชียงโฉม และได้สร้างรูปช้างเผือก 2 ตัวไว้ระหว่างทางเข้าบ้าน

วัดเจดีย์ปล่องเป็นภาษาที่ชาวบ้านเรียกกันตามลักษณะรูปทรงของเจดีย์ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นโบราณสถานตั้งอยู่หลบมุมมีรั้วชั่วคราวกั้นรอบในระยะประชิดขอบฐานเจดีย์รอบ ๆ เป็นถนน สร้างขึ้นในรัชสมัยพญาติโลกราชถึงพญาแก้ว เป็นศิลปะล้านนาระยะที่ 3 โดยมีลักษณะรูปแบบศิลปกรรมเป็นเจดีย์ทรงกลมยังไม่ได้ทำการขุดแต่งจึงไม่สามารถทราบลักษณะฐานได้ เหนือขึ้นไปเป็นชั้นกลมย่อ 7 ชั้นมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่โดยรอบแต่ละชั้น

พระเจดีย์ที่อยู่ในกลุ่มเจดีย์ปล่อง เท่าที่ได้สำรวจพบคงมีอยู่เฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้นหรืออาจจะมีในที่อื่นอีกก็เป็นได้ เพราะเป็นการยากที่จะสำรวจดูให้ทั่วถึง อีกประการหนึ่งเจดีย์บางองค์ก็พังทลายไปก่อนแล้วความจริงในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงในภาคเหนือยังมีซากเจดีย์ปรากฏอยู่หลายแห่งซึ่งล้วนแต่แสดงให้เห็นว่าเคยเป็นวัดที่มีความสำคัญมาก่อน ส่วนเจดีย์ที่มีซุ้มพระมาก ๆ และอยู่ในสภาพที่พอจะนำมากล่าวไว้มีอยู่ 3 องค์คือ 1. ที่วัดตะโปทาราม (ร่ำเปิง) 2.ที่วัดพวกหงษ์ 3.เจดีย์ปล่อง (วัดเชียงโฉม)

แนวคิดเรื่องซุ้มพระจำนวนมากคงจะได้มาจากวัดจามเทวีและวัดเจดีย์เหลี่ยม ส่วนทรงกลมจะเป็นเพราะอิทธิพลเจดีย์แบบสุโขทัยลังกา เจดีย์ทั้ง 3 องค์นี้เข้าใจว่าจะสร้างในสมัยเดียวกันเพราะมีลักษณะคล้ายกันมาก ในล้านนาไทยนอกจากจะมีเจดีย์ที่มีลักษณะทั่ว ๆ ไปแล้ว ยังมีเจดีย์ที่มีลักษณะพิเศษอีกแบบหนึ่งในภาคเหนือเรียกว่า “เจดีย์ปล่อง” คือเจดีย์ที่มีซุ้มพระรายรอบทั้งองค์พระเจดีย์ สันนิษฐานว่าจะเป็นพระเจดีย์ที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ 21 เท่านั้น นับว่าเป็นวิวัฒนาการใหม่สำหรับสถาปัตยกรรมด้านนี้ในล้านนาไทยไม่เหมือนกับเจดีย์ที่เคยสร้างในรุ่นก่อน ๆ ซึ่งส่วนมากจะเป็นพระเจดีย์ที่ท่อนบนกลม หรือ แปดเหลี่ยมท่อนล่างเป็นสี่เหลี่ยมย่อมุมเป็นส่วนมาก ที่ไม่ย่อมุมมีอยู่ส่วนน้อย

การสร้างซุ้มพระที่องค์เจดีย์มีมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษต้น ๆ เมื่อมีธรรมเนียมการสร้างวิหารถ้ำ จึงนำเอาพระเจดีย์เข้าไปเป็นส่วนประกอบด้วย ถ้าจะสักการบูชาพระพุทธรูปอย่างเดียว ก็รู้สึกว่าขาดสิ่งที่เคยสักการะบูชามาก่อน ปัจจัยการสร้างซุ้มพระหรือพระพุทธรูปติดกับองค์เจดีย์นั้นมีสาเหตุสำคัญอยู่ 2 ประการด้วยกันคือ 1. การรวมเอาพระพุทธรูปและเจดีย์ไว้ด้วยกัน เมื่อเกิดมีคติการสร้างพระพุทธรูปแล้ว โดยเฉพาะเมื่อนิยมสร้างวิหารถ้ำด้วยการสลักพระเจดีย์ไว้เป็นปูชียวัตถุสำหรับพุทธศาสนิกชนจะได้สักการบูชา 2. เนื่องจากการสร้างเจดีย์เป็นการสร้างกุศลที่สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา จึงทำให้มีผู้นิยมสร้างพระเจดีย์กันมาก แม้ว่าจะไม่มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุก็ตาม

นับว่าเป็นวิวัฒนาการใหม่ที่พระเจดีย์แบบมีซุ้มพระสร้างเนินทรงกลม แต่การสร้างให้มีซุ้มพระเช่นนี้ ก็คงจะเนื่องมาจากหาพระบรมธาตุไม่ได้ แต่เมื่อมีศรัทธาจะสร้างวัดให้สมบูรณ์ตามองค์ประกอบของวัดแล้ว ก็จำเป็นต้องสร้างเจดีย์ด้วยถือว่าเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญประจำวัด

ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ทำการโบกปูนทับเพื่อรักษารูปทรงของเจดีย์เพื่อไม่ให้ทรุดลง และทางมูลนิธิพระบรมธาตุดอยสุเทพได้เข้ามาบูรณะฟื้นฟูวัดเชียงโฉมให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา ด้วยแรงศรัทธาของชาวชุมชนเจดีย์ปล่อง บัดนี้ทางวัดได้สร้างพระพุทธรูปพระเจ้าแข้งคม หล่อด้วยโลหะ ปิดทองหนัก 800 กิโลกรัม ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัด

บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น