ผ้าอ้อมนี้มีที่มา! ความเชื่อเรื่อง “ผีตากผ้าอ้อม” ของล้านนา

เมื่อกระแสน้ำลดระดับในช่วงเดือนเกี๋ยง หรือถ้าเรียกให้ตรงกับตรงทางภาคกลางคือ เดือนพฤศจิกายน ซึ่งขณะที่น้ำลดกระแสพร้อมกับสายลมหนาวเริ่มโพยพัดมาในช่วงนี้ บรรดาจิ้งหรีดก็จะพากันร้องเซ้งแซ่ในยามค่ำคืน เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าความหนาวและแห้งแล้งกำลังคืบคลานเข้ามาแล้ว

และในวันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” มานำเสนอเรื่องราวความเชื่อของ “ผีตากผ้าอ้อม” ว่ามีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวล้านนาอย่างไร

แม้เสียงจิ้งหรีดกรีดร้องส่งสัญญาณบอกว่าน้ำจะลดแล้วแต่ก็ไม่สามารถวางใจได้ว่าน้ำจะลดจริง เพราะมีบางปีน้ำลดกระแสไปแล้วแต่จู่ ๆ เมื่อฝนตกหนักน้ำกลับมาไหลนองท่วมไร่นา บ้านเรือนกันอีกเป็นครั้งที่สองที่สามก็มี ต้องรอให้บรรดาผีทั้งหลายพากันมาตากผ้าอ้อมนั่นแหละ จะไว้วางใจแน่นอนว่าน้ำจะลดจริงแน่นอนในปีนั้น

หากเราเดินไปตามไร่นาเรือกสวนตามฝั่งน้ำที่มีหมอกเหมยลอยละอองในยามเช้า หรือเกาะกลางแม่น้ำจะเห็นละอองน้ำสีขาวเกาะผืนใยเล็ก ๆ ปิดปากรูของแมลงตามพื้นดินบ้าง บางผืนกางอยู่บนยอดหญ้าบ้าง บางผืนใหญ่ราวคืบกว่า ๆ บางผืนเล็กเพียงนิ้วเดียว ผืนใดที่มีละอองน้ำเกาะเป็นแผ่นสีขาวนี้เองชาวบ้านเรียกกันว่า “ผีตากผ้าอ้อม”

ต่อเมื่อถึงยามสายแสงอาทิตย์สาดส่องให้ละอองน้ำแห้งเหือดหายไป เหลือเพียงใยแมงมุมที่ทำรังอยู่ตามพื้นดิน รอให้มีละอองหมอกเหมยยามกลางคืนกลับมาเกาะตามเส้นใยอีกครั้ง ก็จะมีผืนผ้าอ้อมของบรรดาผีเอามาออกตากให้เห็นอีกครั้ง เมื่อล่วงผ่านหน้าหนาวเข้าหน้าร้อนบรรดาผีก็จะเก็บผ้าอ้อมไว้ ไม่นำผ้าอ้อมออกมาตาก จนกว่าจะถึงยามหนาวปีหน้า จนกระแสน้ำลดระดับอย่างแท้จริง ผีทั้งหลายก็จะพากันนำผ้าอ้อมกลับมาตากอีกครั้ง

กล่าวโดยสรุปแล้ว ผู้คนล้านนาจะใช้ปรากฏการณ์ผีตากผ้าอ้อมเป็นสัญญาณบอกว่า หากมีผีเอาผ้าอ้อมมาตากเมื่อใด เมื่อนั้นกระแสน้ำจะลดระดับอย่างแท้จริง พวกเขาจึงพากันเริ่มลงมือทำสวนปลูกพืชตามริมฝั่งน้ำ ตามเกาะกลางน้ำโดยไม่มีสายน้ำที่มาทำให้ทรัพย์สิน พืชผลของพวกเขาเสียหาย

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : นิคม พรหมมาเทพย์
ภาพจาก : bansuanporpeang.com, twitter.com

ร่วมแสดงความคิดเห็น