คณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค มหาวิทยาลัยพายัพ จัดโครงการก่อตั้งศูนย์ส่งเสริมและบริการสุขภาพ คณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่

อาจารย์นงลักษณ์ วุฒิปรีชา ผู้จัดการศูนย์ส่งเสริมและบริการสุขภาพ คณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค มหาวิทยาลัยพายัพ เผยว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุอย่างรวดเร็ว จากการสำรวจผู้สูงอายุ ซึ่งหมายถึง ผู้ที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนและสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2537 มีจำนวนผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 6.8 ของประชากรทั้งประเทศ และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.4 ร้อยละ 10.7 ร้อยละ 12.2 และร้อยละ 14.9 ในปี พ.ศ. 2545 2550 2554 และ 2557 ตามลำดับ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2557)

จากสถิติดังกล่าวทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงวัย (Aging society) อย่างแท้จริง โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด ผู้สูงอายุต้องประสบภาวะสุขภาพต่าง ๆ และอาจส่งผลรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีปัจจัยด้านสังคมมาเกี่ยวข้องโดยเฉพาะการขาดผู้ดูแล และการขาดปฏิสัมพันธ์กับสังคม ทำให้ต้องพัฒนาด้านการสร้างเสริมและการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุให้แข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดปัญหาและภาระด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว สังคม รวมทั้งประเทศชาติ โดยดำเนินการควบคู่กับมาตรการอื่นของรัฐเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ซึ่งผู้ที่มีบทบาทสําคัญ ได้แก่ สมาชิกในครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น

โดยโรงเรียนผู้สูงอายุเป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การจัดการศึกษา การพัฒนาทักษะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ (กรมกิจการผู้สูงอายุ, 2559) จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุไทยอย่างรวดเร็วนี้ แม้จะแสดงถึงความก้าวหน้าด้านวิทยาการทางการแพทย์ ระบบการดูแลสุขภาพที่มีความรวดเร็วและทันสมัย แต่อย่างไรก็ดีพบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีภาวะโรคเรื้อรังซึ่งต้องการการรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคในระบบไหลเวียนโลหิต โรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ กลุ่มโรคเฉพาะในผู้สูงอายุ (geriatric syndrome)

นอกจากนี้ โรคเบาหวานเป็นโรคที่พบบ่อยในทั่วทุกภูมิภาคในโลก ในประเทศไทยเบาหวานก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้มากมาย ที่พบที่สุดอย่างหนึ่งคือ แผลเบาหวาน มีผู้ประมาณไว้ว่าร้อยละ 15 ของผู้ป่วยเบาหวานจะเกิดแผลที่เท้า ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดแผลเรื้อรังที่เท้าและทำให้มีอัตราการถูกตัดเท้าสูงกว่าผู้ที่ไม่เป็นเบาหวานถึง 15 – 46 เท่า ความชุกของการเกิดแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวานในแต่ละปีอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 2 – 10 และแม้ว่าแผลเบาหวานโดยส่วนใหญ่จะให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ แต่ร้อยละ 20 ของผู้ป่วยเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ของค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งหมด

ดังนั้นพยาบาลจึงมีส่วนสำคัญในการดูแลและการประเมินแผล เพื่อให้การดูแลแผลที่เท้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ แพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน (Thai Traditional and Complementary Medicine) เป็นศาสตร์การแพทย์ดั้งเดิมที่เน้นการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ มองสุขภาพเป็นองค์รวมของชีวิตไม่แยกส่วนชีวิตและทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติมีความสำคัญ เกื้อกูลเชื่อมโยงกันอย่างสมดุล พลังชีวิตขับเคลื่อนตามเหตุปัจจัย ชีวิตเป็นสุขและไม่เกิดโรค
พยาบาลเป็นบุคลากรวิชาชีพด้านสุขภาพซึ่งต้องปฏิบัติงานรับผิดชอบดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน การศึกษาเรียนรู้ และทำความเข้าใจศาสตร์ทางด้านสุขภาพอย่างรอบด้าน จะส่งผลให้พยาบาลสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

คณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค มหาวิทยาลัยพายัพ เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงมีโครงการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและบริการสุขภาพ เพื่อเป็นแหล่งบริการวิชาการ และแหล่งเรียนรู้ เสริมประสบการณ์ที่หลากหลายนอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำทักษะต่าง ๆ ที่ได้เรียนมาปฏิบัติจริง ได้แก่ ทักษะหัตถบำบัดการนวดเบื้องต้น ทักษะการทำลูกประคบ น้ำไพลสด ยาหม่องสมุนไพร ยาดมธาตุเจ้าเรือน น้ำสมุนไพรธาตุเจ้าเรือน เมี่ยงคำ ยำสมุนไพรธาตุเจ้าเรือน การออกกำลังกายด้วยผ้าขาวม้า และโยคะเบื้องต้น

ซึ่งการใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน เพื่อเป็นการป้องกัน รักษา การดูแลสุขภาพ เป็นการใช้ภูมิปัญญานอกเหนือจากการแพทย์แผนปัจจุบันและยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาวิชาชีพต่อไป

นอกจากนี้ คณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค ร่วมกับศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลเท้า โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนที่จะเกิดแผลที่เท้า ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาบุคลากรสหสาขาวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ให้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านในการดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวานก่อนที่จะเกิดแผลที่เท้า

ทั้งนี้เพื่อตอบสนองนโยบายของประเทศ ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ช่วยเพิ่มระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว และการลดค่าใช้จ่ายของระบบบริการสุขภาพ อีกทั้งคณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค มหาวิทยาลัยพายัพ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตแขวงกาวิละ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ ร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ในการพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุชุมชนเมือง แขวงกาวิละ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้ พัฒนาทักษะในการดูแลตนเอง ตามบริบทชุมชนเมือง ซึ่งจะนําไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมและบริการสุขภาพ คณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค มหาวิทยาลัยพายัพ เขตแก้วนวรัฐ (ตรงข้ามโรงพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค) จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 053-242532

ร่วมแสดงความคิดเห็น