“New voters” คุยกับคนรุ่นใหม่ถึงมุมมองทางการเมือง

ประมาณ 8 ปีแล้วที่ประเทศไทยห่างจากการเลือกตั้งมา ประชาชนให้การตอบรับและตื่นตัวกับการออกไปใช้สิทธิ์ออกเสียงกันอย่างมาก ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้จะกลายเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย เป็นที่ได้รับการจับตามองจากคนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

และในปีนี้เอง ได้มีกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหน้าใหม่ที่หลายคนนิยามพวกเขาว่า ‘New Voters’ เกิดขึ้นและครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของพวกเขา คนกลุ่มนี้มีจำนวนมากถึง 6,426,014 คน และถ้าหากนำมาคำนวณดูแล้ว กลุ่มคนเหล่านี้สามารถเลือกตัวแทนไปนั่งในสภาได้ถึง 61 คนเลยทีเดียว

วันนี้ “เชียงใหม่นิวน์” ได้ชักชวนกลุ่ม ‘New voters’ ที่มีความสนใจในด้านการเมือง 4 คน ได้แก่ กอล์ฟ – นลธวัช มะชัย อายุ 22 ปี นศ. คณะการสื่อสารมวลชน ชั้นปีที่ 4 มช., เอิร์ท – สุรยุทธ จันทวงค์ อายุ 20 ปี นศ. คณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มช., ฟอร์ด – นพดล พอใจ อายุ 21 ปี นศ. คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มช. และ เปา – สิทธิชัย คำมี อายุ 22 ปี นศ. คณะศึกษาศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 มช. มาพูดคุยถึงมุมมองทางด้านการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในฐานะที่คนกลุ่มนี้กำลังจะเป็นไพ่อีกใบที่จะได้ร่วมกำหนดอนาคตของประเทศไทย

ช่วยแนะนำตัวหน่อยครับ ?


กอล์ฟ – นลธวัช มะชัย นศ. คณะการสื่อสารมวลชน ชั้นปีที่ 4 มช.

กอล์ฟ : สวัสดีครับ กอล์ฟ – นลธวัช มะชัย ผู้อำนวยการโรงละคร ‘ลานยิ้มการละคร’ เป็นคนทำละครที่ใช้กระบวนการละครมา พูดคุย ถกเถียง แลกเปลี่ยน และก็ทดลองหาคำตอบ จากประเด็นสังคมการเมืองจากทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในไทย


เอิร์ท – สุรยุทธ จันทวงค์ นศ. คณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มช.

เอิร์ท : สวัสดีครับ เอิร์ท – สุรยุทธ จันทวงค์ คณะนิติศาสตร์ ปี 2 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครับ


ฟอร์ด – นพดล พอใจ นศ. คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มช.

ฟอร์ด : สวัสดีครับ ฟอร์ด – นพดล พอใจ ครับ ตอนนี้เรียนอยู่คณะรัฐศาสตร์และรัฐประสาสนศาสตร์ สาขาการเมืองและการปกครอง ชั้นปีที่ 3  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครับ นอกจากเรียนแล้วก็จะมีช่วยงานชมรมประชาธิปไตย เป็นชมรมกลาง และเป็นสมาชิกพรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งสโมกลางของมหาวิทยาลัยครับ และในช่วงนี้ก็จะมีการหาเสียงของพรรคการเมืองใหญ่ เวลามีนักการเมืองจัดวงคุยดีเบตกัน เราก็จะเข้าไปคุย สะท้อนปัญหาครับ


เปา – สิทธิชัย คำมี นศ. คณะศึกษาศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 มช.

เปา : สวัสดีครับ เปา – สิทธิชัย คำมี อยู่คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย ชั้นปีที่ 5 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครับ นอกจาสถานะนักศึกษาแล้วยังเป็นสมาชิกพรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ อดีตประธานหอพักนักศึกษาชาย 7 อดีตประธานชมรมนักศึกษาอีสาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปัจจุบันเป็นผู้ร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งในทุกช่องทางครับ ทั้งเฟซบุ๊ก ทีวี ไปจนถึงหน้าเวทีปราศรัยของหลาย ๆ พรรค


กอล์ฟ – นลธวัช มะชัย นศ. คณะการสื่อสารมวลชน ชั้นปีที่ 4 มช.

อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราสนใจเกี่ยวกับการเมือง ?

กอล์ฟ : คงเป็นเรื่องของข้อมูลที่มันไม่ตรงกัน เราเรียนมาในระดับประถม มัธยม เรามีบทเรียน มีวิชาเรียน เรามีอะไรต่าง ๆ มากมายที่บอกข้อมูลให้กับเราสิ่งเหล่านั้นมันคือการบอก แต่ไม่ได้สอนให้เราคิด มันคือการบอก บอกว่าไทยเสียดินแดนกี่ครั้ง ?  เพราะอะไร ? ใครสร้างประเทศไว้ ? ปัญหาของไทยในแต่ละยุคสมัย ไทยรบพม่า พม่ารบไทย เราเสียไม่เสียเอกราชเลย สัญญาเบาว์ริ่งไม่นับว่าเป็นการเสียเอกราช เป็นแค่ข้อตกลงทางเศรษฐกิจ อะไรทำนองนี้ แต่วันนึงเราอ่านหนังสือแล้วเรากลับค้นพบข้อมูลอีกแบบนึงที่มันพูดตรงกันข้ามกับแบบเรียนของเรา มันก็เลยเกิดคำถามว่า เราต้องเชื่อใครกันแน่?  

เอิร์ท : ผมผ่านเหตุการณ์ปัญหาทางการเมืองต่าง ๆ มาตั้งแต่เด็ก และผมคิดว่าอำนาจใดที่ไม่ได้มาจากประชาชนถือเป็นอำนาจที่ถือว่าไม่โปร่งใส ประชาชนก็รู้สึกว่าอำนาจของเขาไม่ได้ถูกใช้อย่างเต็มที่ ผมก็คือหนึ่งในนั้น นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผมสนใจการเมือง

ฟอร์ด : สิ่งที่ทำให้ผมสนใจทางด้านการเมืองก็คือเราเรียนทางด้านนี้ อีกอย่างหนึ่งก็คือข่าวจากหนังสือพิมพ์ และสื่อต่าง ๆ ก็จะนำเสนอข่าวหลายประเภท เผลอ ๆ ได้อ่านข่าวการเมืองจึงทำให้เราสนใจข่าวทางด้านนี้ มันสำคัญ และมันเป็นเรื่องที่อยู่รอบตัวเรา

เปา : มันอาจจะเป็นปัญหาการเมืองด้วยแหละ เพราะว่าเราทุกคน ถ้าเราเกิดมาท่ามกลางกระแสสังคมการเมือง มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราต้องสนใจ ด้วยสถานการณ์ ด้วยสิ่งแวดล้อมด้วย มันเลยทำให้เราสนใจ ตั้งแต่จำความได้ เกิดการพัฒนาชุมชนของเราเอง เกิดการชุมนุมทางการเมือง เกิดการรัฐประหาร มีรัฐบาลใหม่เข้ามา มันทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบ เพราะนอกจากเราจะเห็นเขาเข้ามา และออกไป เรายังได้รับผลกระทบโดยตรงด้วย ทั้งนโยบายต่าง ๆ ที่เขาคิดและทำมา ก็อดไม่ได้ที่จะทำให้ต้องมองว่า การเมืองคือเรื่องของเรา


เอิร์ท – สุรยุทธ จันทวงค์ นศ. คณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มช.

รู้สึกยังไงกับการเลือกตั้งครั้งแรกของเรา ?

กอล์ฟ : ครั้งนี้เราจะได้โหวตกันจริง ๆ เราคิดว่าปากกาและคูหาเลือกตั้งเป็นวิธีที่สันติวิธีที่สุด แล้วถ้าการเลือกตั้งเท่ากับสันติวิธี การเลือกตั้งครั้งนี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล

เอิร์ท : ตื่นเต้นครับ เพราะว่าผมเป็นคนที่สนใจการเมืองตั้งแต่อายุ 10 ขวบ และในช่วงรัฐประหารมันมีการเอาอำนาจที่ไม่ชอบธรรมเข้ามา และตอนนั้นเราก็ยังไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่ว่าเราอยากเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่เราไม่มีกำลังมากพอ ผมเชื่อว่าครั้งนี้มันรู้สึกตื่นเต้น เพราะว่าอย่างน้อยเสียงเราจะส่งไปว่า เราเลือกคนนี้มาปกครองนะ

ฟอร์ด : ตื่นเต้นครับ (หัวเราะ) จะได้เข้าคูหาแล้ว ผมก็บอกไม่ถูก ตัดสินใจยากเหมือนกัน เราก็ได้อ่านข่าว บทความ และเปเปอร์ที่อาจารย์เขาไปลงพื้นที่ต่าง ๆ อีกทั้งได้ฟังจากคนในครอบครัว ว่าเวลาไปเลือกตั้งมันจะเป็นแบบนั้น แบบนี้ แต่ว่าเราก็ยังไม่เคยเห็นภาพซักที แล้วก็ตอนเด็ก ๆ เอง เวลาแม่เลือกตั้งที่บ้าน เราก็จะตามแม่ไปด้วย แต่เราก็ไม่มีโอกาสเข้าไป อีกอย่างคือพอเราโตมาแล้วจะมีการเลือกตั้งครั้งแรก มันรู้สึกว่าค่อนข้างจะสำคัญ โอเค เราจะได้ใช้สิทธิ์กับเขาซักที จริง ๆ มันก็สำคัญกับทุกช่วงวัยนะครับ เพียงแต่ว่ายิ่งสำหรับคนอายุใหม่ ๆ การเลือกพรรคการเมือง มันยิ่งจะสะท้อนความต้องการและปัญหาของเรา ผ่านการเลือกตามนโยบายที่เขาได้เสนอมาครับ

เปา :  ก็ดีใจและและน้อยใจครับ ถ้าเปรียบการเมืองช่วงนี้เป็นคู่รัก การจะออกไปเลือกตั้งครั้งนี้ก็เหมือนถูกเลื่อนนัดบ่อย ๆ จนเราไม่แฮปปี้กับแฟนคนนี้แล้ว (ซึ่งเป็นแฟนที่เราไม่ได้เลือกมาด้วยนะ) จริง ๆ การเลือกตั้งอาจจะดูเล็กน้อยสำหรับคนไม่สนใจการเมือง แต่สำหรับผมมองว่ามันคือการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองและสังคมนะ มันไม่ใช่แค่ 4 ปี เพราะกฎหมายบางตัว ยุทธศาสตร์บางอย่าง มันอยู่กับเราไปตั้งค่อนชีวิต  นั่นแหละครับ การเลือกตั้งสำคัญเพราะกำหนดความเป็นไปของสังคมและตัวเราได้


ฟอร์ด – นพดล พอใจ นศ. คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มช.

คาดหวังอะไรกับการเลือกตั้งครั้งนี้บ้าง ?

เอิร์ท : ผมคาดหวังถึงความบริสุทธิ์ในการเลือกตั้ง มันควรจะเป็นเสียงของประชาชนที่แท้จริง ผมอยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่ใสสะอาด เป็นมุมมองของประชาชนที่แท้จริงครับ

ฟอร์ด : ผมคิดว่า อยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะได้เลือก 4 ปีครั้ง ในครั้งต่อ ๆ ไป เลือกเขาไปแล้วเราได้อะไรมากกว่าการไปใช้สิทธิ์ ทำให้มันพัฒนาระบบการเมืองต่าง ๆ ถึงแม้ว่าเราไม่รู้ว่าเราเลือกรอบนี้แล้วพรรคการเมืองต่าง ๆ หรือว่ารัฐบาลสมัยต่อไป เขาจะทำได้ตามนโยบายหรือเปล่า หรือจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มั้ย แต่ถ้าเราไม่ลองให้โอกาส เชื่อใจครั้งแรก เราก็จะไม่เห็นภาพถ้าเราถอดใจตั้งแต่ตอนนี้ ผมคิดว่าระบบประชาธิปไตยมันคือการลองผิดลองถูก มันต้องเรียนรู้จากการปฏิบัติ ทดลองไปเลือก

เปา : อย่างแรกคือ คาดหวังว่ากระบวนการต้องบริสุทธิ์ยุติธรรมก่อน แล้วดอกผลของมันจะเป็นไปตามที่เสียงประชาชนเลือกมา แต่ก็ตามที่เราเห็นว่ามันเป็นยังไง แต่ยังไงเสียผมก็มองว่า มันคือก้าวแรกในการบำรุงรักษาต้นประชาธิปไตย หลังจากที่เหี่ยวแห้งมานาน และคิดว่าดอกผลของต้นนี้ คงไม่ใช่รัฐบาลที่มีอายุนานขนาดนั้น เพราะมีเครื่องไม้เครื่องมือเต็มไปหมดในกระบวนการ แต่มองว่ามันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่อาจจะได้รัฐบาลที่มีอายุสั้น แต่ว่าอาจจะเข้าไปช่วยถางทาง และปูทางใหม่ให้การตั้งรัฐบาลครั้งต่อไปมันดีขึ้น


เปา – สิทธิชัย คำมี นศ. คณะศึกษาศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 มช.

แล้วเราอยากให้รัฐบาลเป็นแบบไหน ?

กอล์ฟ : รัฐบาลจะต้องฟังเสียงประชาชน เพราะจุดเริ่มต้นของรัฐบาลนั้นมาจากประชาชน รัฐบาลที่ฟังเสียงของประชาชนคือรัฐบาลที่แท้จริง เป็นไปไม่ได้ที่จะฟังทุกคน เป็นไปไม่ได้ที่จะทำตามใจทุกคน แต่ขอให้ฟัง ฟังเพราะเราเลือกคุณไปแล้ว คุณแสดงวิสัยทัศน์กันมาแล้ว ต่อไปคุณฟังเรา พอคุณได้เป็นรัฐบาลแล้วคุณก็ลองหันกลับมามองพวกเรา

เอิร์ท : อันดับ 1 คือต้องมาจากประชาชนและมาจากความชอบธรรม อันดับ 2 คือต้องฟังประชาชน หลังจากที่เข้าไปแล้วผมไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง แต่หลังจากที่เข้าไปแล้วอยากให้คุณทำในสิ่งที่คุณได้หาเสียงไว้ ทำตามนโยบายที่คุณพูดไว้

ฟอร์ด : อยากให้เขาเปิดรับความหลากหลาย ซึ่งมันก็เป็นตัวสะท้อนว่าประเทศนั้นนั้นมีความหลากหลายทั้งด้าน อาชีพ ศาสนา และวัฒนธรรม ทีนี้พอจัดตั้งรัฐบาลแน่นอนว่าจะมีก็แค่ไม่กี่พรรคใหญ่ ๆ ที่ได้เป็นรัฐบาล เพราะฉะนั้นสำคัญเลยก็คือพรรคที่เป็นรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับความหลากหลายในประเทศ เพราะพลเมืองในประเทศเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ รัฐจึงต้องดูแลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งอยากให้รัฐบาลต่อไปพัฒนาเรื่องระบบเศรษฐกิจ และสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ซึ่งพอมันมีในเรื่องของความเหลือล้ำทางเศรษฐกิจ มันทำให้โอกาสของต่อละคนไม่เท่ากัน ทีนี่รัฐบาลจะทำยังไงให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำนี้มันแคบลง ที่จะเปิดโอกาสให้ประชนเข้าถึงโครงสร้างขั้นพื้นฐานได้อย่างครอบคลุมจริง ๆ

เปา : มองว่ารัฐบาลควรช่วยทุกคนเท่า ๆ กัน ควรมีนโยบายเพื่อคนทุกคน ไม่ใช่นโยบายเพื่อคนกลุ่มหนึ่ง เพื่อดึงเอาคะแนนเสียงของตัวเองไป ดังนั้นรัฐบาลในอุดมคติมันต้องมองเห็นทุกคน ส่วนอีกความคาดหวังในมุมของนักศึกษาครู คือหวังว่ารัฐบาลใหม่จะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เพราะนโยบายเหล่านี้จะส่งผลต่ออนาคตของเด็ก ๆ แน่นอน เราลองมองดูว่าถ้าเด็กเกิดมาแล้วเจอสังคมที่ไม่พึงประสงค์ พอเข้าระบบการศึกษา เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัญหาเหล่านี้จะตามมาด้วย แล้วเด็กเหล่านี้ไม่ใช่เกิดมาแล้วหายไป ต่อไปพวกเขาจะเป็นผู้ใหญ่  กำหนดทิศทางอนาคตของประเทศ ผมจึงอยากให้รัฐบาลมองในมุมการสร้างคนขั้นพื้นฐานด้วย ถัดจากนั้นผมว่าระบบการศึกษาพอรับไม้ต่อได้

เรามีการเลือกพรรคการเมืองจากอะไรบ้าง ?

เอิร์ท : หลัก ๆ ผมจะเลือกพรรคการเมืองที่ให้สิทธิ์แก่ประชาชน เป็นมากกว่า 50% หรือว่า 70%  เพราะประชาชนถ้าหากมีชีวิตที่ดีหรือสามารถมีสิทธิ์มีเสียงทำอะไรได้ รัฐบาลก็มีประโยชน์ด้านนี้ด้วย

ฟอร์ด : สำหรับการตัดสินใจ หลัก ๆ ก็ต้องดูที่นโยบายที่เขาเสนอมาครับ ถ้าเราเลือกเขาไปแล้ว เขาจะปรับเปลี่ยนและแก้ไขปัญหาอะไรให้กับเราได้บ้าง ซึ่งมันสะท้อนได้ว่าประเทศนั้น ประสบปัญหาในด้านนั้นอยู่ แต่ถ้าเป็นการเลือก ส.ส. ในท้องที่ก็ต้องดูที่ประสบการณ์ในการณ์ทำงานของเขา มันก็เป็นส่วนช่วยได้ว่าถ้าหากเราตัดสินใจที่จะเลือกเขาแล้ว เขาจะทำอะไรให้กับเราได้บ้าง

เปา : เลือกพรรคการเมืองจากนโยบายครับ เพราะเราคาดหวังกับทิศทางของพรรคการเมืองที่เขาสังกัด ว่ามีนโยบายยังไง จะเข้าไปบริหารจัดการยังไง ทำได้และมีประสบการณ์จริงหรือไม่ ซึ่งเครดิตของพรรคการเมืองก็สำคัญ


เอิร์ท – สุรยุทธ จันทวงค์ นศ. คณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มช.

คิดว่าการดีเบตของแต่ละพรรค มีส่วนในการตัดสินใจเลือกพรรคนั้นไหม ?

กอล์ฟ : มีส่วน เพราะมันมีประโยชน์ที่เป็นพื้นที่ให้คนเหล่านี้ได้ไปแสดงวิสัยทัศน์ ทำไมคนพูดเก่งถึงมีโอกาสที่จะบริหารจัดการได้ เป็นเพราะมีไหวพริบเฉพาะหน้า ที่จะแก้ปัญหาได้ ไม่ได้หมายความว่าเก่งไปทั้งหมด เพราะแต่ละพรรคก็มีคนทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง แต่ในเวทีดีเบตนั่นคือเบื้องหน้าของพวกเขาที่มาแสดงศักยภาพ วิสัยทัศน์ คือวิธีคิดมันจะกำหนดวิธีปฎิบัตินะ การดีเบตคือการเอาวิธีคิดของคุณมาดูกันหน่อย ประชาชนก็จะเดาได้ว่าคุณมีวิธีคิดแบบนี้ วิธีปฏิบัติของคุณจะเป็นแบบไหน เพราะฉะนั้นเราจึงอยากให้มีเวทีดีเบตเยอะ ๆ แต่ไม่ต้องไปสนใจเฉพาะเรื่องความขัดแย้ง เรื่องไร้สาระต่าง ๆ  แต่ให้สนใจที่นโยบายที่เขามาแถลง

เอิร์ท : สำหรับผมไม่มีนะครับ ผมคิดว่าการดีเบตมันอาจจะมีการร่างสคริปต์ หรือพูดอะไรก็ตามที่มันส่งผลถึงคะแนนเสียง แต่แท้จริงแล้วนโยบายหรือว่าทัศนะคติทางการเมืองที่มันสื่อออกมาทางสื่อรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการหาเสียงหรือการสัมภาษณ์ ผมคิดว่ามันควรเป็นสิ่งที่เราจะดูและศึกษาตรงนี้กันมากกว่า

ฟอร์ด : ผมคิดว่าการเลือกตั้งรอบที่จะถึงนี้ ชัดเจนแล้วว่าการดีเบตในหลายช่อง ทำให้เราสามารถที่จะเห็นทัศนคติ เห็นบุคลิก มุมมองได้ชัดกว่าการที่ได้เจอเขาจากใบปลิวหาเสียง และเห็นไหวพริบ ความจริงใจของเขาด้วย

เปา : มองว่ามีส่วนมาก พรรคการเมืองบางพรรค ในทีแรกก็ไม่ได้มีอะไรน่าสนใจมากมาย แต่พอได้ไปฟังเขาดีเบต ทำให้เราเห็นว่าเขามีความรู้ มีประสบการณ์ แล้วมันเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ มันมีผลในการที่เราจะไปเลือกคน ๆ หนึ่ง ว่าเขามีวิสัยทัศยังไง มีนโยบายแบบไหน แล้วก็คำพูดจากการดีเบตมันบ่งบอกถึงทัศนคติ แล้วก็การกระทำในอนาคตได้ด้วย

อยากให้รัฐบาลหลังจากการเลือกตั้งมาพัฒนาเรื่องใดบ้าง  ?

กอล์ฟ : ผมคิดว่านักการเมืองหลังการจัดตั้งรัฐบาล จะต้องทำในสิ่งที่หาเสียงไว้ ต้องจริงจังกับสิ่งที่ตัวเองพูดไว้ ผมเลยรู้สึกว่านักการเมืองจะต้องสานเจตนารมณ์ประชาธิปไตยให้ได้ เพื่อให้ระบบการเมืองการปกครองในประเทศไทยมีเสถียรภาพ ประชาชนจะได้มีกินมีใช้

เอิร์ท : อันดับ 1 เลยคือปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน อันดับ 2 คืออยากให้เกิดการกระจายอำนาจ อยากให้ประชาชนเลือกผู้นำในท้องถิ่นของตัวเองได้ เหมือนเป็นสภาประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ ให้คนในท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาในพื้นที่ของตัวเอง ไม่ใช่รอรัฐบาลกลางมาแก้ให้ตลอดครับ

ฟอร์ด : ผมว่าพรรคต่าง ๆ ถึงคุณจะไม่ชนะในสมัยนี้ อาจจะเป็นฝ่ายค้านหรือพรรคร่วมรัฐบาล อาจจะไม่มีเสียงมากในรัฐสภา ก็อยากให้คุณทำในสิ่งที่คุณได้หาเสียงไว้ เพราะว่าพรรคต่าง ๆ คุณได้เสนอตัวแล้วว่าจะเป็นตัวแทนของประชาชนแล้ว ถึงคุณจะได้ทำหรือไม่ได้ทำ แต่คุณก็พร้อมที่จะรับฟังประชาชนได้ตลอดเวลา

เปา : มองว่าอยากให้มาพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องแรก ควรที่จะทำให้ประชาชนทำมาค้าขายคล่องขึ้น เศรษฐกิจมันควรจะแก้ไขให้มันดีขึ้น

คิดยังไงกับการที่สื่อหรือนักวิชาการ เรียกคนกลุ่มเราที่เป็น New voters ว่า “คนรุ่นใหม่” หรือ “เด็กสมัยนี้”

เอิร์ท : ผมคิดว่าเขาอาจจะมองในมุมอีกมุมหนึ่งเนอะ แต่ว่าในมุมของพวกเรา เรามีความตื่นตัวในทางการเมืองสูง ซึ่งเขาอาจจะมองว่า เขาเห็นโลกมามากกว่าเรา บางครั้งก็รู้สึกดี บางครั้งก็อาจจะรู้สึกแย่ (หัวเราะ) แต่เราก็คิดว่าเราเป็นคนหนึ่งที่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งเหมือนกัน และมีสิทธิ์ในการเป็นพลเมืองเหมือนกัน

ฟอร์ด : ไม่รู้ว่าก่อน ๆ ที่ผ่านมาเขาได้เรียกกันแบบนี้รึปล่าว แต่ว่าที่เห็นชัดเจนเลยคือหลาย ๆ สื่อ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ และเด็ก ๆ ด้วยกันเองก็เรียก New voters ว่าคนรุ่นใหม่ ก็แสดงว่าเขาให้ความคาดหวังกับคนรุ่นเรา ผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นครั้งแรก และการเลือกตั้งได้เว้นระยะห่างนานถึงแปดปี ทำให้ยอดผู้มิสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก พุ่งไปจนถึง หก เจ็ดล้านคน อีกอย่างหนึ่งก็คือคนรุ่นเรายังไม่เคยออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ให้กับพรรคการเมืองเก่าหรือแม้แต่พรรคการเมืองใหม่เอง ทำให้คาดการณ์ไม่ได้ด้วยว่า New voters จะเลือกกลุ่มใด เพราะไม่เคยมีสถิติมา ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับเด็กมากขึ้น และเป็นตัวแปรที่ว่าเด็กกลุ่มนี้ในอนาคตจะสนใจการเมืองหรือไม่ ก็จะเริ่มจากตรงนี้

เปา : จริง ๆ ก็มองว่าเด็กสมัยนี้เนี่ย ก็เป็นลูกของผู้ใหญ่สมัยนี้ด้วย (หัวเราะ) การที่จะบอกว่าเด็กสมัยนี้ไม่สนใจการเมือง หรือเด็กพวกนี้สนใจการเมืองมากเกินไปเนี่ย มันก็เป็นผลมาจากเขานั่นแหละ มันเป็นผลมาจากสังคมที่พวกเขาทั้งหลายได้สร้างมา แล้วพวกเราแค่มาเรียนรู้เอาแค่นั้นเอง และตัดสินใจเองแค่นั้น แล้วเรามองว่าคนรุ่นใหม่ พวกเขาโชคดีที่มีความรวดเร็วและโอกาสหลายช่องทางในการรับข้อมูล ซึ่งสะดวกในการเลือก รับ ปรับ ใช้ หรือที่เขาเรียกว่า media literacy ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่ผ่าน ๆ มาได้


กอล์ฟ – นลธวัช มะชัย นศ. คณะการสื่อสารมวลชน ชั้นปีที่ 4 มช.

อยากจะบอกอะไรกับ ‘New Voters’ คนอื่นๆ  ?

กอล์ฟ : จริง ๆ แล้วที่ผ่านมามันคือบทเรียนสำคัญ และมันจะเป็นแบบเดียวกันอีกในการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าเรายังนอนหลับทับสิทธิ์ หรือทำบัตรเสียอีกเนี่ย มันก็จะได้รับผลไม่ต่างกันกับบทเรียนที่เราเคยได้มา เพียงแต่ว่าเราในฐานะของ New  voters เนี่ย เราควรจะเห็นและศึกษาบทเรียนทางประวัติศาสตร์ชุดนี้ แล้วมันไม่ใช่บทเรียนที่ไกล มันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เราคาดเดาได้ว่ามันจะเกิดอะไรต่อไปข้างหน้า

เอิร์ท : ผมอยากให้ New voters ทุกคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้ ออกไปใช้สิทธิ์กันเยอะ ๆ ตรวจสอบรายชื่อดี ๆ และตรวจสอบนโยบาย หมายเลขผู้สมัครให้ดี ชื่นชอบพรรคไหนก็กาพรรคนั้น อีกอย่างการเลือกตั้งครั้งนี้มันมีหลายเขต และมีหลายเบอร์ ดังนั้นเลือกตั้งเขตไหนก็ ตรวจสอบเขตนั้น เพื่อรักษาสิทธิ์ของตัวเอง

ฟอร์ด : ครั้งนี้มันเป็นการใช้สิทธิ์ ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่พระเขาประทานมา แต่มันเป็นสิ่งที่ควรจะมีอยู่แล้ว พอมีได้โอกาสได้สิทธิ์ตรงนี้ก็อยากให้ออกไปใช้สิทธิ์ ถึงแม้มันอาจจะสมหวังหรือผิดหวังแต่ว่าครั้งต่อไปเราต้องทำให้มันเป็นเรื่องปกติ ให้เป็นเรื่องที่ควรมีอยู่กับเราอยู่แล้วครับ

เปา : อยากให้มองผลระยะยาวมากกว่าระยะสั้น จริง ๆ แล้วพรรคการเมืองที่เราเลือกไปเนี่ย จะอยู่กับเราไปอีกไม่รู้กี่ปี ฝากนโยบายและดอกผลของพวกเขาไว้ และคาดว่าจะเจอกันในสนามเลือกตั้งอีกหลายรอบ ดังนั้น ถ้าจะเลือกจริง ๆ เราก็ลองย้อนทบทวนดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราตั้งแต่จำความได้ ถอดบทเรียนเหล่านี้ออกมา ให้กลายเป็นข้อมูลสำคัญที่จะไปเลือกอนาคตที่เราต้องการในคูหาเลือกตั้งครับ

สุดท้ายแล้วสิ่งที่อยากจะฝากบอกกับทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มของ “New Voters” แต่นั่นคือการรักษา ‘สิทธิ์’ เพราะหนึ่งเสียงเล็ก ๆ ของทุก ๆ คนล้วนมีค่า และเป็นสิ่งที่สามารถกำหนดอนาคตได้ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม ในวันเลือกตั้ง วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 นี้ อย่าลืมออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันนะครับ

ร่วมแสดงความคิดเห็น