เนื้องอกและมะเร็ง โรคเรื้อรังอันดับ 1 ในเชียงใหม่

จากหน่วยข้อมูลเวชระเบียน งานเวชระเบียนและสถิติ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2560 พบว่า มีผู้ป่วยในที่เป็นโรคเรื้อรังเข้ารับการรักษาโรคเนื้องอกและมะเร็งสูงเป็นอันดับ 1 จำนวน 22,025 ครั้ง

ซึ่งเนื้องอกและมะเร็งนั้นยังเป็นโรคเรื้อรังที่หากพบแต่เนิ่น ๆ เราจะสามารถทำการรักษาและหายได้ แต่หากพบในระยะที่รุนแรงนั้น โอกาสในการรักษาหายขาดก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของระยะนั้น ๆ

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาเล่าถึงเนื้องอกก่อมะเร็ง ที่ให้เป็นโรคเรื้อรังกันค่ะ

เนื้องอกคืออะไร ?

เนื้องอก คือ ก้อนของเนื้อเยื่อในร่างกายที่เติบโตขึ้นมาอย่างผิดปกติ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของดีเอ็นเอ หรือ สารพันธุกรรมที่อยู่ภายในเซลล์จำนวนหนึ่งภายในร่างกาย แล้วส่งผลทำให้เซลล์ส่วนนั้น มีการทำงานที่ผิดปกติทางด้านการเจริญเติบโตและด้านการแบ่งตัวของเซลล์ ทำให้เซลล์ส่วนนั้นอาจมีการเพิ่มจำนวนอย่างควบคุมไม่ได้ และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีจำนวนมากกว่าปกติอาจถึงขั้นลุกลามและแพร่กระจายไปทั่วทั้งร่างกายได้

เนื้องอก จัดเป็นโรคทางพันธุกรรมแบบที่ปกติไม่ถ่ายทอดสู่รุ่นลูกรุ่นได้ แต่อาจถ่ายทอดลักษณะที่เป็นปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดเนื้องอกได้ แต่การอธิบายโรคทางพันธุกรรมมักจะกล่าวถึงโรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่สามารถถ่ายทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้เป็นหลัก

ชนิดของเนื้องอก

เนื้องอกมี 2 ชนิดหลัก ๆ

  1. เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง

เนื้องอกชนิดนี้จะเกิดเป็นก้อนเนื้อเยื่อที่โตขึ้นมาอย่างผิดปกติ และมีอัตราการเติบโตที่ช้ากว่ามะเร็งมาก แต่ไม่แพร่กระจายไปอวัยวะอื่นได้รวดเร็วเท่ามะเร็ง ดังนั้น เนื้องอกชนิดนี้จึงมีความร้ายแรงน้อยกว่ามะเร็งและมีโอกาสรักษาหายได้มากกว่าการเป็นโรคมะเร็ง เช่น ไฝ หรือเนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณเยื่อหุ้มสมองและเยื่อหุ้มไขสันหลัง ที่เรียกว่า “เมนิงจิโอมา”

2. เนื้องอกชนิดร้ายแรง หรือ เนื้องอกร้าย หรือ มะเร็ง

เนื้องอกชนิดนี้จะเกิดเป็นก้อนเนื้อเยื่อที่โตขึ้นมาอย่างผิดปกติ มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วมาก และสามารถแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นได้รวดเร็ว จนทำให้อวัยวะนั้น ๆ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติจนเกิดการเสียชีวิตลงในที่สุด

เนื้องอกร้ายเกิดมะเร็ง

เซลล์เนื้องอกที่แบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว มีการเบียดแทรกและทำลายเซลล์ปกติที่อยู่ข้างเคียง อีกทั้งยังสามารถแทรกตัวทะลุเข้าไปในหลอดน้ำเหลืองและหลอดเลือดได้ และอาศัยการไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองพัดพาไปเจริญเติบโตเป็นก้อนที่อวัยวะอื่นได้ การแบ่งตัวแบบนี้ทำให้เกิดเนื้องอกร้าย หรือที่เรียกว่า มะเร็ง สามารถแบ่งได้ 5 กลุ่ม ตามชนิดของเซลล์ ดังนี้

  1. มะเร็งกลุ่ม Carcinoma ได้แก่ มะเร็งที่มาจากเซลล์เยื่อบุผิว เป็นชนิดที่พบมากที่สุด
  2. มะเร็งกลุ่ม Sarcoma ได้แก่ มะเร็งที่มาจากเซลล์ไขมัน กล้ามเนื้อ เส้นประสาท เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน กระดูกและกระดูกอ่อน
  3. มะเร็งกลุ่ม Lymphoma ได้แก่ มะเร็งที่มาจากเซลล์ของต่อมน้ำเหลืองและเนื้อเยื่อของระบบภูมิต้านทาน
  4. มะเร็งกลุ่ม Leukemia ได้แก่ มะเร็งของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่อยู่ในไขกระดูก
  5. มะเร็งกลุ่ม Melanoma ได้แก่ มะเร็งที่มาจากเซลล์ผลิตเม็ดเลือดสี ซึ่งพบตามผิวหนัง

มะเร็งกลุ่ม Melanoma

ปัจจัยที่ทำให้เกิดเนื้องอกร้าย หรือมะเร็ง

ปัจจัยภายใน ได้แก่

  1. ยีนที่ควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ผิดปกติ
  2. ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแต่ละคน
  3. เชื้อชาติ อายุ กรรมพันธุ์ และเพศ
  4. รอยโรคตั้งต้น เช่น ไฝดำ ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่

ปัจจัยภายนอก ได้แก่

  1. บุหรี่ เป็นสารก่อมะเร็งอันดับ 1 ของโลก
  2. สุรา เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งตับ
  3. เนื้อสัตว์ที่ปิ้งจนไหม้เกรียม ส่งเสริมให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้
  4. อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อราอะฟลาท็อกซิน เช่น ถั่วลิสง
  5. เชื้อโรคบางชนิด เช่น ไวรัส HPV ไวรัสเอดส์ พยาธิใบไม้ในตับ
  6. สารเคมีบางชนิด เช่น แร่ใยหิน สารหนู เบนซีน
  7. รังสีบางชนิด เช่น รังสียูวี สารกัมมันตภาพรังสี
  8. พฤติกรรมสุขภาพ เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ ทานอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ ไม่ทานผักผลไม้

อาการของเนื้องอก

ลักษณะอาการของผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในร่างกายแตกต่างกันไปตามชนิดของเนื้องอก และตำแหน่งที่มีเนื้องอกเกิดขึ้น ซึ่งผู้ป่วยอาจมีลักษณะอาการ เช่น

  • มีไข้ หรือหนาวสั่น
  • เมื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • ไม่อยากอาหาร
  • น้ำหนักตัวลดลง
  • มีเหงื่อออกตอนกลางคืน
  • เจ็บปวดตามบริเวณที่เกิดเนื้องอก

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายที่มีเนื้องอก อาจมีลักษณะอาการเฉพาะ ซึ่งขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดเนื้องอก เช่น

  • เนื้องอกในปอด ผู้ป่วยอาจมีอาการไอ หายใจไม่อิ่ม และเจ็บหน้าอก
  • เนื้องอกในลำไส้ใหญ่ ผู้ป่วยอาจมีน้ำหนักตัวลดลง ท้องร่วงหรือท้องผูก ป่วยด้วยภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และอาจถ่ายเป็นเลือด

ส่วนเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งนั้น ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด ๆ ปรากฏในระยะเริ่มแรก แต่อาจมีอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่รุนแรงขึ้น เมื่อเซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายเข้าสู่ระยะลุกลาม ซึ่งลักษณะอาการที่เกิดขึ้นมักแตกต่างกันไปตามประเภทและบริเวณที่เกิดมะเร็งด้วยเช่นกัน

การวินิจฉัยเนื้องอก

  1. การตรวจเลือดและความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
  2. การตรวจการทำงานของตับ
  3. การเอกซเรย์ช่องอก
  4. การสแกนอวัยวะและโครงสร้างภายใน
  5. การตรวจเนื้อเยื่อไขกระดูก
  6. การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ

การรักษาเนื้องอก

แพทย์จะพิจารณาวางแผนรักษาเนื้องอกโดยคำนึงถึงชนิดของเนื้องอกและตำแหน่งที่เกิดเนื้องอกเป็นหลัก สำหรับผู้ที่ถูกตรวจพบเนื้องอกที่เป็นเซลล์มะเร็ง แพทย์อาจวางแผนรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีร่วมกัน เพื่อกำจัดเซลล์เนื้องอกที่เกิดขึ้น และยับยั้งการแพร่กระจายลุกลามไปยังเซลล์เนื้อเยื่ออื่น ๆ ด้วย เช่น

  1. เคมีบำบัด หรือ คีโม เป็นการให้ยาเพื่อรักษาอาการป่วยที่เกิดขึ้นจากมะเร็ง และทำลายเซลล์มะเร็ง
  2. การให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง เป็นการให้ยารักษามะเร็งและกำจัดเซลล์มะเร็งอย่างเจาะจงบริเวณที่เกิดเนื้อร้ายขึ้น
  3. รังสีบำบัด เป็นการใช้เครื่องมือเพื่อยิงคลื่นพลังงานสูงผ่านร่างกายเข้าไปในบริเวณที่เป็นเนื้อร้าย เพื่อฆ่าทำลายกำจัดเซลล์มะเร็ง
  4. ภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการให้สารเคมีบางชนิดแก่ผู้ป่วย เพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานเพื่อต่อต้าน กำจัด ยับยั้ง หรือชะลอเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น
  5. การผ่าตัด แพทย์อาจต้องผ่าตัดนำอวัยวะส่วนที่มีการลุกลามของเซลล์มะเร็งออกไปจนหมดในผู้ป่วยบางราย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายลุกลามไปยังอวัยวะและเนื้อเยื่ออื่น ๆ ภายในร่างกาย

ภาวะแทรกซ้อนของเนื้องอกเซลล์มะเร็ง

อาการที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยมะเร็ง และผู้ที่กำลังเข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง เช่น

  1. เจ็บปวดตามร่างกาย
  2. เมื่อยล้า  อ่อนแรง
  3. หายใจลำบาก หรือ หายใจไม่อิ่ม
  4. คลื่นไส้ วิงเวียน
  5. ท้องผูก หรือ ท้องร่วง
  6. น้ำหนักลด
  7. ระดับสารเคมีในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือขาดสมดุล ทำให้อาจเกิดอาการ เช่น กระหายน้ำมากเกินไป ปัสสาวะบ่อย มีภาวะสับสนมึนงง
  8. เกิดปัญหาในสมองและระบบประสาท เนื่องจากเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายอาจไปกดเส้นประสาท จนนำไปสู่อาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทางระบบประสาทได้ เช่น ปวดหัว ร่างกายอ่อนแรงครึ่งซีก หรือมีอาการอื่น ๆ ที่คล้ายเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน
  9. ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อเซลล์มะเร็งผิดปกติ และอาจกลายเป็นทำลายเซลล์ที่มีสุขภาพดีได้ อาการรุนแรงที่อาจพบ ได้แก่ เดินลำบาก หรือมีภาวะชัก
  10. หลังจากรักษามะเร็งไปแล้ว ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่จะกลับมาเป็นมะเร็งอีก
  11. เซลล์มะเร็งอาจลุกลามและแพร่กระจายไปยังเซลล์เนื้อเยื่อและอวัยวะส่วนอื่น ๆ ทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเกิดความเสียหาย จนเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

การป้องกันการเกิดเนื้องอก

เนื้องอกธรรมดาและเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยสาเหตุ แต่โดยทั่วไป อาจสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้ด้วยการระมัดระวังในการใช้ชีวิต และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจก่อปัญหาต่อสุขภาพได้ เช่น

  1. ไม่สูบบุหรี่ เลิกสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีควันบุหรี่
  2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตามหลักโภชนาการที่เหมาะสม เช่น บริโภคผักผลไม้ให้มาก ลดอาหารที่มีไขมันสูง หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสำเร็จรูป ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือดื่มในปริมาณที่พอดี เป็นต้น
  3. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์
  4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดเป็นเวลานานจนเกินไป อยู่ในที่ร่ม สวมใส่เครื่องแต่งกายปกคลุมผิวหนัง ทาครีมกันแดด
  5. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง อย่างการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน มีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  6. เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น ไวรัสตับอักเสบ และไวรัส HPV
  7. ดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี ไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นระยะ

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ร่วมแสดงความคิดเห็น