กิ๋นดี กิ๋นลำ กิ๋นมัน ระวังหัวใจขาดเลือด บ่ฮู้ตั๋ว!!!

หัวใจ เป็นอวัยวะสำคัญมีหน้าที่ในการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หากหัวใจผิดปกติจะส่งผลต่อร่างกายของเราในระบบต่าง ๆ และการเจ็บป่วย

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” นำความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจขาดเลือดมาให้ท่านผู้อ่านได้ตระหนักถึงความสำคัญของหัวใจกันค่ะ

โรคหัวใจขาดเลือด

โรคหัวใจขาดเลือด คือ อาการที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่สมดุลระหว่างเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ อาจเกิดในภาวะที่ความดัน โลหิตต่ำมาก ๆ เช่น ในภาวะ Shock หรือเกิดในภาวะขาดอากาศ กับเลือดที่หัวใจต้องการใช้งาน  ซึ่งอาจเป็นผลจากกล้ามเนื้อหัวใจที่หนาตัวขึ้น หรือในภาวะที่หัวใจเต้นด้วยความเร็วมากกว่าปกติ เป็นผลให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนเกิดขึ้นได้ไม่เต็มที่ ความไม่สมดุลนี้ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดออกซิเจน รวมถึง สารอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็น และนอกจากนี้ การขับของเสียออกจากกล้ามเนื้อหัวใจยังเกิดขึ้นได้ไม่ดี อีกด้วย กว่า 90% ของผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดนี้ เป็นผลมาจากโรคของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจอุดตัน เนื่องจากไขมัน

ดังนั้น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจึงมักจะถูกเรียกว่า “โรคหลอดเลือดหัวใจ” ซึ่งการดำเนินโรค ของหลอดเลือดหัวใจนี้ใช้เวลานาน ดังนั้น โรคหัวใจขาดเลือดจึงเป็นผลในระยะท้าย ๆ ของโรคหลอดเลือดหัวใจ

สาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือด

  1. เกิดจากผนังหลอดเลือดแดงโคโรนารีแข็งและตีบแคบลง ซึ่งเกิดจากมีคราบไขมัน คราบไขมันนี้จะค่อย ๆ พอกที่ผนังด้านในของหลอดเลือดแดงโคโรนารี
  2. กรรมพันธุ์ อายุ 40 ปีขึ้นไป เชื้อชาติ
  3. สิ่งแวดล้อม
  4. เกิดจากการสูบบุหรี่
  5. โรคเบาหวาน ไขมันคอเลสเตอรอลสูง ความดันเลือดสูง
  6. อาหารที่อุดมด้วยไขมัน
  7. การไม่ออกกำลังกาย
  8. ภาวะอ้วน
  9. การติดเชื้อ Chlamydia pneumonia
  10. มีภาวะเครียด

อาการของโรคหัวใจขาดเลือด

  1. เจ็บบริเวณหัวใจ โดยมีความรู้สึกเจ็บเหมือนถูกบีบรัดบริเวณหน้าอก
  2. มีอาการเจ็บหนัก ๆ อาจรู้สึกเหมือนมีแก๊สจุกบริเวณยอดอก ตำแหน่งที่เจ็บจะอยู่ลึกใต้กระดูกค่อนไปข้างซ้าย มักจะร้าวไปตามไหล่ซ้ายและต้นแขน หรืออาจร้าวไปตามแขนซ้าย ถึงข้อศอก ข้อมือ นิ้วก้อย และนิ้วนาง รวมทั้งต้นคอ กราม
  3. ระยะเวลาปวดมักจะสั้น ๆ มีอาการอยู่ไม่เกิน 5 นาที ถ้ามีอาการภายหลังรับประทานอาหารมื้อหลักหรือโกรธจัด อาจมีอาการอยู่นานถึง 15-20 นาที ถ้าทำกิจกรรมต่อไปอาการเจ็บหน้าอกจะรุนแรงขึ้น
  4. จะหายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน เมื่อยล้า เหงื่อออก ซีด อ่อนเพลีย เป็นลม หรือมีความรู้สึกกลัวตาย

การรักษา

  1. รักษาโดยปรับพฤติกรรมสุขภาพเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร โดยรับประทานอาหารที่มีกากใย ลดอาหารไขมันชนิดอิ่มตัวและน้ำตาล
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  3. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  4. มีการควบคุมคอเลสเตอรอลโดยรวม และไตรกลีเซอไรด์ให้ต่ำกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  5. ควบคุม LDL คอเลสเตอรอลให้ต่ำกว่า 100-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ส่วน HDL ให้มาก ๆ ไว้ คือ สูงกว่า 35 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  6. ควบคุมความดันโลหิตไม่ให้เกิน 130/85 มม.ปรอท
  7. เลิกสูบบุหรี่ เพราะ นิโคตินจากบุหรี่ทำให้หลอดเลือดตีบลง หัวใจต้องออกแรงสูบฉีดมากขึ้น คาร์บอนนอนไซด์ที่อยู่ในควันบุหรี่จะออกฤทธิ์ลดระดับออกซิเจนในเลือด และทำอันตรายต่อผนังหลอดเลือด
  8. ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานต้องรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ซึ่งจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้สูงเกินไป
  9. พักผ่อนให้เพียงพอ
  10. อย่าดื่มกาแฟหรือแอลกอฮอล์มากเกินไป
  11. ทำสมาธิด้วยวิธีต่าง ๆ
  12. ใช้ยาลดระดับไขมัน ตามคำแนะนำของแพทย์

สรุป

โรคหัวใจขาดเลือด หากปล่อยไว้เรื้อรังอาจทำให้เสียชีวิตได้ เราควรจะสังเกตอาการของตัวเอง เพื่อที่จะเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที และควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ เพราะหัวใจพัง ไม่มีเปลี่ยนต้องซ่อมแซมด้วยตัวเรา

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ร่วมแสดงความคิดเห็น