“พื้นที่สีเขียว” ส่วนสำคัญในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่

ในยุคที่ตึกรามบ้านช่อง อาคารหรู และห้างสรรพสินค้าที่ทันสมัย กลายเป็นตัวสะท้อนความเจริญของเมือง อาคารที่สร้างขึ้นจากคอนกรีต ปลูกสลับเรียงรายกันจนสุดสายตาไปตามถนนเส้นต่าง ๆ รอบตัวเมืองเชียงใหม่ ประกอบกับเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ทำให้ธุรกิจโรงแรม Shopping malls หรือแม้แต่ร้านอาหาร ผุดขึ้นเยอะมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา จนแทบจะทำให้ทั้งเมืองกลายเป็นป่าคอนกรีต

แต่เรากลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวที่ทำให้นักท่องเที่ยวหรือผู้คนในเมืองเชียงใหม่เอง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นซึ่งเป็น “พื้นที่สาธารณะ” สถานที่ ที่เสมือน “ปอด” ของทุกคน ศูนย์กลางที่ทำให้ผู้คนในเมืองได้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาเล่าให้ทุกคนได้ฟังว่า ทำไมพื้นที่สาธารณะถึงมีความสำคัญเมืองเชียงใหม่ แล้วในเมืองใหญ่ ๆ เขาได้ให้ความสำคัญกับการมีพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สาธารณะกันขนาดไหน

แล้วพื้นที่สาธารณะเป็นแบบไหน ?

ตามที่เกริ่นไปข้างต้นแล้วว่า “พื้นที่สาธารณะ” นั่นหมายถึงเป็นสถานที่ ที่ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของ ทุกคนสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตรงนั้นได้อย่างอิสระ โดยเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของคนทั้งชุมชน แต่แท้ที่จริงแล้ว พื้นที่สาธารณะเป็นเหมือนตัวเชื่อมระหว่างคนและกิจกรรมเข้าด้วยกัน ทำให้คนในชุมชนได้ออกมาพบเจอ พักผ่อน กันมากว่า เช่น การออกมานั่งเล่น อ่านหนังสือ พบปะพูดคุย หรือแม้แต่ออกกำลังกาย

แล้วเมืองต้นแบบของโลกเขาให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะแบบไหนบ้าง ?

ต้นไม้ = การพัฒนาเมืองอย่างแท้จริง

“ผมเชื่อเสมอว่า เมืองที่เต็มไปด้วยป่าคอนกรีต จะทำลายจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ สิ่งที่เราต้องการคือ ธรรมชาติที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว เพื่อยกระดับจิตวิญญาณของเรา” ลี กวน ยู (อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์), 1995

อ้างอิงรูปภาพจาก : www.freefik.com

จากกรณีศึกษาของประเทศสิงคโปร์ ประเทศที่มีความหนาแน่นของพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลก มีสวนสาธารณะมากกว่า 350 แห่ง มีพื้นที่สีเขียวถึง 29.3% ของประเทศ โดย ลี กวน อู มองว่า เมืองที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียวและสภาพแวดล้อมที่สะอาด นอกจากจะเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนแล้ว ยังส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ ทำให้เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวและนักลงทุน

อ้างอิงรูปภาพจาก : www.freefik.com

ประเทศสิงคโปร์เป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ ที่แรกเริ่มเดิมทีไม่ได้มีต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติอะไรเลย แต่เขาสามารถปลูกต้นไม้จนกลายเป็น Garden City ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ซึ่งหากนำมาเปรียบเทียบกับเมืองเชียงใหม่แล้ว สิ่งที่เหมือนกันคือรายได้หลักเมืองจะมาจากนักท่องเที่ยวและนักลงทุน ซึ่ง ลี กวน อู ไม่ได้มองว่าเป็นเพียงแค่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีที่เอื้อต่อการเพิ่มศักยภาพมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเมือง

จากแนวคิดของ ลี กวน อู มองว่าต้องเริ่มมาจากผู้คนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี เมืองมีการจัดสรรพื้นที่ได้อย่างประสิทธิภาพ สภาพแวดล้อมน่าประทับใจกับชาวต่างชาติ สุดท้ายแล้วผลจากการพัฒนานี้จะนำมาซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล

อ้างอิงรูปภาพจาก : www.prachachat.net

แต่ทว่ากรุงเทพมาหานคร เมืองหลวงของบ้านเราเอง ยังมีสวนสาธาณะเพียง 37 แห่ง หรือมีพื้นที่สีเขียวเพียง 3% ของพื้นที่ทั้งหมด ประกอบกับทัศนคติของคนในสังคมต่อพื้นที่สีเขียว ถูกมองว่าหากนำพื้นที่ไปลงทุนทางเศรษฐกิจยังจะคุ้มกว่าการนำไปทำเป็นพื้นที่สีเขียว

อ้างอิงรูปภาพจาก : www.freefik.com

โดยประเทศสิงคโปร์ มีการทำระบบสาธาณูปโภครองรับก่อน แล้วค่อยนำคนเข้าไปอาศัย ต่างจากประเทศไทยที่มีคนเป็นตัวนำ แล้วจึงค่อยคิดแผนพัฒนาเมือง ซึ่งการพัฒนาพื้นที่สีเขียวต้องทำควบคู่ไปกับการปลูกฝังจิตสำนึกของผู้คนในเมือง เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่าง ประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน ในการพัฒนาพื้นที่สาธาณะในแถบชุมชนของตัวเอง

แล้วตอนนี้เมืองเชียงใหม่เป็นแบบไหน ?

เทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวลำดับต้น ๆ ของประเทศ ศูนย์กลางของความเจริญ ทั้งสถานที่ราชการ โลจิสติกส์ สถาบันการศึกษาขั้นสูง แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และโบราณสถานอีกหลายแห่ง กระจายตัวอยู่รอบเมืองเชียงใหม่ แน่นอนเลยว่ารายได้หลักของเมืองมาจากภาคการท่องเที่ยวและการลงทุน

ปัจจุบันเมืองเชียงใหม่มีประชากร 136,717 คน ความหนาแน่นประชากรในเมืองอยู่ที่ 3417.925 คนต่อตารางเมตร มีพื้นที่สีเขียวครอบคลุม 32.48 ตารางเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 78.91 และหากเปรียบเทียบอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อคนแล้วจะอยู่ที่ 0.00057 ตารางกิโลเมตรต่อคน ถือว่ามีจำนวนน้อยมาก หากเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์ ที่มีพื้นที่สีเขียวถึง 0.066 ตารางกิโลเมตรต่อคน

แล้วตอนนี้พื้นที่สาธารณะในเมืองเชียงใหม่มีที่ไหนบ้างหล่ะ ?

1.สวนหลวง ร.๙

2.สวนสาธารณะตลาดลำใย

3.สวนสาธารณะหนองบวกหาด

4.สวนสมโภชเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี

5.สวนสุขภาพสเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

6.สวนสาธารณะเจริญประเทศ

7.สวนสุขภาพบ้านเด่น

8.ประตูท่าแพ

9.ลานอนุสาวรีย์ สามกษัตริย์

10.สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่

พื้นที่สาธารณะในเมืองเชียงใหม่ขณะนี้ถือว่ามีจำนวนน้อยมาก หากเทียบกับขนาดของเมืองและประชากร ในขณะเดียวกัน ภาครัฐ ภาคเอกชน ต่างให้ความสนใจแต่การลงทุนทางเศรษฐกิจ ที่สามารถวัดค่าได้ด้วยเม็ดเงิน มากกว่าการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนในเมือง

หากพูดโดยสรุปแล้วการพัฒนาพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะในเมืองเชียงใหม่ เป็นเรื่องที่ทุกคน ทุกฝ่ายต้องลงมือทำร่วมกัน อาจจะใช่อยู่ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากทุกคนร่วมมือกันก็สามารถทำให้เป็นจริงได้ และกลายเป็นโจทย์ที่ทำให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่เอง ได้กลับไปคิดทบทวน เพื่อประโยชน์ที่จะได้ร่วมกันของเมืองเชียงใหม่

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

อ้างอิงข้อมูลจาก :https://www.emagtravel.com/archive/nongbuakhad-park.html, https://becommon.co/life/singapore-greenery/, http://www.painaidii.com/review/47498/nong-buak-hat-park-50200/lang/th/, https://www.slideshare.net/FURD_RSU/ss-55529656

ร่วมแสดงความคิดเห็น