วัดอุโมงค์! โบราณสถานที่อยู่คู่เมืองเชียงใหม่มากกว่า 700 ปี

วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพ วัดอุโมงค์เป็นวัดที่สำคัญอีกแห่งของเชียงใหม่ เป็นวัดที่ร่มรื่นและมีขนาดกว้างขวาง ลักษณะการออกแบบเป็นไปตามแบบพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ เดิมสร้างขึ้นในสมัยพญามังรายบริเวณ ป่าไผ่ 11 กอ ต่อมาในสมัยพญากือนา โปรดให้สร้างอุโมงค์ขึ้นในบริเวณวัด

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพามาเดินลอดอุโมงค์ใต้พระเจดีย์ สัมผัสศิลปะพุทธแบบลังกาวงศ์ที่ “วัดอุโมงค์”

ประวัติของวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม)

ในสมัยพระเจ้ามังรายมหาราช ทรงทำนุบำรุงพระศาสนาาเป็นการส่วนพระองค์ พระองค์ได้ทรงทราบว่า พระเจ้ารามคำแหงมหาราช พระสหายผู้ครองนครสุโขทัย ได้ส่งคนไปนิมนต์พระสงฆ์จากเมืองลังกา จึงประสงค์จะได้พระลังกามาเป็นหลักพระพุทธศาสนาในเมืองเชียงใหม่บ้าง และได้สร้างวัดฝ่ายอรัญวาสีเฉพาะพระลังกา เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการนำพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์มาประดิษฐานในลานนาไทยเป็นครั้งแรก โดยยึดเอาแบบอย่างการสร้างวัดของเมืองลังกาเป็นแบบฉบับ โดยแบ่งออกเป็นเขตพุทธาวาส และสังฆาวาส ทรงขนานนามว่า วัดเวฬุกัฏฐาราม (วัดไผ่ 11 กอ) ในที่สุดได้กลายเป็นวัดที่พระบรมวงศานุวงศ์และประชาชนศรัทธาเลื่อมใสเป็นอันมาก เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว และตั้งหลักได้มั่นคงในลานนาไทยเป็นครั้งแรกในสมัยของพระองค์

ต่อมาเมื่อพระเจ้ามังรายสวรรคต ศาสนาพุทธขาดการทำนุบำรุง เพราะมัวแต่ทำศึกสงครามกันเองในเชื้อพระวงศ์ในการแย่งชิงราชสมบัติ จนมาถึงสมัยสมัยพระเจ้ากือนาธรรมาธิราช ศาสนาพุทธก็ได้รับการฟื้นฟู ทรงมีความเลื่อมใสในพระมหาเถระจันทร์ พระเจ้ากือนาจึงสั่งให้คนบูรณะวัดเวฬุกัฏฐาราม เพื่ออาราธนาพระมหาเถระจันทร์จำพรรษาทีวัดแห่งนี้ และตั้งชื่อวัดนี้ว่า “วัดอุโมงค์เถรจันทร์” ตามชื่อของพระมหาเถระจันทร์ มีการซ่อมแซมเจดีย์โดยการพอกปูน สร้างอุโมงค์ไว้ทางทิศเหนือจากเจดีย์ ในอุโมงค์มีทางเดิน 4 ช่องซึ่งเชื่อมต่อกันได้ ลัทธิลังกาวงศ์ซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองมาครั้งหนึ่งสมัยพระเจ้ามังรายมหาราช และได้เสื่อมทรามไปเกือบ 70 ปีนั้น ก็ได้กลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราชนี้เอง

สถานที่และสิ่งสำคัญภายใน วัดอุโมงค์

1.พระเจดีย์ 700 ปี

เจดีย์วัดอุโมงค์ เชิงดอยสุเทพ เชียงใหม่ ตั้งอยู่ในบริเวณที่ต่อเนื่องกับอุโมงค์ทางทิศเหนือ ซึ่งอยู่ภายในวัดอุโมงค์เจดีย์วัดอุโมงค์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังระยะแรกของศิลปะล้านนาที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 19 ปรับปรุงมาจากเจดีย์ทรงระฆังแบบหนึ่งในศิลปะพุกาม ครั้นล่วงมาถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ต่อเนื่องกับต้นพุทธศตวรรษถัดมา เจดีย์ทรงนี้คลี่คลายไปโดยมีรูปทรงที่สูงโปร่ง และในช่วงเวลาของพุทธศตวรรษที่ 21 รูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังจึงมีการคลี่คลายปรับเปลี่ยนค่อนข้างรวดเร็ว เพราะได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ในศิลปะสุโขทัย อีกทั้งเป็นเจดีย์องค์สำคัญยุคต้นๆของพัฒนาการเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะล้านนา งานก่อสร้างเริ่มขึ้นในรัชกาลของพระเจ้ามังรายคงสร้างเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ต่อมาได้รับการบูรณะในรัชกาลของพระเมืองแก้ว มีการปั้นปูนประดับลวดลายที่ส่วนฐานใต้ทรงระฆังมีการปรับเปลี่ยนที่ทรงกรวยซึ่งเป็นส่วนบนของเจดีย์ โดยประดับรูปกลีบบัวทรงยาวประกอบกันเป็นบัวคว่ำและบัวหงาย (ปัทมบาท) ตามแบบอย่างของเจดีย์มอญพม่า ส่วนองค์เจดีย์ในปัจจุบัน ยังเหลือแบบแผนที่น่าจะเป็นเค้าเดิม คือระเบียบของฐานในผังกลม 3 ฐานซ้อนลดหลั่น เป็นชุดฐานรองรับทรงระฆังใหญ่ ต่อขึ้นไปคือบัลลังก์สี่เหลี่ยม ส่วนยอดที่ทรงกรวยประกอบด้วยส่วนสำคัญที่ทางภาคกลางเรียกว่า ปล้องไฉน และปลี ที่ท้องไม้ของบานกลมแต่ละฐานประดับด้วยแถวช่องสี่เหลี่ยมไว้โดยรอบงานประดับเช่นนี้รวมทั้งขนาดที่ใหญ่ของทรงระฆัง เกี่ยวข้องกับแบบแผนของเจดีย์แบบหนึ่งของพุกาม สร้างเมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่18 เช่นเจดีย์ในบริเวณวัดถิทสวดี (Thitsavadi Temple) ในหมู่บ้านปวาสอ (Pwasaw) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง

2.ช่องอุโมงค์

ชาวล้านนาสร้างอุโมงค์โดยการก่ออิฐถือปูน แล้วฉาบปูนปิดทับโครงสร้างอิฐอีกชั้นหนึ่ง แต่ปัจจุบันชั้นปูนฉาบนี้ได้หลุดกะเทาะเกือบหมดสิ้นแล้ว คงเหลือก็เพียงส่วนของเพดานโค้งภายในอุโมงค์ที่ปรากฏจิตรกรรมฝาผนังเท่านั้น ส่วนบริเวณด้านนอกเกือบทั้งหมดนั้นไม่ปรากฏชั้นของปูนฉาบแล้ว เหลือเพียงอิฐก่อผนัง และอิฐก่อโครงสร้างอุโมงค์เท่านั้น

ในปี พ.ศ. 2546 ในระหว่างราวปลายเดือนเมษายน-กันยายน ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์อุโมงค์ครั้งใหญ่ที่ดำเนินงานโดยการรับเหมาผ่านเอกชน ภายใต้การกำกับของกรมศิลปากร มีการซ่อมแซมโครงสร้างของอุโมงค์ให้แข็งแรงขึ้น โดยขุดเปิดหน้าดินที่อยู่เหนืออุโมงค์ทั้งหมดจนลึกถึงระดับเดียวกับพื้นอุโมงค์ จึงพบหลักฐานเพิ่มเติม คือโครงสร้างแต่ละอุโมงค์ก่อด้วยอิฐถือปูน แยกไปแต่ละช่อง โดยเริ่มก่ออิฐเรียงสลับกันจากผนังอุโมงค์ขึ้นมาทั้งสองด้านจนได้ความสูงระดับที่เป็นเพดานก่ออิฐให้โค้งเข้าหากัน โดยใช้ด้านสันของอิฐที่มีทรงสี่เหลี่ยมคางหมูหันด้านสันเข้าหากัน จึงเป็นซุ้มโค้งครึ่งวงกลม จำเป็นต้องก่ออิฐผนังหนามากเพื่อรองรับโครงสร้างของอุโมงค์ ส่วนเหนือสุดก็มีการก่ออิฐเหลื่อมเรียงสลับกันปิดอยู่ด้านบนอีกชั้นหนึ่ง และพบว่าพื้นที่ระหว่างอุโมงค์แต่ละช่องนั้นล้วนเป็นดินลูกรังสีน้ำตาลอมส้มจนถึงระดับพื้นดินทั้งสิ้น ไม่ปนเศษอิฐ ปูน หรือเศษเครื่องเคลือบดินเผาเลย และชั้นดินลูกรังนี้ปิดมิดคลุมเพดานทุกอุโมงค์ด้วย และชั้นบนสุดจะมีอิฐปูทับอีกหลายชั้น ดังนั้น ภายในอุโมงค์ล้วนเป็นดินลูกรังและปิดทับด้วยอิฐภายนอกทั้งสิ้น และไม่มีห้องลับใดๆซ่อนอยู่ในระหว่างอุโมงค์ตามที่สงสัยกันแต่แรกแต่อย่างใด และบ่งชี้ได้ว่าเป็นอุโมงค์ที่ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ แต่เกิดจากการก่อสร้างของมนุษย์ขึ้นมาอย่างจงใจ

ที่ตั้งของ วัดอุโมงค์

วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) เลขที่ 135 หมู่ 10 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200

การติดต่อ

  • สำนักงานสวนพุทธธรรม (ศูนย์เผยแผ่ธรรม) 053-328054
  • ศูนย์ปฏิบัติธรรม นานาชาติ (Meditation Center Wat Umong Suan Budhha Dhamma Chaingmai) พระมหาณรงค์ กนฺตสีโล (ผศ.ดร.) 085-107-6045
  • กุฏิเจ้าอาวาส 053-811100

วิธีการเดินทางไปยัง วัดอุโมงค์

  1. โดยรถยนต์ส่วนตัว
    สามารถเข้าถึงได้ 2 ทาง เส้นทางที่หนึ่ง คือ เข้าทางถนนสุเทพจากต้นซอยมาประมาณ 0.5 กม. หรือเส้นทางที่สอง คือ เข้าจากถนนเลียบคลองชลประทานประมาณ 0.1 กม.
  2. โดยรถสาธารณะ
    สามารถนั่งรถสองแถวสีแดงที่ให้บริการรอบเมืองค่าโดยสารแล้วแต่ระยะทาง

สรุป

ใครที่อยากสงบจิตสงบใจหลีก หนีจากเรื่องวุ่นวาย ในเมืองใหญ่หรือในชีวิตประจำวัน วัดอุโมงค์แห่งนี้ถือว่าเหมาะเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ก็ด้วยความเงียบสงบและร่มรื่นซึ่งแทบจะไม่เชื่อว่าจะมีสถานที่เช่น นี้ท่ามกลางเมืองเชียงใหม่

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ร่วมแสดงความคิดเห็น