“เชื้อชาติพันธุ์นายพราน” เล่าเรื่องสืบขานตำนานเผ่ามูเซอ

ในภาคเหนือเรานั้นมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่สูง อีกทั้งยังมีทิวเขามากมาย นั่นจึงทำให้มีชนเผ่าน้อยต่าง ๆ อาศัยอยู่มากมาย ซึ่งในวันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาเจาะลึกเรื่องราวของ “เผ่าลาหู่” หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นปากว่า “เผ่ามูเซอ” ให้ทุกท่านได้อ่านกัน

ความเป็นมาของชนเผ่า

แต่เดิมแล้ว “ชาวมูเซอ” ได้อาศัยอยู่ในประเทศจีน เมื่อถูกรุกรานจึงอพยพมาทางตอนใต้เข้าสู่ประเทศพม่า และทางเหนือของประเทศไทย โดยเข้ามาทางอำเภอแม่จัน, อำเภอเชียงแสน, อำเภอเชียงของ, อำเภอเวียงป่าเป้า, อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย อำเภอฝาง, อำเภออมก๋อย, จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีเพียงส่วนน้อยที่มาจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มูเซอที่รู้จักกันมาก ได้แก่ “มูเซอดำ” “มูเซอแดง” ซึ่งมีวัฒนธรรมประเพณีคล้ายคลึงกัน

ภาพครอบครัวของชาวมูเซอที่แสดงให้เห็นถึงการแต่งกายของชนเผ่า

“มูเซอ” เป็นภาษาพม่า แปลว่า “นายพราน” เนื่องจากมีความชำนาญในการล่าสัตว์โดยใช้หน้าไม้ ภาษาอังกฤษ เรียกว่า “ลาฮู” ในกลุ่มมูเซอดำ เรียกว่า “ลาฮูนา” มูเซอแดง เรียกว่า “ลาฮูยี”

ตำนานของเผ่า

ตามตำนานกล่าวว่า “งือชา” หรือ “ผีฟ้า” ได้สร้างมนุษย์ผู้ชายขึ้นมาก่อน ซึ่งมีรูปร่างคล้ายลิง แล้วสร้างมนุษย์ผู้หญิงซึ่งมีรูปร่างคล้ายนางเงือกขึ้นมาทีหลัง ต่อมาทั้งสองได้รักใคร่เป็นคู่สามีภรรยากัน เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมโลกคนทั้งสองจึงเข้าไปอาศัยอยู่ในน้ำเต้ายักษ์จน รอดชีวิตมาได้ และคลอดบุตรออกมามีจำนวนถึง 100 คน เป็นชาย 50 คน และหญิง 50คน เมื่อน้ำแห้งลงลูกน้ำเต้ายักษ์ได้ลอยไปติดอยู่บนยอดเขาหิมาลัย ผู้คน 100 คนพากันออกมาจากน้ำเต้ายักษ์ จับคู่และแยกย้ายกันไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่ต่าง ๆ เป็นต้นตระของมนุษย์ต่อมา

สำหรับพี่ชายและพี่สาวคนโต มูเซอเชื่อว่าเป็นต้นตระกูลของตนเพราะเป็นผู้ที่อยู่บนภูเขาสูงดูแลพ่อแม่ ที่ชรา ด้วยเหตุนี้ชาวมูเซอจึงรู้สึกผูกพันและชอบอาศัยอยู่บนเขาสูง

การแบ่งกลุ่มต่าง ๆ ของชาวมูเซอ

ชาวมูเซอ แบ่งย่อยได้เป็น 23 กลุ่ม เช่น “ชาวมูเซอดำ” “ชาวมูเซอแดง” “ชาวมูเซอดำเบเล” “ชาวมูเซอเหลืองบาเกียว” “ชาวมูเซอลาบา” “ชาวมูเซอเหลืองบ้านลาน” และ “ชาวมูเซอกุเลา” เป็นต้น ภาษาที่ใช้พูดคือภาษามูเซอที่แตกต่างไปในแต่ละเผ่าย่อย ชาวมูเซอเรียกตัวเองว่า “ล่าหู่” หมายถึง ชนเผ่าที่ได้กินเนื้อเสือปิ้ง ซึ่งเป็นการบอกถึงความกล้าหาญของชาวมูเซอที่ล่าเสือมากินเป็นอาหารได้ส่วนคำว่ามูเซอนั้น ในภาษาไทใหญ่ “มู” หมายถึงนิดหน่อย ส่วน “เซอ” หมายถึงสนุกสนาน โดยในประเทศไทยชาวมูเซอส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงราย, จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดแม่ฮ่องสอน, และจังหวัดตาก

ประเพณีกินวอ หรือ ประเพณีการขึ้นปีใหม่ของชาวลาหู่

ชาวมูเซอในปัจจุบัน

ปัจจุบันในประเทศไทย มีชนเผ่าลาหู่อาศัยโดยกระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ตามแนวชายแดนไทย – พม่ากว่า 800 หมู่บ้าน พื้นที่ที่มีชาวลาหู่อาศัยอยู่มากได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และลำปาง โดยเฉพาะตามพื้นที่ติดชายแดน ส่วนใหญ่แล้วชนเผ่าลาหู่ มักจะอาศัยปะปนกับชนเผ่าอื่น ๆ หรือคนไทย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม หรือเป็นหมู่บ้าน เผ่าลาหู่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ ลาหู่แดง ซึ่งมีการนับถือผี โดยโตโบหรือผู้นำทางศาสนา ส่วน “ลาหู่ดำ” หรือ “ลาหู่เหลือง” ก็มีการนับถือผีเช่นกัน นอกจากนี้เผ่าลาหู่ก็ยังมีการนับถือศาสนาคริสต์อีกด้วย

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : ngamtrong.blogspot.com, banmuangkar.wordpress.com, www.openbase.in.th, thaiculturebuu.wordpress.com
ภาพจาก : รวมพลคนฮักเจียงคำ, padungkait123.wordpress.com,

บทความที่เกี่ยวข้อง

“ชนเผ่ามราบรี” ผีเดินดินในถิ่นล้านนา

ร่วมแสดงความคิดเห็น