วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร! อดีตศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรล้านนา

วัดเจดีย์หลวงเป็นพระอารามหลวงแบบโบราณ มีการบูรณะมาหลายสมัย โดยเฉพาะพระเจดีย์ ที่ปัจจุบันมี ขนาด ความกว้างด้านละ 60 เมตร เป็นองค์พระเจดีย์ที่มีความสำคัญที่สุดองค์หนึ่งในเชียงใหม่ วัดเจดีย์หลวงสร้าง อยู่กลางใจ เมืองเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมถือว่าเป็นศูนย์กลางทางการปกครองของอาณาจักรล้านนา

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาไปสักการะ “พระเจดีย์หลวง” ที่มีขนาดความกว้างด้านละ 60 เมตร เป็นองค์พระเจดีย์ที่มีความสำคัญที่สุดองค์หนึ่งในเชียงใหม่

ประวัติของวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

จุลศักราช 289 (พ.ศ. 1874) พญาแสนภูโปรดให้สร้างเมืองเชียงแสน และต่อมาอีก 4 ปีทรงสร้างมหาวิหารขึ้นในท่ามกลางเมืองเชียงแสน คือวัดเจดีย์หลวงองค์ที่ 1 ซึ่งอยู่ในวัดพระเจ้าตนหลวง เมืองเชียงแสน สมัยพระเจ้าแสนเมืองมาซึ่งเป็นโอรสของพญากือนา ขณะที่มีพระชนมมายุ 39 ปี พระองค์โปรดให้สร้างพระเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จดีก็สวรรคต พระราชินีผู้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ ได้โปรดให้ทำยอดพระธาตุเจดีย์หลวงจนแล้วเสร็จ

ปี พ.ศ. 2055 พระเมืองแก้ว พร้อมด้วยชาวเมืองทั้งหลาย เอาเงินมาทำกำแพงล้อมพระธาตุเจดีย์หลวง 3 ชั้นได้เงิน 254 กิโลกรัม จากนั้นจึงได้เอาเงินมาแลกเป็นทองคำจำนวน 30 กิโลกรัม แล้วแผ่เป็นแผ่นทึบหุ้มองค์พระธาตุเจดีย์หลวง เมื่อรวมกับทองคำที่หุ้มองค์พระเจดีย์หลวงอยู่เดิม ได้น้ำหนักทองคำถึง 2,382.517 กิโลกรัม

ประมาณ พ.ศ. 2088 สมัยพระนางจิรประภามหาเทวี ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเชียงใหม่ จึงทำให้ยอดพระเจดีย์หลวงหักพังทลายลงมา หลังจากนั้นพระเจดีย์หลวงจึงถูกทิ้งให้ร้างมานานกว่า 400 ปี กระทั่งปี พ.ศ. 2423 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ได้รื้อพระวิหารหลังเก่าและสร้างวิหารหลวงขึ้นใหม่ด้วยไม้ทั้งหลัง

ช่วงปี พ.ศ. 2471-2481 สมัยพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ถือได้ว่าเป็นทศวรรษแห่งการบูรณะครั้งสำคัญของวัดพระเจดีย์หลวง ได้มีการรื้อถอนสิ่งปรักหักพัง แผ้วถางป่าที่ขึ้นปกคุลมโบราณสถานต่างๆ ออก แล้วสร้างเสริมเสนาสนขึ้นใหม่ให้เป็นวัดสมบูรณ์แบบในเวลาต่อมา

พระเจดีย์หลวง ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่โดยกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2533 ใช้งบประมาณในการบูรณะถึง 35 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2535

แต่เดิมวัดเจดีย์หลวง ชื่อ “โชติการามวิหาร” แปลว่า พระอารามที่มีแต่ความรุ่งเรืองสว่างไสว เนื่องจากเป็นสถานที่บรรจุพระเกศาธาตุ และพระธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ในกาลครั้งหนึ่ง เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช ส่งสมณะทูต 8 รูป ภายใต้การนำพระโสณะ และ พระอุตตะระ เข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในเขตสุวรรณภูมิ รวมทั้งภูมิภาคนี้ด้วย ได้นำเอาพระบรมธาตุมาบรรจุไว้ในองค์เจดีย์องค์เล็กสูง 3 ศอก ที่สร้างขึ้น ณ บริเวณอันเป็นที่ตั้งของพระธาตุเจดีย์หลวงในปัจจุบัน ในเวลานั้นมีมีชายผู้หนึ่ง อายุ 120 ปี มีใจเลื่อมใส ได้แก้เอาผ้าห่มชุบน้ำมันจุดบูชา และได้ทำนายว่า ต่อไปในภายภาคหน้า ตรงนี้จะเป็นอารามใหญ่ชื่อโชติการาม พวกลัวะทั้งหลายเอาข้าวของบูชาพระธาตุพระพุทธเจ้า จึงก่อเจดีย์หลังหนึ่งสูง 3 ศอกไว้เป็นที่สักการบูชา

นอกจากนี้ยังมีความหมายอีกนัยหนึ่งของคำว่า “โชติการาม” คือ เวลาที่มีการจุดประทีปโคมไฟไปประดับบูชาองค์พระธาตุเจดีย์หลวง จะปรากฏจะปรากฏแสงสีสว่างไสว มองเห็นองค์พระเจดีย์คล้ายเชิงเทียนที่มีเปลวไฟลุกโชติช่วงสว่างไสว ดูแล้วมีความงดงามยิ่งนัก สามารถมองเห็นได้แต่ไกล

ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดเจดีย์หลวง” เนื่องจากในภาษาเหนือ หรือคำเมือง หลวงแปลว่า “ใหญ่” หมายถึง พระธาตุเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่

สถานที่และสิ่งสำคัญภายใน วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

1. วิหารหลวง

วิหารหลวงของวัดนี้เจ้าคุณอุบาลีคุณปรมาจารย์ (สิริจันทะเถระ) และเจ้าแก้วนวรัฐเป็นผู้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๗๑ หน้าประตูทางเข้าวิหาร มีบันไดนาคเลื้อยงดงามยิ่ง ใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหาร นาคคู่นี้เป็นฝีมือ เก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่เดิมได้ชื่อว่าเป็นนาคที่สวยที่สุดของ มี พระอัฎฐารสเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง หล่อด้วย ทองสำริด ปางห้ามญาติสูง 18 ศอก พระนางติโลกะจุดา ราชมารดาของพญาติโลกราช โปรดฯให้หล่อขึ้น เมื่อ พ.ศ. 1954 สมัยรัชกาลที่ 5 ใช้วิหารวัดเจดีย์หลวงเป็นที่ทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัจจา แทนการใช้ที่วิหารวัดเชียงมั่น

2. พระเจดีย์หลวง

เริ่มสร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 1934 สมัยพญาแสนเมืองมา สมัยพญาติโลกราช โปรดให้สร้างเสริมให้มีส่วนสูง 80 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้าง ด้านละ 56 เมตรปรับรูปทรงเป็น แบบโลหะปราสาทของลังการูปลักษณ์ทรงเจดีย์แบบพุกาม ดัดแปลงซุ้ม ตรงสี่มุมของมหาเจดีย์ มีรูปปั้นช้างค้ำรายล้อมรอบองค์เจดีย์หลวงนั้นมี 28 เชือก การสร้างรูปปั้น ช้างนั้น เป็นการส่งเสริมกำลังเมืองในทางด้านไสยศาสตร์เพื่อให้เมืองมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีพิธีการ สักการบูชาพญาช้างทั้ง 8 เชือก เพราะเชื่อว่า จะทำให้เกิดสวัสดิมงคล นำความสงบสุขมาสู่บ้านเมือง ศัตรูไม่กล้า มารุกรานย่ำยีเมืองได้ เพราะชื่อพญาช้างที่ตั้งขึ้นนั้น เป็นพลังอำนาจก่อเกิดเดชานุภาพ อิทธิฤทธิ์ ข่มขู่บดบัง ขวางกั้น กำจัด ปราบปรามอริราชศัตรูที่จะมารุกราน ให้แพ้ภัยแตกพ่ายหนีไปเอง ซึ่งแต่ละชื่อมีความหมายดังนี้

3. ช้างรอบพระธาตุเจดีย์หลวง

มหาเจดีย์หลวงที่พระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวีทรงก่อสร้างนั้น พระนางทรงให้ยกฉัตรยอดมหาเจดีย์ แล้วปิดด้วยทองคำ พร้อมทั้งเอาแก้ว 3 ลูก ใส่ยอดมหาเจดีย์นั้นไว้ ประดับด้วยโขงประตูทั้ง 4 ด้าน มี พระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งในโขงทั้ง 4 ด้าน มีรูป พญานาคปั้นเต็มตัว 8 ตัว ตัวละ 5 หัว อยู่ใน 2 ข้างบันได รูปปั้นราชสีห์ 4 ตัว ตั้งอยู่ตรงสี่มุมของมหาเจดีย์ มีรูปปั้นช้างค้ำรายล้อมรอบองค์เจดีย์หลวงนั้นมี 28 เชือก แต่ในประวัติศาสตร์มีเพียง 8 เชือกเท่านั้น ที่มีการตั้งชื่อให้เฉพาะ ซึ่งชื่อช้าง 8 เชือกที่ล้อมเจดีย์หลวง นับจากนับตามลำดับตั้งแต่ตัวที่อยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ทิศอีสาน) เวียนมาตามทิศตะวันออก มีดังนี้

การสร้างรูปปั้นช้างนั้น เป็นการส่งเสริมกำลังเมืองในทางด้านไสยศาสตร์เพื่อให้เมืองมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีพิธีการสักการบูชาพญาช้างทั้ง 8 เชือก เพราะเชื่อว่า จะทำให้เกิดสวัสดิมงคล นำความสงบสุขมาสู่บ้านเมือง ศัตรูไม่กล้ามารุกรานย่ำยีเมืองได้ เพราะชื่อพญาช้างที่ตั้งขึ้นนั้น เป็นพลังอำนาจก่อเกิดเดชานุภาพ อิทธิฤทธิ์ ข่มขู่บดบัง ขวางกั้น กำจัด ปราบปรามอริราชศัตรูที่จะมารุกราน ให้แพ้ภัยแตกพ่ายหนีไปเอง ซึ่งแต่ละชื่อมีความหมายดังนี้

  1. เมื่อศัตรูยกพลเสนามารุกราน ล่วงล้ำเข้ามาในเขตพระราชอาณาจักร จะเกิดอาเพศ ท้องฟ้ามืดมิดด้วยเมฆหมอกปกคลุม ธรรมชาติวิปริตแปรปรวน น่ากลังยิ่งนัก ทำให้ผู้รุกรานหวาดผวาภัยพิบัติ ตกใจกลัวแตกพ่ายหนีไป จึงได้ชื่อว่า “เมฆบังวัน”

  2. เมื่อผู้รุกรานยกทัพเข้ามาใกล้ แม้จะมีพลโยธาทหารกล้าเรือนแสน ก็จะเกิดอาการมึนเมาลืมหลง ไม่อาจครองสติยับยั้งอยู่ได้ ต้องระส่ำระส่าย แตกพ่ายหนีไป จึงได้ชื่อว่า “ข่มพลแสน”

  3. เมื่อข้าศึกศัตรูผู้รุกรานเข้ามา แม้จะมีกำลังพลมากมาย มีศาตรา มีด พร้า ด้ามคมเป็นแสนๆเล่ม ก็ไม่อาจเข้าใกล้ทำร้ายได้ มีแต่จะเกิดหวาดหวั่นขาดกลัวแตกหนีไป จึงได้ชื่อว่า “ดาบแสนด้าม”

  4. เมื่อข้าศึกศัตรูผู้รุกรานเข้ามารานรบ แม้จะมีกำลังพลกล้าหาญมากมาย มีศาสตราอันคมยาว หอกแหลนหลาวเป็นแสน ก็ไม่อาจเข้ามาราวีได้ จึงต้องแตกพ่ายหนีไป จึงได้ชื่อว่า “หอกแสนลำ”

  5. เมื่อข้าศึกศัตรูผู้รุกรานเข้ามา แม้จะมีกำลังพลจำนวนมาก มีอาวุธปืนเป็นแสนกระบอก ก็ไม่สามารถทำอันตรายได้ ต้องแตกพ่ายหนีไป จึงได้ชื่อว่า “ปืนแสนแหล้ง”

  6. เมื่อผู้รุกรานบุกรุกเข้ามา แม้จะมีกำลังพลมากมาย มีหน้าไม้คันธนูเป็นแสนๆ ไม่สามารถทำอันตรายได้ ต้องแตกพ่ายหนีไป จึงได้ชื่อว่า “หน้าไม้แสนเกี๋ยง”

  7. เมื่อข้าศึกอาจหาญล้ำแดนเข้ามา แม้ด้วยกำลังพลหัตถีนึก กองทัพช้างมีเป็นแสนเชือก ก็ไม่อาจหักหาญเข้ามาได้ มีแต่จะอลหม่านแตกตื่นแกหนีไปสิ้น จึงได้ชื่อว่า “แสนเขื่อนกั้น” (บางแห่งเป็น แสนเขื่อนก๊าน)

  8. เมื่อข้าศึกเข้ามาหมายย่ำยี ก็จะเกิดอาการร้อนเร่าเหมือนเพลิงเผาผลาญรอบด้าน เลยแตกพ่ายหนีไปด้วยความทุกข์ทรมาน จึงได้ชื่อว่า “ไฟแสนเต๋า”

ที่ตั้งของ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

103 ถนนพระปกเกล้า ตำบล ศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ 50200

วิธีการเดินทางไปยัง วัดอุโมงค์

  1. โดยรถยนต์ส่วนตัว
    วัดเจดีย์หลวงอยู่ในบริเวณคูเมืองเชียงใหม ไม่่ไกลจากวัดพระสิงห์
  2. โดยรถสาธารณะ
    สามารถนั่งรถสองแถวสีแดงที่ให้บริการรอบเมืองค่าโดยสารแล้วแต่ระยะทาง

สรุป

พระเจดีย์หลวงสร้างขึ้นในรัชสมัยของพญาแสนเมืองมา เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พญากือนา พระราชบิดา แต่สร้างไม่เสร็จ ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวี พระมเหสีของพญาเมืองมา ก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จในรัชสมัยพญาสามฝั่งแกน เรียกกันว่า “กู่หลวง” พญาติโลกราช โปรดให้หมื่นด้ามพร้าคตเป็นนายช่างใหญ่ดำเนินการปฏิสังขรณ์รพระเจดีย์หลวง ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2021 ในรัชสมัยพระเจ้ายอดเชียงรายได้ปิดทองภายในซุ้มจรนัมของพระเจดีย์ หลวงทั้ง 4 ด้าน

ในรัชสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว เมื่อ พ.ศ. 2046 ได้โปรดให้สร้างหอพระแก้ว และอัญเชิญพระแก้วมรกตลงมาประดิษฐาน สร้างมหาวิหาร ส่วนการบูรณะพระเจดีย์หลวงได้ดำเนินการเพียงเล็กน้อย

ในที่สุดเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ. 2088 ในรัชสมัยพระนางเจ้ามหาเทวีจิรประภา ยอดพระเจดีย์หลวงก็พังทลายลงมา เหลือให้เห็นดังสภาพปัจจุบัน (ก่อนการบูรณะของกรมศิลปกร)

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ร่วมแสดงความคิดเห็น