วัดบุพพาราม! พระพุทธรูปไม้สักแห่งเมืองล้านนา อายุกว่า 400 ปี

วัดบุพพาราม หรือ วัดเม็ง มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัดอุปปา ตั้งอยู่เลขที่ 143 ถนนท่าแพ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาชม “วัดบุพพาราม” และไปกราบไหว้ พระพุทธรูปไม้สักขนาดหน้าตักกว้าง 1 วาเศษ ที่มีอายุประมาณ 400 ปี!

ประวัติของ วัดบุพพาราม

วัดบุพพารามสร้างขึ้นในสมัยพระญาเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 12 ราชวงศ์มังราย ( ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2039 – 2068 ) ในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ ได้กล่าวถึงการสร้างบุพพารามว่า พระเจ้าติลกปนัดดาธิราช ( ราชนัดดาของพระเจ้าติโลกราช คือพระญาเมืองแก้ว ) หลังจากที่ได้ราชาภิเษกแล้วในปีที่ 2 ทรงโปรดให้สร้างอารามขึ้นอารามหนึ่งในหมู่บ้านที่พระราชอัยกา ครั้งเป็นยุพราชและพระบิดาของพระองค์เคยประทับมาก่อนเมื่อวันอังคาร ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 5 ปีมะโรง จุลศักราช 858 โดยพระองค์ตั้งชื่ออารามนั้นว่า บุพพาราม แปลว่าอารามตะวันออก ทั้งนี้โดยถือเอานิมิตว่าได้ตั้งอยู่ทางทิศบูรพาแห่งนพีสีราชธานี ซึ่งเป็นตำแหน่ง “ มูลเมือง ” ตามคัมภีร์มหาทักษา

ต่อมาในปีที่ 3 ของการครองราชย์ ( ปีมะเมีย ) พระญาเมืองแก้วทรงโปรดให้สร้างปราสาทขึ้นองค์หนึ่ง ท่ามกลางมหาวิหารในอารามแห่งนั้น เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเงินพอย่างเข้าปีที่ 4 แห่งการครองราชย์ พระญาเมืองแก้วทรงฉลองพระไตรปิฎกฉบับลงทองขมุศิลปะแบบล้านนา พร้อมกับหอมณเฑียรธรรมซึ่งโปรดให้สร้างด้วยไม้สักทั้งหลังและประดับตกแต่งอย่างประณีตสวยงามเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกนอกจากนี้ยังมีการฉลองกุมารารามซึ่งพระนางสิริยสวดีราชเทวีพระราชชนนีของพระองค์ ได้สร้างไว้ที่พระราชมณเฑียรอันเป็นสถานที่ประสูติของพระญาเมืองแก้วในครั้งเดียวกันนั้นเอง

ในปีจุลศักราช 866 ( พ.ศ. 2047 ) ปีฉลู เดือน 8 วันพฤหัสบดี ขึ้น 11ค่ำ พระญาเมืองแก้วทรงรับสั่งให้ทำการหล่อมหาพุทธรูปไว้ ณ วัดบุพพาราม 1 องค์ ต่อมา ในปีขาลเดือน 5 วันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ มีการหล่อพระมหาพุทธรูปด้วยทองแดงล้วน น้ำหนัก 1 โกฏิ ซึ่งมีสนธิ 8 แห่ง หรือข้อต่อ 8 แห่ง ใช้เวลาสร้างทั้งสิ้น 5 ปี คือ สำเร็จในปี จ.ศ. 871 เดือน 5 ขึ้น 5 ค่ำ วันพุธ โดยมีการฉลองอย่างใหญ่โตและได้รับการประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ ปัจจุบันนี้ คือ พระประธานในวิหารของวัดบุพพาราม จากนั้น วัดบุพพารามได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๐

สำหรับอาณาเขตของวัดตามตำนานไม่ได้กล่าวไว้ว่ามีเนื้อที่เท่าใด จากการค้นคว้าข้อมูลของพระพุทธิญาณเจ้าอาวาสวัดบุพพารามในปัจจุบัน (พ.ศ. 2539 ) ประกอบกับคำให้สัมภาษณ์ของผู้เฒ่าผู้แก่ ได้ใจความว่าวัดอุปารามหรือบุพพารามมีเนื้อที่กว้างขวางมาก ทิศตะวันออกจดคลองแม่ข่าทิศตะวัดตกจดวัดมหาวัด อย่างไรก็ดี ปัจจุบันวัดบุพพารามหรือบุพพรามมีเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา ทิศเหนือติดกับถนนท่าแพ มีเนื้อที่ 2 เส้น 13 วา ทิศใต้ติดบ้านของเอกชน มีเนื้อที่ 2 เส้น 4 วา ทิศตะวันตกติดกับถนนท่าแพ ซอย 2 ร่มโพธิ์ มีเนื้อที่ 2 เส้น 19 วา

ความสำคัญของวัดบุพพาราม คือ เคยเป็นที่สถิตของพระมหาสังฆราชปุสสเทวะ และนอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกทั้งมีประเพณีสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุในวันเพ็ญเดือน 6 เหนือ ( เดือน 4 ภาคกลาง ) ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ประจำทุกปี

สถานที่และสิ่งสำคัญภายใน วัดบุพพาราม

1.หอมณเฑียรธรรม

เป็นมณฑปปราสาทจัตุรมุขทรงล้านนา 2 ชั้น สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2523 สำเร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2538 เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระราชทานนามว่า “ พระพุทธบุพพาภิมงคล ภปร. ” และพระพุทธนเรศร์สักชัยไพรีพินาศ แกะด้วยไม้สักทั้งองค์ สำหรับชั้นล่างจัดเป็นห้องสมุดศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนาเพื่อรวบรวมวัตถุโบราณของพื้นเมืองต่าง ๆ

2.พระวิหารหลังใหญ่

เป็นวิหารศิลปกรรมล้านนาซึ่งได้รับการประดับตกแต่งลวดลายปูนปั้นแบบพม่า เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหาปฏิมากร ศิลปกรรมล้านนาซึ่งหล่อด้วยทองแดงล้วนมีน้ำหนัก 1 โกฏิ และสนธิ ( ต่อ ) 8 แห่ง และมีพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนขนาบซ้ายขวาอีก 2 รูป โดยหล่อด้วยทองสำริดทั้งคู่ภายในวิหารมีภาพเขียนพุทธประวัติและพระมหาเวสสันดรชาดก ซี่งเขียนด้วยสีฝุ่น ประวัติของวิหารหลังใหญ่เท่าที่ทราบ คือ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์หรือเจ้าชีวิตอ้าว เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เป็นผู้บูรณะโดยเปลี่ยนเสาเดิม คือ ท่านได้รื้อหอเย็นในคุ้มหลวง แล้วนำเสาเหล่านั้นมาทำเป็นเสาพระวิหาร ต่อมาในสมัยของครูบาหลาน ( อินต๊ะ ) พร้อมด้วยญาติโยมได้ทำการบูรณะพระวิหารขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จากนั้น พระครูอุดมกิตติมงคลเจ้าอาวาสได้พยายามปรับปรุงเรื่อยมาไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนบานประตูใหญ่ – เล็กและแกะสลักให้สวยงามแบบศิลปะล้านนา

3.พระเจดีย์ ศิลปะล้านนา

เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามตำนานขององค์พระเจดีย์กล่าวว่า พระญาเมืองแก้วสร้างพระเจดีย์ขึ้นใน ปี จ.ศ. 872 ปีมะแม โดยมีความกว้างประมาณ 12 ศอก สูงประมาณ 30 ศอก ปิดด้วยทองทั้งองค์ ในครั้งนั้น คณะสงฆ์ และเหล่าศรัทธาต่างเปลื้องอาภรณ์เครื่องประดับเป็นเครื่องบูชาเพื่อเป็นบุญกุศลและเป็นการถวายทานแด่พระพุทธศาสนา การก่อสร้างใช้เวลารวม 3 เดือนจึงสำเร็จ โดยขณะที่การก่อสร้างดำเนินอยู่นั้นมีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นหลายประการ

อนึ่ง การบูรณะองค์พระเจดีย์โดยหลวงโยนวิจิตร(หม่อนตะก่า อุปโยคิน) คือ ท่านได้สละทรัพย์สินส่วนตัวเสริมสร้างองค์เจดีย์ทั้งองค์ในปี จ.ศ. 1260 (พ.ศ. 2441) โดยเปลี่ยนรูปทรงเจดีย์ใหม่ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ขยายฐานให้กว้าง 38 ศอก ความสูง 45 ศอก มีฉัตรขนาดเล็กจำนวน 4 ฉัตร รวมทั้งมีต้นดอกไม้เงิน-ดอกไม้ทอง อย่างละ 4 ต้น และมีฉัตรขนาดใหญ่ตรงยอดสูดขององค์เจดีย์ 1 ฉัตร พิธียกฉัตรมีขึ้นในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ปลายปี พ.ศ. 2441

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2499 พระพุทธิญาณ (เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน) ได้ย้ายมาจากวัดเชตวันและได้ทำการบูรณะองค์พระเจดีย์อีกครั้งหนึ่ง โดยเริ่มลงมือบูรณะในวันพฤหัสบดีแรม 9 ค่ำ เดือน 12 ปีฉลู จ.ศ. 1323 ตรงกับวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504 สำเร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 ตรงกับเดือน 5 ขึ้น 10 ค่ำ วันพฤหัสบดี รวมเวลาที่ทำการบูรณะ 4 เดือนกับอีก 6 วัน

เกร็ดความรู้ของ วัดบุพพาราม

วัดบุพพาราม ตั้งอยู่บนถนนท่าแพ ย่านเศรษฐกิจสำคัญของเมืองเชียงใหม่ และเป็นศูนย์กลางของนักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติ หลายคนเข้าใจผิดว่าวัดนี้ชื่อ “บุปผาราม” เพราะเป็นชื่อที่คุ้นเคย และเรียกง่ายกว่า ทั้งๆ ที่จริง ๆ แล้วชื่อดั่งกล่าวเป็นชื่อทางการของวัดสวนดอก “บุปผา” แปลว่า “ดอกไม้” นั่นเอง ส่วนคำว่า “บุพพาราม” แปลว่า “ทิศตะวันออก” เพราะว่าวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเมือง

ที่ตั้งของ วัดบุพพาราม

143 ถนน ท่าแพ ตำบล ช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ 50300

วิธีการเดินทางไปยัง วัดบุพพาราม

1. โดยรถยนต์ส่วนตัว

ขับรถมาตามถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ลำปาง-เชียงใหม่ ก่อนถึงตัวเมืองเชียงใหม่ ให้เลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกปอยหลวง แล้วขับตรงไปเรื่อยๆ จนข้ามสะพานนวรัฐ จากนั้นขับตรงมาอีกประมาณ 800 เมตร วัดบุพพารามตั้งอยู่ซ้ายมือ

2. โดยรถสาธารณะ
สามารถนั่งรถสองแถวสีแดงที่ให้บริการรอบเมืองค่าโดยสารแล้วแต่ระยะทาง

สรุป

ความโด่ดเด่นของวัด คือ วิหารหลังเล็กที่ยังรักษาแบบโบราณไว้ อีกทั้งยังมีพระพุทธไทยภาลประสิทธิโชค ประดิษฐ์ อยู่ด้านในและยังเป็นสถานที่ถ่ายภาพยนตร์จีนเรื่อง Lost in Thailand ทำให้คนจีนรู้จัก และมาเที่ยวเมืองเชียงใหม่มากขึ้น

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ร่วมแสดงความคิดเห็น