วัดอุปคุต! วัดผู้คุ้มครองรักษาภยันตรายแห่งเมืองล้านนา

พระอุปคุตมีความสำคัญต่อชาวเหนือเพียงใด วัดอุปคุตก็มีความสำคัญมากมายเพียงนั้น ซึ่งที่วัดนี้มีการจัดประเพณี ใส่บาตรพระอุปคุตเป็นประจำทุกปี ซึ่งชาวเหนือเชื่อว่าหากเดือนใดมีวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธหรือที่เรียกว่า “เป็งปุ๊ด” พระอุปคุตจะแปลงกายเป็นเณรมาบิณฑบาตรตอนเที่ยงคืน และใครก็ตามที่ได้ใส่บาตรพระอุปคุต จะได้บุญมาก ดังนั้นงานบุญประเพณีนี้จึงมีเอกลักษณ์อยู่ที่การใส่บาตรตอนเที่ยงคืนนั่นเอง

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาชมและพาไปกราบไหว้ “วัดอุปคุต” “พระบัวเข็ม” หรือ “พระอุปคุต” พระผู้ขจัดภยันตรายและก่อให้เกิดลาภผล ความมั่งมี

ประวัติของ วัดอุปคุต

เชื่อกันมาว่า พระอุปคุตมีอิทธิฤทธิ์ปราบท้าววสวัตตี มีเรื่องเล่ามาว่าประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 2 หลังพุทธปรินิพพาน ณ นครปาตลีบุตราชธานี (ปัจจุบันคือเมืองปัตนะ ภาคใต้ของประเทศอินเดีย) พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ครองราชสมบัติในขณะนั้น ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ฉลองสมโภชพระสถูปเจดีย์ทั้งหมดที่พระองค์สร้างอย่างยิ่งใหญ่ ตลอด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน แต่ถูกพญามารมาผจญ ท่านจึงนิมนต์พระอุปคุตไปปราบพญามารจนยอมแพ้ จากนั้นพระอุปคุตก็มีชื่อเสียงในทางปราบมาร ท่านมีอีกชื่อว่า “พระบัวเข็ม”

ภายในวิหารประดิษฐานพระอุปคุต ซึ่งเป็นพระประธาน มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสีน้ำมันเรื่องพระเวสสันดรชาดก ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตของชาวเหนือ วาดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2470 โดยพ่อบุญปั๋ง พงษ์ประดิษฐ์ ศิลปินล้านนา อาคารที่มีลักษณะแปลกตาอีกหลังหนึ่งคือหอเก็บพระพุทธรูปทรงลูกบาศก์ ยกพื้นสูงมีลายปูนปั้นประดับอยู่โดยรอบผนังด้านนอก ทวารบาลเป็นยักษ์ปูนปั้น บานประตูลงรักปิดทอง

ปัจจุบันยังมีความเชื่อในหมู่ชาวไทยวนว่า พระบัวเข็มหรือพระอุปคุตยังมีชีวิตอยู่ ในทุกวันขึ้น 15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธ ชาวไทยวนจะเรียกว่าเป็น “วันเป็งปุ๊ด” พระอุปคุตจะออกบิณฑบาตในร่างเณรน้อย และจะออกมาเวลาเที่ยงคืน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดประเพณีตักบาตรกลางคืนขึ้น

ประเพณีสำคัญภายในวัดอุปคุต

ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนในวัน “เป็งปุ๊ด” หรือ “เพ็ญวันพุธ” เป็นการตักบาตรยามเที่ยงคืนในคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธ โดยในแต่ละปีอาจจะมีเพียงครั้งเดียว มากกว่าหนึ่งครั้ง หรือไม่มีเลยก็เป็นได้ พบมากในจังหวัดทางภาคเหนือ โดยเฉพาะในเชียงใหม่ และเชียงราย เนื่องจากได้รับเอาอิทธิพลจากพม่ามาเมื่อครั้งอาณาจักรล้านนาตกเป็นเมือง ขึ้นของพม่า

ตามตำนานเชื่อว่าวันเป็งปุ๊ดเป็นวันที่ “พระอุปคุต” หรือ “พระบัวเข็ม” ผู้เปี่ยมด้วยพุทธานุภาพ และฤทธิ์เดชเกรียงไกร มีชื่อเสียงในการปราบพญามารและกำจัดสิ่งชั่วร้ายและเป็นพระเถระสำคัญในสมัย พระเจ้าอโศกมหาราชจะละบำเพ็ญฌานจากใต้ท้องสมุทร เพื่อมาโปรดสัตว์โลก โดยจะปลอมตัวเป็นเณรน้อยออกบิณฑบาตในยามเที่ยงคืน หากผู้ใดได้ทำบุญตักบาตรกับพระอุปคุตแล้วเชื่อว่าจะได้รับบุญมาก ร่ำรวย เป็นสิริมงคล และได้รับความคุ้มครองจากพระอุปคุต จึงทำให้ชาวล้านนาเตรียมจัดเตรียมอาหารและออกมาใส่บาตรกันในยามค่ำคืนเป็น จำนวนมาก

สำหรับปีนี้มีวันพุธที่ตรงกับวันพระจันทร์เต็มดวงถึง2 ครั้ง โดยในครั้งแรกผ่านไปแล้วในเดือนมกราคม และครั้งที่สองจะเกิดมีขึ้นในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ โดยพระสงฆ์และสามเณรจะเริ่มออกบิณฑบาตในคืนวันอังคารที่ 11 ตุลาคม หลังเที่ยงคืนช่วงรอยต่อกับเช้าวันพุธ ในครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมทำบุญในงานเป็งปุ๊ดมากเป็นพิเศษเนื่องจาก ตรงกับวันออกพรรษาซึ่งเป็นวันบุญใหญ่ของชาวพุทธ

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดอุปคุต อันมีตำนานเกี่ยวเนื่องกับพระอุปคุตและเป็นเพียงวัดหนึ่งเดียวในดินแดนล้าน นาที่สืบสานประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ดมาไม่ต่ำกว่า 250 ปี ก็จะมีการจัดงานใหญ่ขึ้นเช่นกัน โดยพระสงฆ์จะประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ในวิหารหลวงตั้งแต่เวลา 22:00 น. ก่อนขบวนพระสงฆ์และสามเณรจะออกบิณฑบาตหลังเวลาล่วงเข้าเที่ยงคืนวันเพ็ญ

ที่ตั้งของวัดอุปคุต

ถนนท่าแพ ด้านสะพานนวรัฐ ต.ช้างคลาน อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ 50100

วิธีการเดินทางไปยังวัดอุปคุต

1.โดยรถยนต์ส่วนตัว
ตั้งอยู่บนถนนท่าแพ ด้านสะพานนวรัฐ ลงจากสะพานสี่แยกมาประมาณ 10 เมตร จะพบวัดอยู่ทางด้านซ้ายมือ

2.โดยรถสาธารณะ
สามารถนั่งรถสองแถวสีแดงที่ให้บริการรอบเมืองค่าโดยสารแล้วแต่ระยะทาง

สรุป

สำหรับผู้สนใจกราบไหว้นมัสการพระอุปคุตและประเพณีตักบาตรกลางคืน หรือคืนเป็งปุ๊ด ซึ่งเป็นคืนวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธสามารถมาเที่ยวและชื่นชมได้

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ร่วมแสดงความคิดเห็น